คูโบต้า เจ้าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตร ชี้ทำเกษตรยุคใหม่อย่างไรให้ยั่งยืน กระทบโลกน้อยสุด ใช้เทคโนโลยี วางแผนตั้งแต่การปลูกคือหัวใจสำคัญ
ข้อมูลจาก World Population Data Sheet คาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 9.9 พันล้านคน สวนทางกับทรัพยกรธรรมชาติที่นับวันยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ สิ่งที่เคยหาได้ง่าย ๆ กลับหายากขึ้น จากราคาถูกก็กลายเป็นแพง ทั้งยังมีการคาดการณ์กันว่าหากทั่วโลกไม่ตระหนัก อาจนำมาสู่การแย่งชิงทรัพยากรและอาหาร ซึ่งทำให้ต้องผลิตอาหารมากขึ้น แต่ปัญหาคือจะผลิตได้อย่างไร เมื่อ ทรัพยากรธรรมชาติของเราลดลง ไม่เท่านั้นปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งทำให้ผลิตอาหารได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นทางออกของโลกใบนี้จึงต้องพัฒนานวัตกรรมการเกษตรที่จะช่วยให้สามารถผลิตอาหารให้คนบนโลกได้มากขึ้น
รศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่แหล่งน้ำของโลกยังคงมีปริมาณเท่าเดิม และปรากฏการณ์ย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศอาจสูงขึ้น อย่างเช่นในประเทศไทยตอนนี้จะเห็นว่ามีต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น เราเห็นคนหลากหลายชาติทั้งเอเชีย ตะวันตก ที่เข้ามาในรูปแบบนักกีฬา ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มากขึ้น ฉะนั้นการสร้างความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นหัวใจสำคัญ แต่การผลิตอาหารต่อไปนี้ จะไม่ใช่ผลิตแค่ในประเทศ แต่อาจต้องผลิตเพื่อป้อน
ในระดับภูมิภาคด้วย ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้น ในอีกหลายๆ ประเทศยังต้องเผชิญกับจำนวนประชากรที่ลดลง อย่างเกาหลีใต้อัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำมาก ขณะที่ไทย ญี่ปุ่นกลับมีผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นที่กล่าวมาล้วนเกี่ยวข้องกับระบบผลิตอาหาร การทำเกษตรยุคใหม่จะต้องปรับตัว
ภาคเกษตรไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
ด้าน วราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรไทยมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 0.2% และคาดว่าในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นถึง 3% จากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับสินค้าเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการวางแผน สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาพอากาศแปรปรวนและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรยังมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 46% ของพื้นที่ทั้งหมด อีกทั้งเป็นแหล่งจ้างงานกว่า 51% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ
46 ปี เกษตรกรไทยยังเอาชนะความท้าทายไม่ได้
วราภรณ์ กล่าวต่อว่า คูโบต้าอยู่ในประเทศไทยมากว่า 46 ปี เห็นอุปสรรคและความท้าทายมากมายในภาคเกษตรกรรม ตั้งแต่สภาพภูมิอากาศ ถ้าปีไหนน้ำท่วม หรือฝนแล้ง ปีไหนแมลงลง ก็จะเห็นว่าผลผลิตเกษตรกรก็จะไม่ได้ตามที่เขาคาดหวัง ส่งผลกระทบต่อรายได้ มีปัญหาหนี้สินต่าง ๆ ตามมา แต่เมื่อเราได้ลงพื้นที่ก็จะเห็นว่าการใช้เครื่องจักรกลอย่างเดียว อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมด เพราะต้องมีการวางแผนสำหรับการเพาะปลูก และบริหารจัดการต่าง ๆ ด้วย
