ส่องไอเดียสตาร์ทอัพไทยเจ้าของธุรกิจ ‘นอนนอน’ พัฒนาระบบรีไซเคิลที่นอน

ส่องไอเดียสตาร์ทอัพไทยเจ้าของธุรกิจ ‘นอนนอน’ พัฒนาระบบรีไซเคิลที่นอน

 ส่องไอเดียสตาร์ทอัพไทย เจ้าของธุรกิจ ‘นอนนอน’ รายแรกของโลก บริการให้เช่าที่นอนใหม่ พร้อมระบบรีไซเคิล ดึงงานวิจัยสร้างธุรกิจสีเขียว ลดคาร์บอน พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลฟองน้ำ ส่วนประกอบที่นอน ที่มีสารเคมี รีไซเคิลยากที่สุด

 

 

‘ที่นอน’ เมื่อหมดสภาพการใช้งานแล้ว มักจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะที่ยากต่อการจัดการ เนื่องจากน้ำหนักที่มาก ขนาดที่ใหญ่ และมีปริมาณมหาศาลที่ถูกทิ้งในแต่ละปี 

ทั้งนี้สมาพันธ์ที่นอนแห่งชาติ (National Bed Federation) สหราชอาณาจักร ประมาณการว่าในช่วงปี 2559-2563 มีจำนวนที่นอนที่ถูกทิ้งในสหราชอาณาจักรโดยเฉลี่ยมากถึง 7 ล้านชิ้นต่อปี โดยประมาณการดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่ามีจำนวนที่นอนที่ถูกทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างน้อยหลายสิบล้านชิ้นต่อปี

 

 

ที่ผ่านมา ที่นอนยังเป็นสินค้าที่ไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล เนื่องจากผลของการรีไซเคิลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ และการจัดเก็บที่นอนกลับมาเพื่อรีไซเคิลนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นที่นอนที่ใช้แล้วส่วนใหญ่จึงถูกทิ้งในที่ฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งปล่อยสารเคมีอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่สตาร์ทอัพไทยได้ผุดธุรกิจชื่อ ‘นอนนอน’ (nornnorn) ขึ้นมา เพื่อหวังจะแก้ปัญหาดังกล่าว 

 

 

จุดเริ่มต้นจากธุรกิจให้เช่าที่นอน

สู่การรับกลับไปรีไซเคิล 

นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด เจ้าของธุรกิจนอนนอน กล่าวว่า นอนนอน คือธุรกิจให้เช่าที่นอน เพื่อมอบช่องทางในการเข้าถึงที่นอนใหม่คุณภาพสูงให้กับโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจให้บริการที่พักอื่นๆ ตลอดจนผู้ใช้ตามบ้าน ในราคาที่เข้าถึงง่ายเริ่มต้นเดือนละ 89 บาท โดยสำหรับผู้ใช้ตามบ้านสัญญาเช่าจะเริ่มต้นที่ 12 เดือน ลูกค้ายิ่งทำสัญญานานค่าเช่าต่อเดือนก็จะยิ่งถูกลง และถ้าต่อสัญญาฯ ค่าเช่าต่อเดือนก็จะลดลงไปอีก และช่วยรับที่นอนที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วกลับมาแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล ด้วยความมุ่งหวังที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาล ช่วยเหลือสังคม และมีความยั่งยืน บรรลุสู่เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนระบบการผลิตและระบบอุปโภคเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติสู่สังคมไร้คาร์บอน

 

 

“แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดไอเดียนี้ คือ ในช่วงที่ช่วยงานธุรกิจที่บ้าน ซึ่งก็เป็นธุรกิจที่นอน พบว่ามีออเดอร์จำนวนมากหลุดไป เนื่องจากลูกค้าไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะซื้อที่นอนคุณภาพสูง และมีลูกค้าหลายรายนำที่นอนเก่ามาขอให้ช่วยกำจัด เพราะไม่รู้จะเอาไปทิ้งที่ไหน ประกอบกับตอนนั้นเริ่มได้ยินเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงลองเสนอไอเดียธุรกิจใหม่นี้กับที่บ้าน โดยในเวลานั้น ทางครอบครัวมองว่าธุรกิจแบบใหม่นี้มีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นเรื่องใหม่มากๆ ประกอบกับยังไม่ได้มีเสียงเรียกร้องหรือความต้องการเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อมจากลูกค้า จึงคิดว่าธุรกิจนี้ยังไม่เหมาะที่จะเริ่มทำ แต่ผมเชื่อว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต”

 

 

พัฒนางานวิจัยสร้างเทคโนโลยีรีไซเคิล

เริ่มจากหาแนวทางรีไซเคิลฟองน้ำ ทำยากสุด 

นพพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระบวนการให้บริการเช่าที่นอนเริ่มเข้ารูปเข้ารอย สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญต่อไปของ นอนนอน จึงเป็นการสร้างเทคโนโลยีสำหรับการรีไซเคิลที่นอน ซึ่งด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการรีไซเคิลจะมีโอกาสขาดทุนสูง เนื่องจากต้นทุนของกระบวนการสูงกว่ามูลค่าของผลลัพธ์ที่ได้ แต่นอนนอนมองว่า หากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการขาดทุนให้น้อยลง จนกระบวนการอาจถึงจุดคุ้มทุนได้ในที่สุด ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยประเทศชาติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนได้ ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่า 

