สมาคมธนาคารไทย เสนอรัฐหามาตรการชะลอยึดรถกระบะคนผิดนัดชำระหนี้ หลังตัวเลขยึดรถพุ่งแตะ 3 แสนคันต่อปี จาก 1.8 แสนคันต่อปี หวังต่อลมหายใจสร้างงาน และหารายได้ เป็นกำลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เล็งเสนอมาตรการดึงหนี้นอกระบบกลับสู่ระบบแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งองคาพยพ ด้านส.อ.ท.ชี้ ผิดนัดชำระรถกระบะ คือดัชนีสะท้อนเศรษฐกิจฐานรากอยู่ในภาวะวิกฤต
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future” โดยมีเวทีสัมมนา” เศรษฐกิจไทย โอกาส และความท้าทายในปี 2568” วิทยากรมาจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยภาคเอกชนภายในงานเห็นตรงกันว่า หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนการเติบโตเศรษฐกิจไทย ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งออกมาตรการเร่งด่วน ช่วยกลุ่มคนฐานราก โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ จนถูกยึดรถกระบะ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ และสร้างอาชีพในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จึงต้องเร่งหามาตรการผ่อนปรนการยึดรถกระบะที่ผิดนัดชำระหนี้
โดยบริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น บริษัทประมูลรถรายใหญ่ย่านปทุมธานี เปิดเผยถึงอัตราหนี้เสียรถยนต์พุ่ง ตั้งแต่ ปี 2566 โดยทั่วประเทศมีรถถูกยึดกว่า 300,000 คัน สอดคล้องกับข้อมูลของเครดิตบูโรถึงอัตราหนี้เสียจากรถยนต์เพิ่มขึันเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 43% จากหนี้ครัวเรือนทั้งหมด จากปกติสถานการณ์การยึดรถเข้าลานประมูล เฉลี่ย 150,000-180,000 คันต่อปี ขึ้นมาอยู่ที่ 250,000-300,000 คันต่อปี เป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวเปราะบางหลังเผชิญวิกฤตโควิด-19
ส.อ.ท.เผยยอดปฏิเสธสินเชื่อ ยึดรถยนต์พุ่งต่อเนื่อง
ขณะที่สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงอัตราการปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ (the auto loan rejection rate) ของไทยจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปีก่อนคือที่ 30-50% ถือว่าอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อรถยนต์ยังกังวลเรื่องหนี้เสีย (NPL) ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดวะวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ทำให้เกิดรถยนต์จำนวนมากถูกยึด เพราะผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนชำระงวดได้ เนื่องมาจากเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจทำให้ไม่มีกำลังจ่าย จนส่งผลกระทบต่ออัตราหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
“ค่าครองชีพของคนไทยยังสูงพร้อมกับยังมีภาระหนี้ครัวเรือนมาก ทำให้หากไม่ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ก็จะทำให้จำนวนรถในปีนี้ถูกยึดเพิ่มขึ้นอีก และถ้าดูจากจำนวนรถที่เข้าสู่การประมูลมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 200,000-300,000 คัน จากปลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน จากปกติการยึดรถเข้าไปอยู่ในการประมูลเฉลี่ย 180,000 คันต่อปี สะท้อนให้เห็นว่ามีลูกหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้รถถูกยึดสูงขึ้น เนื่องจากลูกหนี้กำลังผ่อนไม่ไหวจริงๆ”
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การถูกยึดรถยนต์ส่วนใหญ่จะเป็นรถประเภทสันดาปภายใน (ICE) โดยเฉพาะกลุ่มกระบะที่เป็นรถทำมาหากินทั้งค้าขาย ส่งสินค้าการเกษตรต่างๆ ซึ่งกลายเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาหนี้เสียมากสุดในช่วงที่ผ่านมา เพราะผิดนัดชำระหนี้ ทำให้สถาบันการเงินจึงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ มีอัตราหนี้เสีย (NPL) จากรถยนต์ 12%