“สมมติ เกษตรกรจะปลูกข้าว จะต้องดูตั้งแต่การเตรียมดิน ดูสภาพดิน วิเคราะห์ค่าปุ๋ย หรือว่าการปรับพื้นที่ให้มีความเหมาะสมในการบริหารจัดการเรื่องน้ำเข้า-น้ำออก ตลอดจนดูเรื่องการเก็บเกี่ยว ว่าการออกแบบแรงต้องมีความเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักร หรือแม้แต่การเก็บเกี่ยว หูเกี่ยวต่าง ๆ ต้องไม่ทำให้เสียพื้นที่ และสุดท้ายเก็บเกี่ยวแล้ว ต้องไม่เผา ก็ต้องมีเครื่องมาช่วยเก็บฟาง เอาไปเป็นอาหารสัตว์ หรือใช้เป็นไบโอแมส ก็เลยมองว่าองค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ มีความสำคัญ จะทำอย่างไรถึงขยายผลให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ”
เกษตรกรใช้โดรนทำเกษตรมากขึ้น
ทั้งนี้ เทคโนโลยีจะเป็นตัวเข้ามาแก้ไขปัญหาในทุก ๆ เรื่อง แต่ปัจจุบันเกษตรกรยังมีอุปสรรคและความท้าทายกับการใช้เทคโนโลยีเช่นกัน เพราะอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาประสบปัญหาหนี้ ผลผลิตไม่ได้ตามเกณฑ์ ราคาพืชผล ส่งออกสู้ไม่ได้ ก็เป็นจุดที่ว่า เราจะต้องดูด้วยว่าเทคโนโลยีจะต้องเข้ามาช่วยมากกว่านี้ เราก็เห็นเทรนด์การเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้มาเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตอนนี้เริ่มเห็นโดรนเข้ามาใช้ในการเกษตรจำนวนมาก อย่างคูโบต้า ขายโดรนมา 3 ปี เห็นยอดโดรนพุ่งขึ้น ๆ ทุกปี เพราะตอบโจทย์แรงงานในเรื่องความเร็ว และต้นทุน และสุขภาพของเกษตรกรที่จะไม่ต้องสัมผัสกับสารต่าง ๆ ด้วย โดยปัจจุบันบริษัทฯ ครองอันดับ1 สัดส่วน 37% ในตลาดโดรนเพื่อการเกษตร พร้อมวางเป้าหมายมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น10% จากเดิมสัดส่วน 4% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานโดรนในปีนี้
กว่าครึ่งของสัดส่วนเกษตรกรไทยอายุ 50 ปีขึ้นไป
ไม่เพียงเท่านั้น วราภรณ์ ยังกล่าวอีกว่า ช่องว่างระหว่างวัยของเกษตรกรก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายคือเรื่องของช่วงวัย กับการใช้เทคโนโนโลยีการเกษตร จากข้อมูลการลงทะเบียนในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพบว่ามีเกษตรกรคนรุ่นใหม่เพียงแค่ 2-3 หมื่นราย จากเกษตรกรทั่วประเทศที่มีกว่า 7-8 ล้านราย แต่สัดส่วนเกษตรกรที่อยู่ในข้อมูลของคูโบต้าเองก็ไม่มาก โดยตัวเลขเกษตรกรที่อายุมากกว่า 50 ปีมีสัดส่วนมากขึ้นทุกปี ตอนนี้กลุ่มคนที่อายุมากกว่า 50 ปีจะมีมากกว่า 50% แล้วกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 50 ปีลงมา เป็นกลุ่มที่เรียกว่าสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) กลุ่มคนที่เริ่มใช้เทคโนโลยีทำเกษตรมีประมาณ 45%
Agtech เปลี่ยนแปลงเกษตรกรรมทั่วโลก
สยามคูโบต้า เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโยบายของประเทศที่กำลังผลักดันให้ภาคการเกษตรไทยเดินหน้าไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) โดยคำนึงถึง Value Chain หรือห่วงโซ่คุณค่าของผลผลิตทางการเกษตรตลอดทั้งกระบวนการ ซึ่งเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรการเกษตร ตลอดจนองค์ความรู้และโซลูชันทางด้านการเกษตรอย่างครอบคลุมทุกมิติเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการวางแผนการทำเกษตรที่จะช่วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างความยั่งยืนทางอาชีพของเกษตรกร และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคการเกษตรของไทย โดยฉพาะกลุ่ม Smart Farmer ที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตร
โดยเฉพาะวันนี้ Agtech หรือ Agriculture Technology กลายเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรกรรมทั่วโลก ซึ่งคูโบต้าหนึ่งในแบรนด์ผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมเกษตร มุ่งส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรทั่วโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับในประเทศไทยเราพร้อมเคียงข้างเกษตรกรไทยก้าวข้ามความท้าทายและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาการทำเกษตรของตนเอง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างโอกาสใหม่ในภาคการเกษตรไทย พลิกคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
และแนวคิดนี้จึงนำมาสู่การสร้างคูโบต้าฟาร์มเพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตรของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาสำหรับ เกษตรกร หน่วยงานต่างๆ และผู้สนใจในการทำเกษตรทั้งไทยและต่างประเทศเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ๆ ได้สัมผัสพร้อมเปิดมุมมองใหม่ๆ ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2562 เป็นต้นมา มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมแล้วกว่า 70,000 คน
ทำงานกับสตาร์ทอัพหลายแห่ง
ลงทุนเทคโนโลยีที่น่าสนใจ
คูโบต้า ตอนนี้มีการศึกษาร่วมกับหลาย ๆ บริษัท อย่างที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็ได้มีการไปลงทุนในหลายบริษัท เช่น เรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ขึ้นมาเพื่อช่วยในการควบคุมฟาร์ม สามารถช่วยในการจัดการวางแผนฟาร์มได้ ศึกษากับสตาร์ทอัพในต่างประเทศในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนลง สมมติมี Bio-mass ที่เหลือจากการเกษตรแล้ว เราอาจจะไปพัฒนาต่อเป็นชาร์ลโคล ก็เป็นอีกตัวที่กำลังศึกษาอยู่ ถือว่ามีการศึกษาการลงทุนที่น่าสนใจ
ส่งต่อซัพพลายเชนอาหารทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม วราภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเรื่องอาหาร เราจะเห็นว่าในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก พื้นที่ดินต่าง ๆ มีคุณสมบัติที่จะเพาะปลูกพืชได้ต่างกัน เห็นได้ชัดจากช่วงโควิดที่ผ่านมา อย่างรัสเซีย เป็นผู้ผลิตแป้งสาลี ทำปุ๋ยเอง พอมีอะไรเกิดขึ้นมันกระทบไปทั่วโลกเลย อย่างของไทยเราเอง เราส่งออกข้าว ยาง อ้อย ถือเป็นผู้ส่งออกลำดับต้น ๆ ของโลก อินโดนีเซียส่งออกปาล์มน้ำมัน เป็นเบอร์ท็อปของโลก อย่างอินเดียที่ส่งออกข้าวเป็นลำดับหนึ่งของโลกเช่นกัน อย่างช่วงปีที่ผ่านมา เขามีนโยบายห้ามการส่งออกข้าว ทำให้กระทบราคาข้าวทั่วโลก
“เลยมองว่าเรื่องซัพพลายเชนอาหารทั่วโลกตอนนี้มันเชื่อมโยงกันหมด ถามว่าเรามีโอกาสอะไรบ้าง เรามีพื้นฐานพืชเกษตรส่งออกตามพื้นที่ต่าง ๆ ภาครัฐมีนโยบายการส่งเสริมพืชมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น เรามองว่าทุเรียนเราก็มูบค่ามากกว่าแสนล้าน หรือมังคุด มะม่วง สับปะรด ก็เป็นผลไม้ที่มาแรง อย่างสมุนไพรเราก็เก่ง ต้องดูทิศทางที่เราจะต้องเพิ่มเรื่องของเพิ่มมูลค่า (High value product) มากขึ้น ก็มองว่าถ้านโยบายภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมพืชมูลค่าสูงมากขึ้น ก็น่าจะส่งเสริมศักยภาพภาคเกษตรให้เติบโตได้มากกว่านี้ เพราะเรามอง GDP ภาคเกษตรอยู่ 8-9% ในขณะที่มีคนอยู่ในภาคเกษตรมากกว่า 30% เราจะปิดช่องวางตรงนี้อย่างไร ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะส่งเสริมพืชมูลค่าสูงตรงนี้มากขึ้น”