วงการ K POP เริ่มวิกฤต เมื่อประเด็นความขัดแย้งระหว่างศิลปินกับค่ายเพลง เกิดขึ้นต่อเนื่อง ศิลปินร้องขอความเป็นธรรม ยกเลิกสัญญาทาส ผ่านมาสิบกว่าปีสัญญาณความถดถอยชัดขึ้น ยิ่งภาพลบยิ่งสะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุน-ผู้บริโภค ฉุดหุ้นร่วงหนัก อนาคตเป็นอย่างไรต่อ? วัฒนธรรมทำงานหนักเพื่อความสำเร็จอาจใช้ไม่ได้ผล หากไม่มีจรรยาบรรณ การดูแลคนในองค์กร
อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเคป็อป ดูเหมือนจะอยู่ในขั้นวิกฤต เมื่อช่วงที่ผ่านมาเกิดประเด็นถกเถียงมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างศิลปินในสังกัดกับบริษัทค่ายเพลง แต่ที่กลายเป็นมหากาพย์ร้อนแรงของปี 2567 คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของศิลปินมาแรงอย่าง นิวจีนส์ (New Jeans) และ ไฮป์ (Hybe) ค่ายเพลงเคป็อปที่ใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Ador ต้นสังกัดของนิวจีนส์
จุดเริ่มต้นความขัดแย้งมาจากปัญหาภายในระหว่างซีอีโอ Ador และ Hybe ลุกลามมาสู่ประเด็นนิวจีนส์ถูกกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงาน จนสมาชิกของวง อย่าง “ฮันนิ” ได้ไปให้การเป็นพยานต่อรัฐสภาเกาหลีใต้เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเธอถูกคุกคามในบริษัท โดยบริษัทมีการปฏิบัติที่ไม่ดี ไม่เพียงแต่กับศิลปิน แต่ยังรวมถึงทีมงานของนิวจีนส์ด้วย ทั้งยังมีการกีดกันการทำงาน
มีการสื่อสารที่ผิดพลาดโดยเจตนา และการจัดการในหลายๆ ด้าน รวมถึงการปล่อยคลิปวิดิโอต่อสื่อ ที่ไม่ควรนำมาเผยแพร่
“นี่ไม่ใช่จรรยาบรรณในการทำงานที่เราเคารพ และเราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่ง ทำงานภายใต้บริษัทที่ไม่มีเจตนาจะปกป้องนิวจีนส์ ซึ่งมีแต่จะส่งผลเสียต่อเรา” ฮันนิ กล่าว
จนกระทั่งข่าวเริ่มลุกลามเมื่อมีการรายงานว่า พบเอกสารหลุด ที่ Hybe จ้างนักเขียนมืออาชีพเขียนบทความความเห็นชี้นำองค์กร แต่มีการเขียนเนื้อหาเชิงลบต่อศิลปินค่ายเพลงอื่น ๆ ส่งผลให้มูลค่าการตลาดของ Hybe ลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนศิลปินขอยกเลิกสัญญาออกจากบริษัท
เราไม่ใช่สิ่งของที่คุณจะใช้ได้ตามใจอยาก
จากเอกสารบทความดังกล่าว ทำให้ ซึงกวาน สมาชิกวง Seventeen ได้กล่าวถึงประเด็นร้อนในอุตสาหกรรมเคป็อปผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ไม่อยากเห็นใครทำร้ายกันอีกแล้ว ผมพยายามอดทนกับมันอย่างเงียบๆ และขอให้ทุกอย่างผ่านไป แต่ตอนนี้คงเงียบต่อไปไม่ได้ เพราะแฟนๆ เพื่อนร่วมวง และศิลปินร่วมวงการทุกคนต่างก็ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่ต้องได้รับความเจ็บปวด
การเป็นไอดอลคืออาชีพที่ผมเลือก อาจมีบ้างที่ต้องอดทนแต่สิ่งที่พบเจอวันนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ควรอดทนเพราะว่ามันกัดกินพวกเราอย่าดูถูกไอดอลกันเลยเราไม่ใช่สิ่งของที่คุณจะใช้ตามใจอยากเราทุกคนต่างพยายามกันมากเพื่อสร้างโมเมนต์ที่ดี โดยเขาหวังว่าข้อความเล็กๆ ของเขาจะสามารถปลอบโยนใครบางคนได้ พร้อมย้ำว่าอยากให้คนในวงการทุกคนช่วยทำงานและปฏิบัติตัวดีต่อกันเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้อย่างสวยงาม
ศิลปินฉีกสัญญา สภาพแวดล้อมการทำงาน-รายได้ไม่สมเหตุสมผล
