NIA ร่วมม.เกษตรศาสตร์ ยกระดับนวัตกรรมผู้ประกอบการ พัฒนาเนื้อโคแข่งตลาดโลก

NIA ร่วมม.เกษตรศาสตร์ ยกระดับนวัตกรรมผู้ประกอบการ พัฒนาเนื้อโคแข่งตลาดโลก

NIA ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ เปิดตัวเนื้อโค  ‘Lam Takhong Black Cow’ ธุรกิจที่ 3 ภายใต้โครงการนิลมังกร 10X ดันแบรนด์เนื้อโลคัลสู่โกลบอล

 

 

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นคำตอบสำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ ทำให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน โดยเฉพาะใน ‘อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร’ ที่ไทยมีจุดแข็งในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรป้อนโลก หากมีการนำนวัตกรรมต่อยอด ย่อมผลักดันรายได้ให้เติบโตทวีคูณ สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งสู้กับตลาดโลก

โดยที่ผ่านมาเห็นถึงความพยายามของภาครัฐ และเอกชน ในการผลักดันในเรื่องดังกล่าว ล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวธุรกิจที่ 3 ในโครงการนิลมังกร 10X  ‘Lam Takhong Black Cow…เนื้อโคคุณภาพสูง’ เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาค ให้มียอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท (10 เท่า) ภายในระยะเวลา 3 ปี 

นอกจากนี้ ยังสร้างโอกาสการต่อยอดยกระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเป็น ‘ดินแดนแห่งโคเนื้อพรีเมียม’ คิด ผลิต ขาย และพัฒนาโคเนื้อที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต

 

 

 

เนื้อโคคุณภาพ ต้นแบบความพยายาม

เกษตรกรไทยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วย นวัตกรรม

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า เนื้อโคคุณภาพ ‘Lam Takhong Black Cow’ นับเป็นต้นแบบความพยายามของเกษตรกรไทยที่ต้องการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้จากสถาบันการศึกษาและการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว ยังสามารถสร้างเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ช่วยในการผลิตโคเนื้อคุณภาพอีกด้วย 

 

หนุน ‘NVK ฟาร์ม’ ผ่านกระบวนการ Growth 

พัฒนาผู้ประกอบการเติบโต 10 เท่า

โดยจากบทบาท NIA ในฐานะ ‘ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)’ ที่ดำเนินงานภายใต้แนวคิด 4 G (Groom – Grant – Growth – Global) ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน ‘NVK ฟาร์ม’ ผ่านกระบวนการ Growth เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้พร้อมเติบโตและขยายผลสู่การขายหรือระดมทุนด้วยกลไก Non-Financial จากโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทย นิลมังกร รุ่นที่ 2 ซึ่ง NIA เห็นถึงความพร้อมที่จะส่งเสริมและต่อยอดเข้าสู่กระบวนการ ‘นิลมังกร 10x’ เพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตเนื้อโคคุณภาพของไทยเติบโตได้ 10 เท่า รวมถึงการขยายผลสู่ระดับโกลบอล

 

 

ต่อยอดยกระดับ 8 วิสาหกิจชุมชน 

ภาคอีสานตอนล่าง ดินแดนโคเนื้อพรีเมี่ยม

นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อยกระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเป็น ‘ดินแดนแห่งโคเนื้อพรีเมียม’ ที่คิด ผลิต ขาย และพัฒนาโคเนื้อที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงแค่ NVK ฟาร์มเท่านั้น แต่ยังสามารถยกระดับคุณภาพของ 8 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 300 ฟาร์ม (ขนาดกลาง) โคเนื้อกว่า 2,000 ตัว โดยปัจจุบัน ‘ตลาดภูมิภาคเอเชีย’ เป็นตลาดหนึ่งที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปีจึงถือเป็นโอกาสของไทย รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องในอนาคต เช่น โรงเชือดเพื่อส่งออก วัคซีน การตรวจสอบย้อนกลับที่มาของโคเนื้อคุณภาพสูง การดูแลและรักษาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยตามข้อกำหนดของประเทศปลายทางต่อไป 

ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จจะสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นสำหรับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคมต่อไป

 

 

สร้างแบรนด์ คือ การสร้างความเชื่อมั่น 

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างแบรนด์สินค้านวัตกรรม โดยในโครงการนี้จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการเกี่ยวกับการสร้าง ความเชื่อมั่นในเนื้อโคคุณภาพ เพราะการสร้างแบรนด์คือการสร้างความเชื่อมั่น 

สำหรับ ‘Lam Takhong Black Cow’ นั้น เริ่มต้นจากการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะสร้างความเชื่อมั่นและพร้อมเป็นลูกค้าของเนื้อจากฟาร์ม NVK โดยค้นหาจุดที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อเนื้อโคคุณภาพไปจนถึงการซื้อซ้ำและการบอกต่อ ผ่านกระบวนการสร้างมาตรฐานของเนื้อโคคุณภาพให้เป็นที่เชื่อมั่นและยอมรับ เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีกลไกการตรวจสอบและทดสอบ เพื่อยืนยันมาตรฐานของเนื้อที่น่าเชื่อถือ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการเล่าเรื่องราวของแบรนด์ ‘Lam Takhong Black Cow’ โดยใช้กลยุทธ์ Brand Storytelling technique เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความน่าสนใจและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้เข้าไปอยู่ในใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งได้จัดเตรียมทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในทุกด้าน เพื่อสร้างแบรนด์ให้ ‘Lam Takhong Black Cow’ เป็นที่สุดของเนื้อไทย

