ส่องแนวคิด มุมมองผู้เชี่ยวชาญ ถึงอนาคตของข้าวไทย พัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน

ส่องแนวคิด มุมมองผู้เชี่ยวชาญ ถึงอนาคตของข้าวไทย พัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน

ส่องแนวคิด-มุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ถึงอนาคตข้าวไทย พัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน ยังเป็นสินค้าส่งออกติดอันดับต้นๆของโลกต่อไป ในวันที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมาแรง ท่ามกลางความท้าทายเกษตรกรยังมีหนี้สิน-คนไทยบริโภคข้าวลดลง หนำซ้ำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาทำให้สภาพดิน น้ำ อากาศ ไม่เหมือนเดิม 

 

 

แม้ว่าประเทศไทยจะขึ้นชื่อเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ทั้งยังถูกเรียกเป็นครัวของโลก เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะ “ข้าว” สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ามหาศาล

โดยข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า ปี 2566 ไทยมีปริมาณส่งออกข้าว 8,763,266 ล้านตัน มูลค่า 178,136 ล้านบาท มีปริมาณเพิ่มขึ้น 13.7% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 28.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 7,710,236 ตัน มูลค่า 138,698 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้นพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทย ยังถูกจัดเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Rice Award) ติดต่อกันมา 7 ปี จากการประกวดงานประชุมข้าวโลก (World Rice Conference) ซึ่งจัดโดยผู้ค้าข้าวโลกในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้แม้ว่าข้าวหอมมะลิ จะเป็นพันธุ์ข้าวที่คนไทยนิยมบริโภค แต่ ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้มีข้าวมากกว่าร้อยสายพันธุ์ แบ่งแยกออกเป็นหลายชนิด ทั้งไวต่อแสง ไม่ไวต่อแสง พันธุ์ข้าวญี่ปุ่น พันธุ์ข้าวสาลี และอีกมากมายให้คุณค่าและประโยชน์ไม่แพ้กัน

ทั้งยังมีพันธุ์พื้นเมืองจากแหล่งต่าง ๆ อีกมาก อาทิ ข้าวสังข์หยดพัทลุง, ข้าวมันปู, ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ข้าวกล้อง, ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้, ข้าวเหลืองปะทิว, ข้าวเหนียวดำ, ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู ฯลฯ 

ขณะที่เวียดนามนั้นกลายเป็นประเทศมาแรงเรื่องการส่งออกข้าว โดยเฉพาะสายพันธุ์ข้าว ST25 กลายเป็นข้าวสายพันธุ์ดีที่สุดในโลก จากการประกวดในระหว่างการประชุมข้าวโลกเมื่อปี 2019 โดยแรงบันดาลใจในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมของเวียดนามนั้น เกิดขึ้นหลังจากกรมการข้าวของประเทศไทยประกาศความสำเร็จในการพัฒนาข้าวหอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวหอมไม่ไวแสงปลูกได้ตลอดปีในพื้นที่เขตชลประทานเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

 

 

ข้าวไทย VS ข้าวเวียดนาม 

รณชัย ช่างศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมข้าว กรมการข้าว กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แม้เวียดนามจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ปัจจุบัน แต่นักวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเวียดนามยังยอมรับว่าแรงบันดาลใจในการพัฒนาข้าวของพวกเขามาจากประเทศไทย คือ พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ที่ไทยพัฒนามานานมากแล้ว แต่เวียดนามนำไปพัฒนาตามหลัง 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เวียดนามมาแรง อาจเพราะการลงทุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวในเวียดนามโดดเด่น โดยรัฐบาลเวียดนามใช้งบประมาณถึง 2% ของ GDP ในการพัฒนาพันธุ์ข้าว ในขณะที่ไทยใช้งบไม่มาก และลงทุนในงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวตามขอบเขตงบประมาณที่มีอยู่

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการพัฒนาข้าว โดยจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงเล็งเห็นปัญหาคุณภาพข้าวไทยที่ลดลงในตลาดโลก จึงได้วางนโยบายจัดตั้งกิจกรรมที่คล้ายกับเทศกาลข้าวเพื่อแสดงและประกวดพันธุ์ข้าว กระบวนการดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ และเป็นจุดเริ่มต้นของกรมการข้าวในยุคแรก 

จากยุคนั้นถึงปัจจุบัน งานปรับปรุงพันธุ์ข้าวยังคงเป็นหัวใจสำคัญ ทำให้ไทยสามารถเก็บรักษาข้าวพื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์ได้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าข้าวพื้นเมืองหลายชนิดจะใกล้สูญพันธุ์ก็ตาม ด้วยความโชคดีและความมุ่งมั่นในการปฏิรูปงานวิจัยและพัฒนาข้าวตั้งแต่ในอดีต ทำให้ไทยก้าวหน้าด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว จนสามารถพัฒนาข้าวที่มีคุณภาพสูงที่สุดในโลก 