ล่าสุดเกิดประเด็นใหม่เมื่อศิลปินชื่อ เคจี (KG) สมาชิกของวง VCHA วงเกิร์ลกรุปในอเมริกาของ JYP Entertainment ซึ่งเป็นค่ายยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้เช่นกัน
โดยศิลปินมาจากการออดิชันผ่านรายการ A2K ได้ออกมาเปิดเผยผ่าน Instagram Story ว่าเธอได้ยื่นฟ้องเพื่อขอยกเลิกสัญญากับ JYP เธออธิบายถึงปัญหาภายใน เช่น การถูกปฏิบัติไม่เหมาะสมจากทีมงานบางคน สภาพแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพจิต และค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล
ขณะที่ JYP ออกมาตอบว่า เคยพยายามหาทางเจรจาผ่านตัวแทนของเธอ แต่มีบางประเด็นที่ยังคงมีความเห็นไม่ตรงกัน และ JYP ยืนยันว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป และจะแก้ไขปัญหานี้ตามกระบวนการที่เหมาะสม
ไม่ใช่ครั้งแรกความขัดแย้งระหว่างศิลปิน
และค่ายเพลงเกาหลี
ประเด็นความขัดแย้งระหว่างบริษัทกับศิลปิน KPOP ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมามักจะเห็นประเด็นที่ศิลปินออกมาร้องความเป็นธรรมในด้านการโหมงานหนัก และความไม่เป็นธรรม และการยุติสัญญาจ้างต่าง ๆ
เริ่มตั้งแต่ข่าวใหญ่โตในอดีตเมื่อปี 2552 ที่ 3 สมาชิกวงดงบังชินกิ เข้าฟ้องร้องต่อศาลในกรุงโซล ยื่นเรื่องฟ้องบริษัท SM Entertainment ต้นสังกัด ในกรณีขอให้ศาลยกเลิกสัญญาของวงที่มีต่อทางบริษัท ที่ระบุว่าทางบริษัทเป็นผู้แบ่งผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว โดยสัญญาดังกล่าวเต็มไปด้วยข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมต่อตัวศิลปิน และพวกเขายังไม่สามารถทำตามความต้องการของตนเองได้
แม้แต่สมาชิกวง EXO อย่าง แบคฮยอน ซิ่วหมิน และเฉิน ได้ยื่นยกเลิกสัญญาพิเศษกับทางบริษัทให้ทราบเกี่ยวกับการยกเลิกสัญญาพิเศษ ตามที่ตัวแทนทางกฎหมายระบุว่า เอสเอ็มพยายามที่จะทำสัญญาพิเศษกับศิลปิน ที่มีอายุอย่างน้อย 17 หรือ 18 ปี
“นี่เป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ยุติธรรมกับศิลปิน”
เสียงแฟนคลับ กระทบธุรกิจ
แฟนคลับถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลสำหรับองค์การเคป็อป
อย่าง กรณีของ HYBE มีประชาชนร่วมกันลงชื่อผ่านเว็บไซต์ของสมัชชาแห่งชาติเกาหลี เพื่อถอดถอน HYBE จากบริษัทที่ได้สถานะ Top Job Creation Company
หรือกรณีของ LOONA ที่มีข่าวว่า Blockberry Creative ปฏิบัติกับศิลปินอย่างย่ำแย่ แฟนคลับร่วมกันไมาสนับสนุนอัลบั้มใหม่จนอัลบั้มถูกยกเลิกการวางจำหน่าย
เช่นเดียวกับวง RIIZE ซึ่งเป็นวงน้องใหม่มาแรงจาก SM
ที่ประกาศว่าสมาชิกหนึ่งคนถูกถอดออกจากวงอย่างไม่เป็นธรรม แฟนคลับประท้วงด้วยการไม่ซื่อสินค้าของวง
หรือ THE BOYZ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเส้นทางใหม่ ที่สมาชิกจะทำกิจกรรมร่วมกันต่อไปหลังจากสัญญากับ IST Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Kakao Entertainment กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนธันวาคม โดยสมาชิกวงได้เริ่มพูดคุยกับค่ายใหม่ โดยเน้นที่การหาสังกัดที่มีระบบการทำงานที่ชัดเจน และสามารถตอบโจทย์ด้านดนตรีของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งจะเห็นว่าแฟนคลับหลายวงแม้จะชื่นชอบศิลปิน แต่ก็ไม่ได้ชื่นชมบริษัทต้นสังกัดที่ปฏิบัติไม่ดี
วัฒนธรรมเกาหลีใต้ เชื่อการทำงานหนักคือความสำเร็จ?
