‘โอสถสภา’ เดินหน้าลุยแผนธุรกิจด้าน ESG สร้างความยั่งยืนธุรกิจสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ภายในปี 2593 พร้อมต่อยอดกลยุทธ์ ‘ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง’ จากพี่จอง-คัลแลน โปรโมต M-150 Sparkling สู่การดึงผู้นำเทรนด์อย่าง ‘น้องเนย Butterbear’ อินฟลูเอนเซอร์สุดฮอตแห่งยุค ขึ้นแท่นพรีเซนเตอร์ใหม่ของ ‘คาลพิส แลคโตะ’ และ ‘เบบี้มายด์’ หวังสร้างกระแสพลังบวกถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
การเปลี่ยนผ่านองค์กรเพื่อให้อยู่รอดในภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากหลากปัจจัยทั้งภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สงคราม ภาวะเศรษฐกิจโลก ฯลฯ ซึ่งยากจะคาดเดาจึงนับเป็นความท้าทายของทุก ๆ องค์กรในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนยาวกว่าร้อยปีอย่าง บมจ.โอสถสภา จากจุดเริ่มต้นจากร้านขายยา สู่ธุรกิจหมื่นล้านในปัจจุบัน
ภายใต้ชื่อ เต๊ก เฮง หยู ในปี พ.ศ.2434 ก่อตั้งโดยนายแป๊ะ แซ่ลิ้ม ต้นตระกูลโอสถานุเคราะห์ โดยสินค้าในยุคแรกจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ในรอบศตวรรษที่ผ่านมา โอสถสภายังคงเติบโตและมุ่งมั่นพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภค และบริษัทแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เตรียมพร้อมขยายธุรกิจในระดับนานาชาติ มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ปัจจุบันมีแบรนด์ภายใต้อาณาจักรโอสถสภามากมาย อาทิ M-150 , ฉลาม, โสมอินซัม, ลิโพ,เปปทีน,ซีวิท, ‘คาลพิส แลคโตะ, เบบี้มายด์, ทเวลฟ์พลัส, ทัมใจ,ยาธาตุน้ำแดง,โบตัน, ลูกอมโอเล่ ฯลฯ
วรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โอสถสภามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมและไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์ปรากฏการณ์ทางการตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมถึงศึกษาและติดตามเทรนด์ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้จักและเข้าใจความต้องการ ความชอบ รวมถึงกระแสความนิยมต่าง ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงการสร้างกลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน
ดึงน้องเนยเป็นพรีเซ็นเตอร์คนใหม่
สะท้อนภาพลักษณ์แบรนด์สดใส
ล่าสุด โอสถสภาใช้กลยุทธ์พันธมิตรผู้นำเทรนด์ (Trendsetter Alliance) ที่นำ ‘น้องเนย’ ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เต็มไปด้วยพลังบวกและความสดใสมาร่วมงาน เพื่อส่งเสริมการรับรู้แบรนด์ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้อย่างตรงจุด
กลยุทธ์ด้านการตลาดด้วยการนำ ‘น้องเนย’ มาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์ใหม่ ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่สดใสและมีความทันสมัย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ การเลือกน้องเนยมาเป็นตัวแทนของแบรนด์ช่วยเสริมความเข้าใจของผู้บริโภคถึงความมุ่งมั่นของโอสถสภาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อม
‘น้องเนย’ ไม่เพียงแค่เป็นตัวแทนของความสุขและความสนุกสนาน แต่ยังถ่ายทอดความน่ารักสดใสที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกเพศทุกวัย จึงสร้าง Brand Collaboration เพื่อให้น้องเนยได้สื่อสารถึงความสดชื่นผ่านเครื่องดื่ม ‘คาลพิส แลคโตะ’ เครื่องดื่มผสมนมเปรี้ยวสุดฮิต และความอ่อนโยนของผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ‘เบบี้มายด์’ ที่ได้รับความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน
กลยุทธ์ไอดอลมาร์เก็ตติ้ง
ที่ผ่านมา โอสถสภาได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากกลยุทธ์ ‘ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง’ โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ M-150 Sparkling หรือ MISO ซ่า ที่ได้ ‘พี่จอง-คัลแลน’ ยูทูบเบอร์ชื่อดังมาร่วมโปรโมต ซึ่งช่วยเพิ่มการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามโอสถสภามั่นใจว่าการนำ ‘น้องเนย’ Butterbear มาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์จะสามารถสร้างความสุขและพลังบวกในช่วงปลายปีนี้ได้อย่างแน่นอน ‘วรรณิภา’ กล่าว
เดินหน้าเคลื่อนความยั่งยืน ภายใต้กรอบ ESG
