รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มอบให้กับนักวิจัยด้านความเท่าเทียม

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มอบให้กับนักวิจัยด้านความเท่าเทียม

3 นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกา คว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2024 จากผลงานวิจัยที่สำรวจผลที่ตามมาจากการล่าอาณานิคม เพื่อทำความเข้าใจว่า เหตุใดความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกจึงยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

 

ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 20% แรกของโลก มีช่องว่างด้านความมั่งคั่งมากกว่าประเทศที่ยากจนที่สุด 20% แรกของโลก มากถึง 30 เท่า !  

สิ่งที่พบคือ ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดกลับเพิ่มมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศที่ยากจนที่สุดไม่สามารถเข้าถึงความมั่งคั่ง เพื่อขยับช่องว่างนี้ให้แคบลงได้เลย 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นำมาสู่การแสวงหาคำตอบทางเศรษฐศาสตร์ ผ่านผลงานวิจัยในหัวข้อ “สถาบันต่างๆ ก่อตัวขึ้นอย่างไร และส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองอย่างไร”  ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ไซมอน จอห์นสัน (Simon Johnson), เจมส์ โรบินสัน (James A. Robinson) ชาวอังกฤษ-อเมริกัน และดารอน อาเซโมกลู (Daron Acemoglu) ชาวตุรกี-อเมริกัน ที่คว้ารางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ มาครอง ในปี 2024 

ทั้งนี้ความเห็นของคณะกรรมการโนเบลระบุในแถลงการณ์ว่า ผลงานวิจัยดังกล่าว สะท้อนเกี่ยวกับ “การลดความแตกต่างของรายได้ระหว่างประเทศ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน 

 “พวกเขาได้ระบุถึงรากฐานทางประวัติศาสตร์ของสภาพแวดล้อมสถาบันที่อ่อนแอซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศรายได้ต่ำจำนวนมากในปัจจุบัน”  คณะกรรมการโนเบล ระบุไว้ในแถลงการณ์ 

 คณะกรรมการรางวัลโนเบล ยังกล่าวว่า การศึกษาวิจัยของนักวิชาการทั้งสามสะท้อนให้เห็นว่า เหตุใดสังคมที่มี “หลักนิติธรรมที่ย่ำแย่และสถาบันที่เอารัดเอาเปรียบประชากรจึงไม่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้”

ทั้งนี้ดารอน อาเซโมกลู และไซมอน จอห์นสัน เป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ขณะที่เจมส์ โรบินสัน เป็นผู้อำนวยการสถาบันเพียร์สันเพื่อการศึกษาและแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก (Pearson Institute for the Study and Resolution of Global Conflicts) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาใต้ ทะเลทรายซาฮาราและภูมิภาคละตินอเมริกา

ดารอน อะเซโมกลู และไซมอน จอห์นสัน ยังร่วมเขียนหนังสือยอดนิยมที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 เรื่อง “Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity, and Poverty” ซึ่งสำรวจถึงรากเหง้าของความไม่เท่าเทียม และอธิบายว่าเหตุใดบางประเทศจึงประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งและอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น คณะกรรมการรางวัลโนเบล ยังกล่าวว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลยังได้อธิบายถึง ระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ประเทศเจ้าของอาณานิคมนำมาใช้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาสัมพันธ์กันอย่างไรกับการสร้างความไม่เท่าเทียม 

จาค็อบ สเวนส์สัน (Jakob Svensson) ผู้อำนวยการและศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันเพื่อการศึกษาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Institute for International Economic Studies) มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม กล่าวว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ทั้งสามเป็นผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ ๆ ทั้งเชิงประจักษ์และเชิงทฤษฎี ซึ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก

 

 

ช่องว่างประเทศที่ยากจนและร่ำรวย 

เป็นคำถามเก่าที่ต้องเร่งหาคำตอบ 

สเวนส์สัน กล่าวอีกว่า คำถามที่ว่าเหตุใดช่องว่างระหว่างประเทศที่ยากจนและร่ำรวยจึงยังคงมีอยู่ นั้นไม่ใช่คำถามใหม่ แต่ยังคงเป็นคำถามที่จำเป็นต้องหาคำตอบอย่างเร่งด่วนที่สุดในบรรดาคำถามต่าง ๆ ของสาขาสังคมศาสตร์

ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เรียกอย่างเป็นทางการว่า “รางวัลธนาคารกลางสวีเดนในสาขาเศรษฐศาสตร์เพื่อรำลึกถึงอัลเฟรด โนเบล” (Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel) จะได้รับเงินรางวัล 11 ล้านโครนสวีเดน (ประมาณ 35.10 ล้านบาท) จากธนาคารกลางสวีเดน โดยเงินรางวัลจะถูกแบ่งให้ผู้ได้รับรางวัลเท่า ๆ กัน 

 

 

ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ยาวิเศษเสมอไป 

อาเซโมกลู หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเอเธนส์ว่า ข้อมูลที่รวบรวมโดยกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยแสดงให้เห็นว่า สถาบันสาธารณะและหลักนิติธรรมในหลายส่วนของโลกกำลังถูกทำให้อ่อนแอลง

“การเติบโตแบบอำนาจนิยมนั้น มักจะไม่มั่นคง และมักจะไม่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ” เขากล่าว แต่ก็มีบางประเทศที่เป็นไปได้ทางตรงข้าม โดยอ้างถึงจีนว่าเป็น “ประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ก็สามารถสร้างความมีกินมีใช้ให้กับประชาชนได้ บางทีประชาธิปไตยไม่ใช้ยาวิเศษเสมอไป”

ขณะที่จอห์นสัน อีกหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบล กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่าสถาบันที่ก่อตั้งมานานในสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้ความกังวล จากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ปฏิเสธที่จะยอมรับว่า เขาแพ้การเลือกตั้งในปี 2020 จนมาถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 จะเป็น “การทดสอบความเครียดที่ร้ายแรง” สำหรับประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

ด้าน โรบินสัน กล่าวว่า แนวคิดที่วิจัยออกมาในครั้งนี้มีความสำคัญในแง่ของการให้โอกาสหรือให้แนวทางแก่ผู้คน ในการแก้ปัญหาในสังคมเพื่อสร้างความเท่าเทียม”

เขากล่าวว่า แม้มนุษย์ทุกคนจะมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ “สร้างสังคมที่แตกต่างกันมากในส่วนต่าง ๆ ของโลก” เขากล่าวถึงการวิจัยของเขา

 

 

บทคัดย่อของงานวิจัย: เหตุใดประเทศจึงล้มเหลว- “ที่มาของอำนาจ ความเจริญรุ่งเรือง และความยากจน

 

อาจเป็นเพราะวัฒนธรรม สภาพอากาศ ภูมิศาสตร์ หรืออาจเป็นเพราะความไม่รู้ว่านโยบายที่ถูกต้องคืออะไรก็ได้

ปัจจัยเหล่านี้ไม่มีปัจจัยใดที่ชี้ชัดหรือกำหนดชะตากรรมได้ มิฉะนั้นแล้ว เราจะอธิบายได้อย่างไรว่า เหตุใดบอตสวานาจึงกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา เช่น ซิมบับเว คองโก และเซียร์ราลีโอน กลับจมอยู่กับความยากจนและความรุนแรง

 

 

สถาบันการเมืองและเศรษฐกิจ

เป็นรากฐานความสำเร็จหรือล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ดารอน อาเซโมกลู และเจมส์ โรบินสัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นรากฐานของความสำเร็จหรือไม่สำเร็จทางเศรษฐกิจ

โดยเกาหลี เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ คนเกาหลีเหนือเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดในโลก ในขณะที่พี่น้องของพวกเขาในเกาหลีใต้เป็นกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด 

เกาหลีใต้หล่อหลอมสังคมที่สร้างแรงจูงใจ ให้รางวัลกับนวัตกรรม และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในโอกาสทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลมีความรับผิดชอบและตอบสนองต่อประชาชนจำนวนมาก น่าเศร้าที่ประชาชนทางเหนือ (เกาหลีเหนือ) ต้องเผชิญกับความอดอยาก การกดขี่ทางการเมือง และสถาบันทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันมากหลายทศวรรษ ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ความแตกต่างระหว่างเกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ เกิดจากการเมืองที่สร้างวิถีสถาบันที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเหล่านี้

จากการวิจัยดั้งเดิมเป็นเวลา 15 ปี อาเซโมกลูและโรบินสันได้รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งจากจักรวรรดิโรมัน นครรัฐมายัน เวนิสในยุคกลาง สหภาพโซเวียต ละตินอเมริกา อังกฤษ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา เพื่อสร้างทฤษฎีใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับคำถามใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน อาทิ :

 

  • จีนได้สร้างเครื่องจักรการเติบโตแบบเผด็จการ มันจะเติบโตต่อไปด้วยความเร็วสูงเช่นนี้และครอบงำชาติตะวันตกหรือไม่

 

  • วันที่ดีที่สุดของอเมริกาผ่านพ้นไปแล้วหรือไม่ เรากำลังก้าวจากวงจรแห่งความดีงามที่ต่อต้านความพยายามของชนชั้นนำในการขยายอำนาจไปสู่วงจรอันชั่วร้ายที่เสริมสร้างและเสริมอำนาจให้กับชนกลุ่มน้อยหรือไม่ 

 

  • วิธีที่มีประสิทธิผลที่สุดในการช่วยให้ผู้คนนับพันล้านก้าวข้ามจากความยากจนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองคืออะไร? 

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเรียนรู้ บทเรียนที่ได้รับมาอย่างยากลำบากจากแนวคิดอันล้ำสมัยของอาเซโมกลู และโรบินสันเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง

 

ที่มา: https://www.euronews.com/business/2024/10/14/2024-nobel-prize-in-economics-awarded-to-three-recipients

https://www.reuters.com/world/acemoglu-johnson-robinson-win-2024-nobel-economics-prize-2024-10-14/

https://www.npr.org/2024/10/14/nx-s1-5151812/nobel-prize-economics-2024-acemoglu-robinson-johnson-wealth-poverty