สอดคล้อง กับความเชื่อชาวเกาหลีใต้ที่มีวัฒนธรรมการทำงานหนัก ชาวเกาหลีใต้ภักดีต่อบริษัท เคารพผู้อาวุโส ความรับผิดชอบและความกดดันสูง
วัฒนธรรมการทำงานหนักของศิลปินเคป็อป นำมาซึ่งความสำเร็จจะใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน?
ข้อมูลจาก HREX asia รายงานว่า เกาหลีใต้ เป็นประเทศแห่งการพัฒนาทางเทคโนโลยี เต็มไปด้วย Soft Power มากมายที่ผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าจะเป็น วงการเพลง ภาพยนตร์ อาหาร เทคโนโลยี อุปกรณ์ไฟฟ้า และองค์กรหรือบริษัทต่างๆที่พัฒนาเติบโตจนติดอันดับโลก
สิ่งที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมการทำงานและความฉลาดของคนเกาหลีใต้ที่สามารถลงทุนได้อย่างถูกจุด ถึงอย่างนั้นเกาหลีใต้ก็เป็นชาติที่มีการแข่งขันและความกดดันสูงมากตั้งแต่สมัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่จะต้องเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ เพื่อทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ และได้ทำงานในตำแหน่งสูงๆพนักงานเกาหลีใต้มีความรับผิดชอบต่อบริษัทสูงขณะเดียวกันก็แบกรับความคาดหวังและความกดดันที่จะต้องทำงานให้ออกมาดีเสมอด้วยเช่นกัน
เคร่งครัดระบบอาวุโส
คนเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสมาก ไม่ว่าจะเป็นลำดับชั้นในครอบครัว คนรู้จัก หรือตำแหน่งในบริษัท เพราะฉะนั้นจึงมีการแสดงออกและปฏิบัติตามมารยาทที่แตกต่างกันไป เช่น คนที่อายุน้อยกว่าควรทำหน้าที่จัดเตรียมสิ่งต่างๆให้รุ่นพี่ หรือหากออกไปกินข้าว รุ่นน้องก็ควรจัดเตรียมโต๊ะ อาหารให้รุ่นพี่ เปิดประตูให้หัวหน้า ให้หัวหน้าเข้าลิฟต์ก่อน และออกหลังสุด เป็นต้น ในบางองค์กรพนักงานก็ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อผู้อาวุโสในที่ทำงานด้วยเช่นกัน เพราะการพูดวิจารณ์ตรงๆอาจกระทบต่อผลของงานได้
เต็มไปด้วยความคาดหวังและความกดดัน
ด้วยความที่มีการแข่งขันสูงมากในแทบทุกเรื่อง จึงทำให้คนเกาหลีใต้เต็มไปด้วยความคาดหวังสูงเสมอ คาดหวังว่าจะต้องได้ทำงานในที่ดี ๆ ตำแหน่งสูง ๆ รายได้ดี มีบ้าน มีรถ จนกลายเป็นมาตรฐานความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีที่ว่าหากไม่ได้เกณฑ์ตามนี้ก็จะรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงทำให้มีความกดดันตามมาว่าจะต้องเร่งรีบพัฒนาเพื่อตามคนอื่นให้ทันอยู่เสมอ
เลิกงานช้าเป็นมารยาท วัฒนธรรมการเลิกช้าอาจไม่ใช่ทุกองค์กรในเกาหลีใต้ แต่บางองค์กรยังคงมองว่าการมาทำงานก่อนเวลาและการเลิกงานช้าเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงาน และภักดีต่อบริษัท ยิ่งพนักงานมาใหม่อายุน้อยอาจถือว่าเป็นมารยาทที่จะไม่กลับบ้านก่อนจนกว่าผู้อาวุโสกลับบ้านแล้ว
แต่ทั้งนี้ การทำงานหนัก และความกดดัน อาจไม่ใช่ทางที่ดีเสมอไปสำหรับคนรุ่นใหม่ รวมถึงเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่คนกำลังแสวงหาการทำงานแบบ Work Life Balance เพื่อความสุขในการทำงาน แม้งานหนักแต่ยังมีความสุข ความสำเร็จจะเกิดขึ้น ระบบเคร่งครัดเช่นนี้ยังส่งผลร้ายทำให้อัตราการจบสิ้นชีวิตตนเองสูงในเกาหลีใต้ ไม่เว้นแม้แต่คนดัง
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเดินหน้าธุรกิจ โดยไม่ให้ความสำคัญกับคนในองค์กร รวมถึงสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกคนในสังคม ธุรกิจอาจหยุดชะงัก ไม่สามารถเดินหน้าไปอย่างราบรื่น และยั่งยืนอีกต่อไป