“นอนนอนเริ่มต้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลฟองน้ำ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในที่นอนที่รีไซเคิลยากที่สุด และในปัจจุบันมีเศษซากฟองน้ำที่เกิดจากที่นอนและเฟอร์นิเจอร์ที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วจำนวนมาก ฟองน้ำที่ตั้งใจที่จะรีไซเคิล ความจริงกระบวนการพื้นฐานทางเคมีนั้นมีอยู่แล้ว แต่ว่าใช้ความร้อนสูง ซึ่งหมายความว่าต้องใช้พลังงานสูง ต้นทุนจึงสูงตามไปด้วย เลยพยายามหาวิธีการที่จะช่วยลดพลังงานที่ต้องใช้ในกระบวนการเพื่อลดต้นทุน และเพื่อให้กระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฟองน้ำ ซึ่งผลิตมาจากน้ำมัน ถ้าเราจะผลิตฟองน้ำจากน้ำมันตลอด ก็ต้องไปขุดเจาะน้ำมันขึ้นมา แล้วนำน้ำมันดิบเข้าสู่กระบวนการต่างๆ จนได้สารเคมีที่ใช้ในการผลิตฟองน้ำ กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบนี้ใช้พลังงานเยอะมาก ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาย นำมาซึ่งปัญหาโลกเดือด แต่ถ้าเรานำฟองน้ำเก่าจากที่นอนกลับมารีไซเคิลให้เป็นสารเคมีที่ใช้ทำฟองน้ำใหม่ได้ ใช้ทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ แทนที่จะนำฟองน้ำไปทิ้ง ฝังกลบ หรือเผาทำลาย ก็จะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้มหาศาล”

 

 

ได้ทุนจากสหราชอาณาจักร และบพข. 

ต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลฟองน้ำ

ในปี 2564 นอนนอนได้รับทุนวิจัยจาก Royal Academy of Engineering สหราชอาณาจักร และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำหรับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลฟองน้ำดังกล่าว และนอกเหนือจากทุนวิจัยนี้แล้ว ในปีเดียวกันนอนนอนยังได้รับทุนจาก บพข. ในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย สำหรับโครงการประเมินศักยภาพของนอนนอนในการช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะตลอดวัฏจักรชีวิตของที่นอนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ภายใต้ชื่อโครงการการศึกษารูปแบบธุรกิจ ‘การบริการในรูปแบบสินค้า’ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA): กรณีศึกษาผลิตภัณฑ์ที่นอนที่ใช้ในธุรกิจโรงแรม อีกด้วย

ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นการทำ LCA ครั้งแรกของอุตสาหกรรมที่นอนในประเทศไทย และได้ถูกดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2564 ถึง เดือนมกราคม 2566 โดยทางนอนนอนได้เผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567  ที่ผ่านมา

 

โชว์ศักยภาพสตาร์ทอัพไทยรักษ์โลก

โดย LCA เป็นวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณที่พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การขุดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้เป็นวัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ การจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่การใช้งาน การใช้งานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทิ้งหรือกำจัดซากของผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน โดยในการศึกษาครั้งนี้ ได้จำแนกวัฏจักรชีวิตของที่นอนที่ใช้ในอุตสาหกรรมโรงแรมออกเป็น 5 สถานการณ์ด้วยกัน ภายใต้สมมติฐานการใช้งานที่นอนเป็นระยะเวลา 10 ปี

สถานการณ์ที่ 1: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

สถานการณ์ที่ 2: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจโรงแรม จำนวน 354 แห่ง และหน่วยงานจัดการขยะทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 50 แห่ง ใน 8 สำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย เมืองพัทยา จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น)

สถานการณ์ที่ 3: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกนำไปรีไซเคิลตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอน

สถานการณ์ที่ 4: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

สถานการณ์ที่ 5: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจฯ)

โดยที่นอนคุณภาพสูงที่ใช้เป็นหน่วยศึกษา (functional unit) คือ ที่นอน ยี่ห้อ สปริงเมทของธุรกิจนอนนอนเอง รุ่น Pocket Coil Heritage PT ขนาด 107 x 198 ซม. ส่วนที่นอนคุณภาพต่ำเป็นขนาดเดียวกัน แบบที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป

 

 

จากผลสำรวจฯ พบว่า หลังพ้นการใช้งานแล้ว ประมาณ 50% ของที่นอน (โดยน้ำหนัก) จะถูกโรงแรมส่งไปฝังกลบ 30% ถูกจำหน่าย บริจาค หรือส่งต่อเพื่อนำไปใช้งานซ้ำ 17% ถูกนำไปรีไซเคิล และ 3% ถูกนำไปเผา (เทียบกับการจัดการซากที่นอนตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอนที่อย่างน้อย 62% ของที่นอน (ลวดสปริง ฟองน้ำ ฯลฯ) จะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล ซึ่งเท่ากับเป็นการลดการนำที่นอนไปฝังกลบและเผาทำลาย)

จากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใน 5 สถานการณ์ดังกล่าวด้วยวิธีการ ReCiPe Midpoint และ ReCiPe Endpoint อันเป็นวิธี LCA ของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 17 ด้าน พบว่ามีผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่หนักที่สุด 3 ด้านในทั้ง 5 สถานการณ์ ได้แก่ ผลกระทบด้านภาวะโลกร้อน การก่อตัวของอนุภาคขนาดเล็ก (fine particulate matter formation) หรือมลภาวะทางอากาศ (PM2.5) และการก่อตัวของสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ (human non-carcinogenic toxicity)

และผลสำรวจผลกระทบทั้ง 3 ด้านใน 5 สถานการณ์ ยังพบอีกว่า รูปแบบธุรกิจของนอนนอน (สถานการณ์ที่ 3) สามารถช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างน้อย 31% การเกิดมลภาวะทางอากาศอย่างน้อย 28% และการเกิดสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์อย่างน้อย 24% (เปรียบเทียบสถานการณ์ที่ 2 และ 3)

 

ที่มาข้อมูล : จากเว็บไซต์นอนนอน และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)