สำหรับแผนขับเคลื่อนธุรกิจที่ยั่งยืน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า โอสถสภาดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ ‘ความเสี่ยงและโอกาส’ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตด้านผลกำไรในระยะยาวและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้บริโภคผ่านการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ความยั่งยืนจึงไม่ได้เป็นเพียงส่วนสำคัญในการดำเนินงานเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบริษัทฯ
กลยุทธ์องค์กรด้านความยั่งยืน เป็นไปเพื่อมุ่งเน้นไปที่การ ‘วางรากฐานที่มั่นคง’ พร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต รวมถึงการพัฒนาธุรกิจให้ยืดหยุ่นและสามารถเติบโตได้แม้ในสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ผันผวน
โดยโอสถสภาได้ผนวกกลยุทธ์เสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เข้ากับการบริหารจัดการธุรกิจ มาตั้งแต่ปี 2562 วางเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของบริษัทฯ เพื่อเป็นบริษัทที่เติบโตและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของประเด็นด้าน ‘สิ่งแวดล้อม’ โอสถสภามีแผนพัฒนาการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2573 พร้อมตั้งเป้าลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลง 40% ภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จเกือบ 30% แล้ว โดยดำเนินโครงการ ‘จากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว’ (Bottle to Bottle) เก็บขวดแก้วรีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำให้ได้ไม่น้อยกว่า 230,000 ตันต่อปี และยังมีแผนก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาว
พัฒนาสินค้าส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภค
วรรณิภา กล่าวต่ออีกว่า ‘ด้านสังคม’ โอสถสภามุ่งส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภค โดยพัฒนาสินค้าที่มีปริมาณน้ำตาลลดลง 6% ในกลุ่มเครื่องดื่ม ขณะที่กลุ่มสินค้าสุขภาพและลูกอมก็ปรับสูตรตามความต้องการที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เช่น ‘ซี-วิท’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงค์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีวิตามินซีสูงถึง 1,000 มิลลิกรัม และผลิตภัณฑ์เอ็ม-150 สปาร์คกิ้ง ที่ไม่มีน้ำตาลและใช้คาเฟอีนธรรมชาติ ตอบโจทย์ความสดชื่นพร้อมคุณประโยชน์ครบถ้วน นอกจากนี้ บริษัทยังสนับสนุนผู้ผลิตท้องถิ่นรายย่อยในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนอีกด้วย
สนับสนุนซัพพลายเออร์ เดินหน้าธุรกิจทิศทางเดียวกัน
ส่วนด้าน ‘ธรรมาภิบาล’ โอสถสภามุ่งเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อเติบโตร่วมกับคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเกษตร คู่ค้า ซัพพลายเออร์ต่างๆ ที่ไม่เพียงเลือกใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Sourcing แต่ยังรวมถึงการช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตให้คู่ค้าท้องถิ่นที่เป็นเกษตรกร ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนคู่ค้ารายย่อยที่จัดหาวัตถุดิบเศษแก้วเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบสมุนไพรขิง ไร่อ้อย ซึ่งปัจจุบันได้มีการส่งเสริม สนับสนุนแล้ว 458 ราย เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวน 450 ราย การช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรที่จัดหาวัตถุดิบสมุนไพรในท้องถิ่นไปแล้ว 291 ราย จากเป้าหมาย 500 ราย รวมถึงการประเมินด้าน ESG กับ คู่ค้าทั้ง 100% ต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ก้าวทันบริบทการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน
“จากจุดเริ่มต้นของการกำหนดกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เมื่อปี 2562 จนถึงวันนี้ โอสถสภามีความพร้อมและความมั่นใจในทุกก้าวสู่อนาคต เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutral ในปี 2593 โดยใช้กลยุทธ์ ‘เปลี่ยน ลด ชดเชย’ ได้แก่ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน การลดการใช้และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้มากขึ้น และการชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยคาร์บอนเครดิตหรือโครงการชดเชยอื่นๆ” วรรณิภา กล่าวทิ้งท้าย