 

ลูกผสม 3 สายพันธุ์ ดึงคาแรคเตอร์

คุณภาพเนื้อโดดเด่นแตกต่างกัน

ดร.วรรณภา น่าบูรณะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ผู้ดำเนินการวิจัย กล่าวว่า โคดำลำตะคอง เป็นลูกผสม 3 สายพันธุ์ โดยดึงคาแรคเตอร์และคุณภาพเนื้อที่โดดเด่นแตกต่างกันของแต่ละสายพันธุ์ ได้แก่  1.ลูกผสมพื้นเมือง ซึ่งมีจุดเด่นที่รสชาติ เข้มข้น และมีกลิ่นหอมของเนื้อสายพันธุ์นี้ ลักษเฉพาะของโคพันธุ์นี้จะมีความถึกทนซึ่งนิยมเลี้ยงในประเทศไทย 2.วากิว เป็นเนื้อที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดคือปริมาณไขมันแทรกในเนื้อคล้ายกับลายหินอ่อน และ 3.แองกัส ที่มีการเจริญเติบโตไว มีอัตราการแลกเนื้อสูงและทนต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ดี จนปัจจุบันสามารถทำให้เกิด ‘พ่อพันธุ์กึ่งสำเร็จรูป’ ประกอบกับองค์ความรู้ที่ได้จากอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้งเรื่องโภชนาการ สุขภาพ และสวัสดิภาพของสัตว์ จึงนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาสูตรอาหารสำเร็จเฉพาะสำหรับโคเนื้อคุณภาพ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อให้โคสร้างโปรตีนเร่งการเจริญเติบโตร่วมกับการพัฒนาระบบการเลี้ยงในพื้นที่เปิดเพื่อลดอาการเครียดของโค ทำให้ได้เนื้อโคที่มีคุณภาพดี ‘โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ชุ่มมัน’ และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

 

ใช้เวลาพัฒนากว่า 9 ปี 

กว่าจะเป็นเนื้อโคคุณภาพ

นายอรรควัฒน์ วิริยะขจรเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.วี.เค.ฟาร์ม โปรดักส์ จำกัด เปิดเผยว่า กว่าจะมาเป็น ‘Lam Takhong Black Cow’ ถูกพัฒนาอย่างเข้มข้นกว่า 9 ปี ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ด้วยนวัตกรรมจากรุ่นสู่รุ่นจนได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด ผ่านกระบวนการที่พิถีพิถันทั้งการเลี้ยงและการควบคุมอาหารด้วยสูตรลับเฉพาะ จึงทำให้รสชาติเข้มข้น เป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสหวานติดปลายลิ้นจากกระบวนการเลี้ยงโดยธัญพืชตั้งแต่แรกเกิดจนถึงแปรสภาพ และปลอดสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งได้รับมาตรฐานรับรองคุณภาพจากองค์กรที่ดูแลด้านมาตรฐานทั้งไทยและสากล ทั้งนี้ มองกลุ่มตลาดเป้าหมายทั้งในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด ร้านอาหาร คีออส และออนไลน์ 

นายรุ่งธรรม พุ่มสีนิล ในฐานะที่สุดของนักสร้างเรื่องราว และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ฟูมฟ์ฟัก จำกัด กล่าวว่า ‘Lam Takhong Black Cow’ เป็นเนื้อที่มีครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ‘สายพันธ์ุ’ ที่คัดสรรผสมผสานมาอย่างดี ‘การเลี้ยง’ ที่พิถีพิถัน อาหารมีทั้งสูตรมาตรฐาน สูตรพิเศษ  โดยได้วางกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งเน้นไปทั้ง B2C และ B2B ในทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น OFFLINE / ONLINE และ HORECA ซึ่งจะเริ่มปูพรมการสื่อสารและการขายที่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 

นายธิติฏฐ์ ทัศนาขจร (เชฟต้น) เจ้าของร้านอาหารรางวัล 1 ดาวมิชลิน ‘Le Du (ฤดู)’ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้วัตถุดิบทุกอย่างจากผืนแผ่นดินไทย เพื่อที่จะได้สนับสนุนพี่น้องเกษตรกรไทย ซึ่งไม่เพียงทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ต้องสามารถผลิตวัตถุดิบที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก 

“ผมเชื่อว่าโคดำลำตะคองเป็นอีกหนึ่งในสินค้าของไทยที่เราควรภูมิใจ เนื่องจากมีคุณภาพดี จุดเด่นคือรสชาติเนื้อที่เข้มข้นหอมหวานที่วากิวปกติจะไม่มี เนื้อสัมผัสที่ได้เคี้ยว สู้ฟัน ไม่ละลายมากเกินไป และไม่เลี่ยน ผมว่านี่คือจุดเด่นของโคดำไทย เราไม่ได้ทำให้เหมือนใคร แต่เราต้องขายจากสิ่งที่แตกต่าง”