“ด้วยความมุ่งมั่นและความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมา ไทยยังคงเป็นประเทศที่จะมีบทบาทสำคัญในระดับโลกในฐานะผู้พัฒนาข้าวคุณภาพ และเป็นต้นแบบในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย แม้ว่าสภาพดินและน้ำในไทยจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่หากสามารถจัดการทรัพยากรเหล่านี้ได้ดี ไทยก็มีศักยภาพที่จะผลิตข้าวได้ดีกว่าหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ฯลฯ”

 

วงการข้าวรวยหมด ยกเว้นชาวนา

ด้านดรุณี เอ็ดเวิร์ดส เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์มากที่มีศักยภาพสูงพร้อมขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ที่ปัจจุบันมีเพียง 23 สายพันธุ์ที่ได้รับ GI 

โดยบทบาทของมูลนิธิข้าวไทย พยายามที่จะส่งเสริมและโปรโมทเรื่องข้าว พยายามสื่อสารตลอดว่าไทยไม่ได้มีแค่ข้าวหอมมะลิพันธุ์เดียว ทั้งยังพยายามส่งเสริมทั้งห่วงโซ่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ว่าควรจะเพาะปลูกอย่างไร หรือแม้แต่ผู้ผลิตปุ๋ย ดูว่าปุ๋ยที่ผลิตนั้นดีหรือไม่ หลวกลวงเกษตรกรไหม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มูลนิธิพยายามจะสอดส่อง เพราะอย่างที่ทราบกันว่าใน “วงการข้าวทุกคนรวยหมด ยกเว้นเกษตรกร” ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ แต่มีหนี้สินเต็มไปหมด เราจะแก้อย่างไร โดยเฉพาะต่อไปนี้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

มีเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ที่ภาคเกษตรกรรมแต่ละประเทศต้องพยายามปรับกระบวนการ ลด GHG ลงมา ให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เราจะหาทางช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างไร โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ที่เขาทำสำเร็จได้ด้วยลำแข้งตนเอง มีนักวิชาการมากมาย ควรมาช่วยเกษตรกร มูลนิธิเป็นส่วนช่วยเล็ก ๆ น้อยๆ ว่ามีความสำคัญ มีความจำเป็น 

 

 

 

ย้อนมองอดีต สู่จุดเปลี่ยนของเกษตรอินทรีย์

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล อุปนายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) ชี้ให้เห็นว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 50-60 ปีก่อนการทำเกษตรอินทรีย์อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องพูดถึง เพราะในยุคนั้นเกษตรกรรมยังไม่มีการพึ่งพาสารเคมี ทว่าเมื่อเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความจำเป็นในการผลิตอาหารจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกได้ก่อให้เกิดเกษตรเชิงเดี่ยว และการใช้สารเคมีอย่างแพร่หลาย ผลที่ตามมาคือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ดินและน้ำถูกทำลายโดยไม่ตั้งใจ

ปัญหานี้ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มหันมามอง “เกษตรอินทรีย์” ในฐานะทางออกที่ยั่งยืน การลดการใช้สารเคมีไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน

สมาคมผู้สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญในการสร้างสังคมอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนซึ่งทุกคนในห่วงโซ่อาหารได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม ตั้งแต่ต้นน้ำคือผู้ผลิตอาหาร ไปจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค ที่จะได้รับอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

ระบบอาหารที่ยั่งยืนตามนิยามของสมาคม ไม่ได้มุ่งหวังแค่ประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการสร้างสังคมที่เอื้ออารีย์ เกื้อกูลกัน ผู้ผลิตได้รับราคาที่เหมาะสม ในขณะที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาสมเหตุสมผล พร้อมกับส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยลดการใช้สารเคมีในการเกษตร และสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรธรรมชาติ

วัลลภ พิชญ์พงศา นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย (TOTA) กล่าวว่า บทบาทสมาคม ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการในสมาคม เป็นตัวเชื่อมซัพพลายเชนให้เกิดขึ้นได้ จนไปสู่ผู้บริโภค คาดหวังว่าสิ่งที่เราทำจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรต้นน้ำ มีรายได้ที่ดีขึ้น มีสภาวะแวดล้อมที่ดี ปลอดภัยจากสารเคมี ผู้บริโภครับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ผมอยากสร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ว่าทำไมผู้บริโภคต้องเลือกบริโภคเกษตรอินทรีย์ 

 

 

สร้างคุณค่า ให้ข้าวเป็นกระแสและสินค้าประจำชาติ 

ขณะที่ปุณฑริก ตติยไพบูลย์ จากสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ท่ามกลางข้อมูลที่ชี้ว่าอัตราการบริโภคข้าวของคนไทยลดลง เนื่องจากทางเลือกอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงการหันไปให้ความสนใจอาหารทางเลือกอื่น ๆ รวมถึงการลดน้ำหนัก ในขณะที่อัตราการใช้ข้าว ซึ่งหมายถึงการรับซื้อข้าวในร้านอาหารเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าคนไทยนิยมทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น ก็ถือเป็นแนวโน้มที่น่าจับตา ถึงเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค ขณะที่อีกส่วนหนึ่งพบว่ามีการนำข้าวไปแปรรูปมากขึ้น ไม่ว่าจะแปรรูปเป็นอาหารชนิดอื่น ๆ แปรรูปเป็นคอสเมติก หรือเป็นยา ฯลฯ 

ทั้งนี้ สมาคมฯ มองว่าคนไทยรู้ว่าข้าวของไทยนั้นดี แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยรู้จักข้าวมากขึ้น เนื่องจากความหลากหลายของข้าว อาจทำให้เกิดความสับสน จึงตั้งเป้าที่จะสร้างกระแสให้ข้าวกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เชื่อมโยงคุณค่าระหว่างชาวนาและผู้บริโภค เรื่องราวของข้าวมีศักยภาพที่จะสร้างคุณค่าและดึงดูดความสนใจจากคนรุ่นใหม่ เช่น การนำเสนอเรื่องราวของชาวนา เทคนิคการปลูกข้าว การสีข้าว และคุณสมบัติของพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ โดยหวังให้ผู้บริโภคได้รู้จักแหล่งที่มาของข้าว และภูมิใจในความหลากหลายของข้าวไทย จึงนับเป็นบทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เราควรขับเคลื่อนวงการข้าวให้น่าสนใจมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับกระแสของกาแฟที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เราควรร่วมกันสร้างกระแสให้ข้าวเป็น “สินค้าอินเทรนด์” สร้างเรื่องราวหรือ “สตอรี่” ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค 

ไม่เพียงเท่านั้น สมาคมกำลังพัฒนาวิธีที่จะทำให้คนไทยเข้าใจและเลือกซื้อข้าวได้สะดวกขึ้น พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงคุณค่าทางโภชนาการของข้าว เช่น การบริโภคข้าวอย่างเหมาะสม จะไม่ทำให้อ้วนอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด เพราะมีความหลากหลายที่ตอบโจทย์สุขภาพ แต่ละชนิดมีคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หรือข้าวหอมมะลิ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้บริโภคได้ สมาคมข้าวถุงไทยหวังว่าด้วยความพยายามในการสร้างกระแสและส่งเสริมเรื่องราวเกี่ยวกับข้าว จะช่วยให้ข้าวยังคงเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตคนไทย และสามารถดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้ในระยะยาว

 

 

 

เทศกาลข้าว กลับมาแล้วกลางกรุง 

อย่างไรก็ตาม วันที่ ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2567 จะมีการจัดงาน เทศกาลข้าว กับ Thailand Rice Fest 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชวนทุกคนทำความรู้จัก “ข้าว” อีกครั้งในมุมใหม่ เห็นศักยภาพของข้าวไทย ผ่านความหลากหลายของพันธุ์และการนำไปใช้ งานนี้จะได้ชิมอาหารท้องถิ่นแสนอร่อยจากทั่วไทย และอาหารเมนูแปลกใหม่จากฝีมือเชฟ เลือกซื้อสินค้าข้าวที่ใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงฟังเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวมากมายหลายมุมที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

โดยงาน Thailand Rice Fest 2024 เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Larger than Rice” เพื่อถ่ายทอดคุณค่าของข้าวไทยในมุมมองใหม่บนความยั่งยืน โดยชูศักยภาพของข้าวในหลากหลายมิติที่เชื่อมโยงทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เปลี่ยนความคิดเดิม ๆ ที่มีต่อข้าว สู่คุณค่าใหม่ที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ รวมทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนเห็นพลังของความหลากหลายในวงการข้าว ตั้งแต่นักวิจัย เกษตรกร ไปจนถึงนักสร้างสรรค์ที่มาร่วมผลักดันศักยภาพของข้าวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เครดิตภาพ : Facebook Thailand Rice Fest