GGC เดินหน้าผนึกพันธมิตรต่อเนื่อง หวังยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการจัดซื้อที่เป็นธรรม แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ มีผลผลิตเพียงพอและคุณภาพดีป้อนให้กับอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีในไทย เคลื่อนความยั่งยืนเศรษฐกิจชีวภาพ
การสร้างความยั่งยืนให้กับ ‘ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร’ ประการสำคัญเริ่มจาก ‘การสร้างความมั่นคงให้กับวัตถุดิบทางการเกษตร’ ไม่ว่าจะเป็น ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ คุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล ที่สำคัญต้องรับซื้อด้วยราคาเป็นธรรมและมีเสถียรภาพด้านราคา ประการหลังนี้เองจะจูงใจให้ เกษตรกร เร่งปลูกผลผลิตทางการเกษตร ป้อนความต้องการให้กับภาคธุรกิจอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ
เพราะเมื่อเกษตรกรอยู่ได้ ภาคธุรกิจก็อยู่ได้ ! นับเป็นชัยชนะร่วมกันทั้งสองฝ่าย นำไปสู่ความยั่งยืนร่วมกันในที่สุด
ทว่า การจะยกระดับผลผลิตทางเกษตรดังกล่าวได้นั้น เกษตรกรย่อมต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจผู้ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ ในการดำเนินการ
เช่นเดียวกับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC (บริษัทในกลุ่ม GC – บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โอลิโอเคมี (ผลิตภัณฑ์เคมีซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิต) โดย GGC ใช้ผลผลิต ‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โอลิโอเคมี ที่ผ่านมา GGC ได้เข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มนัำมัน ด้วยเป้าหมายการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ให้เกษตรกรขายผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันได้ราคาที่ดีอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังได้ผนึกความร่วมมือจากพันธมิตรหลากหลายเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมันยั่งยืน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) , องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย พร้อมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และโรงสกัดปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
ส่งเสริมเกษตรกรปลูกปาล์มฯกว่า 1,000 ราย
ตามมาตรฐานสากล RSPO
กฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า ปัจจุบัน GGC ได้ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมากกว่า 1,000 ราย ให้ดำเนินการตามมาตรฐานและได้รับการรับรอง Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ผ่านการดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน Sustainable Palm oil production and procurement (SPOPP)
เกษตรกรปลูกปาล์มได้มาตรฐานสากล
ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลง รายได้เพิ่มขึ้น
กฤษฎา กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าว เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในระยะยาว คือ เกษตรกรมีผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น มีต้นทุนในการปลูกปาล์มที่ต่ำลง และสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกร
ต่อยอดสู่โครงการ จัดการสวนปาล์มคาร์บอนต่ำ
นอกจากนี้ GGC ยังได้สานต่อการดำเนินการ สู่ ‘โครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน’ เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Sustainable Palm Oil Production and Procurement Project for Climate Mitigation and Adaptation (SPOPP CLIMA) เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายย่อยผลิตปาล์มน้ำมันในการ ‘จัดการสวนปาล์มแบบคาร์บอนต่ำ’ ของประเทศไทย
กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ยังระบุว่า จากการที่บริษัทฯและพันธมิตรเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน นับเป็นต้นทางที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทั้งเรื่องการปลูกปาล์มรวมถึงความมั่นคงทางการเงินให้กับเกษตรกรในระยะยาว สานต่อนโยบายสนับสนุนการซื้อ-ขายปาล์มน้ำมันของกลุ่ม ปตท. ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันขายผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่าราคาประกาศของราชการ
พันธมิตร จิ๊กซอว์เคลื่อนกระบวนการความยั่งยืน
จากความสำเร็จที่ผ่านมารวมถึงนโยบายดังกล่าวทำให้ GGC เล็งเห็นถึงความสำคัญและดำเนินการสร้างความร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน ช่วยเกษตรกรในด้านราคาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์ม GGC และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการการจัดซื้อปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Palm Oil Sustainable Procurement)
ยึดหลักการซื้อขายเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน
โดยโครงการดังกล่าวจะยึดหลักการซื้อขายที่เป็นธรรมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งผลประโยชน์ไปยังเกษตรกรทุกรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น เพราะสามารถขายผลผลิตได้ราคาที่ดีและเป็นธรรม
“เราร่วมผลักดันเพื่อให้การรับซื้อผลปาล์มในมูลค่าที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนของเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO เรารับซื้อตามราคาประกาศของกรมการค้าภายใน และในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO นอกจากจะได้รับราคาตามประกาศฯ แล้ว ยังได้ราคาพรีเมี่ยมจากมาตรฐาน RSPO เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งโครงจัดซื้อน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนนี้จะส่งผลให้ทุกกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานปาล์มน้ำมันของประเทศไทยสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
ทั้งนี้ในปัจจุบัน GGC มีพันธมิตรทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โรงสกัดปาล์มน้ำมัน GGC OR กรมวิชาการเกษตร GIZ และ RSPO ที่พร้อมร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งผ่านความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มทุกรายของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน