อินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งโจทย์ผลิตพลาสติกยั่งยืน ค้นหาวิธีผลิตและการกำจัดที่ดีต่อโลก

อินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งโจทย์ผลิตพลาสติกยั่งยืน ค้นหาวิธีผลิตและการกำจัดที่ดีต่อโลก

อินโดรามา เวนเจอร์ส หาหนทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เผยไอเดียจากนักวิจัย นำเศษไม้มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเม็ดพลาสติก ขณะที่แผนสร้างโรงงานรีไซเคิล PET ทางชีววิทยาแห่งแรกของโลกในฝรั่งเศส คาดดำเนินการได้อีก 2 ปีข้างหน้า 

 

 

ในยุคปัจจุบัน พลาสติกเป็นวัสดุที่มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อาหาร ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ แทบไม่มีแง่มุมใดของชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ที่เรียกว่าขวด PET แม้ว่าพลาสติกชนิดนี้สามารถนำไปย่อยสลายได้ แต่กระบวนการผลิตไม่ได้เป็นมิตรกับโลกเท่าไหร่นัก 

กว่าจะเป็นเม็ดพลาสติก PET มีการใช้วัตถุดิบกว่า 10 ชนิดเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในกระบวนการผลิตได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ก่อให้เกิดมลภาวะทำให้โลกร้อน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง และมีความถี่สูงขึ้น 

ทั้งนี้จากรายงานของ Nature Conservancy ระบุว่า ในช่วงทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523) เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศที่สร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในทุก ๆ 4 เดือน แต่ปัจจุบันเพิ่มความถี่ขึ้นสูงเฉลี่ยทุกสัปดาห์ 

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ในฐานะผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโลก จึงได้พัฒนาแผนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation Plan) ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมนำพลาสติกมาใช้อย่างยั่งยืน

 

 

ผนวกกลยุทธ์ทางธุรกิจรับความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศ

 แอนโทนี เอ็ม วาตานาเบ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนของอินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า  อินโดรามา เวนเจอร์ส ตระหนักถึงความท้าทายทางสภาพภูมิอากาศ จึงผนวกการจัดการความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยตรง เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในเดียวกันยังเป็นการลดความเสี่ยงทางการเงิน เช่น ค่าเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น และการหยุดชะงักของการดำเนินงาน

ทั้งนี้แผนการปรับตัวของอินโดรามา เวนเจอร์ส อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการบริหารความเสี่ยงและการจัดการด้านความยั่งยืน (Sustainability Risk and Management Committee: SRMC) และถูกนำไปปฎิบัติในทุกฐานการผลิตของอินโดรามา เวนเจอร์ส ทั่วโลก และได้ปฏิบัติตามหลักพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ESG ได้แก่

  1. Environmental (สิ่งแวดล้อม) คือ นำขวดพลาสติก PET กลับมารีไซเคิลและเข้าสู่กระบวนการขึ้นรูปใหม่ ในส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้จะเข้าสู่กระบวนกำจัด ซึ่งพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานนับร้อยปี บริษัทจึงมีแผนก่อตั้งโรงงานเอนไซม์ย่อยสลายพลาสติกได้ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง และหาวัสดุดิบจากธรรมชาติมาใช้ในกระบวนการผลิต
  2. Social (สังคม) บริษัทเชื่อมโยงการตระหนักรู้เรื่องพลาสติกกับเยาวชน ผ่านโครงการอบรมความรู้ด้านการจัดการขยะและการรีไซเคิลให้คุณครูและนักเรียนในประเทศไทย 
  3. Governance (ธรรมาภิบาล) ในการเสริมสร้างความรู้และทักษะให้แก่พนักงานของเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ โดยการฝึกอบรมเชิงกลยุทธ์ให้พนักงานทุกระดับในบริษัทมีส่วนร่วมในการจัดการความเสี่ยงอย่างแข็งขัน

 

สร้างความหวังยื้อวิกฤตโลกร้อน

ไอเดียนักวิจัย ใช้เศษไม้แปรรูปเป็นวัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์

แอนโทนี กล่าวต่อว่า การไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต้องเริ่มตั้งแต่ต้นทาง อย่างพลาสติกซึ่งถูกมองเป็นผู้ร้าย ทำลายสิ่งแวดล้อม จุดกำเนิดที่มาของพลาสติก มีสารประกอบหลักคือ กรดเทเรฟทาลิกบริสุทธิ์ (PTA) ผงสีขาวที่ต้องใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก PET ก่อนนำมาขึ้นรูปเป็นพรีฟอร์มที่จะกลายเป็นขวดเครื่องดื่ม 

มีนักวิจัยได้ค้นพบสารประกอบจากธรรมชาติที่สามารถนำมาทดแทน PTA ได้ ซึ่งพบในชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการแปรรูปไม้ยูคาลิปตัสให้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ต่อไป 

 

ตั้งโรงงาน รีไซเคิล PET ทางชีววิทยาแห่งแรกของโลก

ในการหาหนทางแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่มีมากขึ้นทุกวัน ทางอินโดรามา ได้ก่อสร้างโรงงาน Carbios indorama เป็นโรงงานรีไซเคิล PET ทางชีววิทยา แห่งแรกของโลกในประเทศฝรั่งเศส ที่สามารถย่อยพลาสติกได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว และมีความสามารถในการรีไซเคิล PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วประมาณ 50,000 ตันต่อปี ซึ่งรวมถึงขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้โดยการรีไซเคิลด้วยเครื่องจักร เทียบเท่ากับขวด PET ชนิดสีจำนวน 2 พันล้านขวด หรือถาดอาหารที่ผลิตจาก PET จำนวน 2.5 พันล้านชิ้น และคาดว่าจะเปิดใช้โรงงานในอีก 2 ปีข้างหน้า

 

 

บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ 

ไม่เพียงเท่านั้นอินโดรามา ยังได้ร่วมกับ SIPA เปิดตัวขวดสปาร์คกลิ้งไวน์ ซึ่งผลิตจาก PET แบบชั้นเดียว (monolayer) เป็นรายแรกของโลก ซึ่งพัฒนาและออกแบบด้วยทีมพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของ SIPA ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก OxyClear? Barrier ของอินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งขวดสปาร์คกลิ้งไวน์ใหม่นี้มีน้ำหนักเบากว่าขวดแก้วแบบดั้งเดิมประมาณ 80 % ด้วยรูปทรงที่เหมาะสมจะช่วย ให้สะดวกในการจัดเรียงสินค้าออกจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นถึง 33 %

ขวดไวน์นี้ยังมีคุณสมบัติเหมือนไวน์แก้วทุกประการ โดยคอขวดออกแบบมาให้สามารถใส่จุกไม้คอร์กได้ อีกทั้งยังรักษากลิ่นและรสชาติได้ดี มีคุณสมบัติเก็บไวน์ได้นานถึง 24 เดือนในพื้นที่อุณหภูมิ 15 องศาเซสเซียส