ชะลอยึดรถกระบะ ต่อลมหายใจคนเป็นหนี้ครัวเรือน
พยงค์ ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า ในปี 2568 ประเทศไทย จะเผชิญกับ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นสิ่งที่จะต้องจับมือกันช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง เศรษฐกิจฐานราก ทั้งกลุ่มคนทั่วไป และ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยการเข้าไปช่วยเหลือยืดอายุการผ่อนปรนหนี้ เช่น ในต่างจังหวัดพบปัญหาการถูกยึดรถกระบะ เพราะไม่มีกำลังผ่อนหนี้ จึงต้องมีมาตรการผ่อนปรนไม่ให้มีการยึดรถกระบะ เมื่อขาดชำระการผ่อนหนี้ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ ให้มีโอกาส ทำให้เกิดกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีกำลังในการสร้างโอกาสในการหารายได้
“รถกระบะถือเป็นตัวสะท้อนถึงดัชนีความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเศรษฐกิจฐานราก ที่ใช้ในครอบครัว และขนส่งสร้างรายได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องหามาตรการเข้ามาช่วยกลุ่มคนเปราะบางให้มีโอกาสทำเงินสร้างรายได้ เพื่อให้มีอนาคตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
เสนอมิติใหม่ แก้โครงสร้างหนี้ครัวเรือน
ดึงหนี้นอกระบบสู่ระบบลดต้นทุนการเงิน
พยงค์ ยังกล่าวต่อว่า ในปัจจุบันเริ่มเห็นโอกาสในการหามาตรการรแก้หนี้ครัวเรือนในเชิงโครงสร้างที่แตกต่างจากอดีตเพราะมีการพัฒนามาตรการให้จับต้องได้ ผ่านการใช้ฐานข้อมูลวิเคราะห์ เพื่อหาโอกาสในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความต้องการมีการช่วยกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง เปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนไปพร้อมกันกับโอกาสในการหารายได้ในอนาคต เพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยการพัฒนาทักษะ แรงงาน สำหรับกลุ่มคนตัวเล็ก ที่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางภายใน 5 ปีข้างหน้า
“ปรับโครงสร้างทางการเงินจะต้องปรับเปลี่ยนให้พัฒนาทรัพยากร ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม พร้อมกับการดึงเงินกู้นอกระบบให้กลับคืนสู่ระบบ ไม่ใช่ต้นทุนแฝงสูงมาก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการ SMEs บางกลุ่มมีหนี้นอกระบบเกิน 100% จึงต้องร่วมมือกันทั้งองคาพยพ ทั้งธนาคาร และไม่ใช่ธนาคาร สถาบันการเงิน”
ด้านส.อ.ท.เสนอมาตรการแก้หนี้ฐานรากเข้าครม.
ด้านเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กำลังซื้อของประเทศไทยหายไปอย่างชัดเจน เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในเดือนกันยายนที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี มีจำนวน 3.9 หมื่นคัน โดยเฉพาะรถกระบะ ที่ยอดขายลดลงถึง 40% ถือเป็นตัวชี้วัดดัชนีทางเศรษฐกิจฐานราก เพราะรถกระบะเป็นสิ่งที่ใช้ประจำทั้งเป็นอเนกประสงค์และการค้าขาย ในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก คนต่างจังหวัด
ดังนั้น จึงต้องแก้ไขปัญหาหนี้เชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ ที่กำลังอยู่ระหว่างยื่นเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เติบโตมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)
“ปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นสิ่งสำคัญทำให้กลุ่มคนฐานราก มีความเปราะบางและความอ่อนแอของกำลังซื้อ เป็นปัญหาใหญ่ ของประเทศในเวลานี้ที่กดทับทุกอย่าง หากเป็นบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัทแก้ไขหนี้ได้ แต่กลุ่มคนฐานราก ต้องการความช่วยเหลือผ่านมาตรการของรัฐบาล”