ไทยเตรียมบันทึกประวัติศาสตร์ LGBTQIAN+ กับวันสมรสเท่าเทียม จดทะเบียนพร้อมกันกว่า 1,000 คู่ สู่สถิติโลกใหม่ ลงกินเนสส์บุ๊ก จากรายงานชี้ หลังงานนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มจาก 4 อุตสาหกรรม
นับถอยหลังสู่วันสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day) เพื่อฉลองความสำเร็จของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้รับการประกาศในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเตรียมบันทึกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญผ่านกิจกรรมการจดทะเบียนสมรสของคู่รัก LGBTQIAN+ ทั่วประเทศกว่า 1,000 คู่ในวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น พร้อมการจดทะเบียนใน 878 อำเภอ และ 50 เขต ทั่วไทย
การจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะทำลายสถิติโลกจากริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ที่เคยมีคู่รัก LGBTQIAN+ เข้าร่วมจดทะเบียน 160 คู่ในปี 2557 (2014) ด้วยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย สะท้อนถึงการยอมรับความหลากหลายและการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม พร้อมสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านสิทธิ LGBTQIAN+ ในระดับโลก และจุดเปลี่ยนสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการศึกษาชี้ว่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินจาก 4 อุตสาหกรรมหลัก หลายพันล้านบาท
วาดดาว อรรณว์ ชุมาพร นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงบริบทของชุมชน LGBTQIAN+ ในสังคมไทย ถึงความน่าภูมิใจในเสรีภาพที่เมื่ออยู่ในประเทศไทย คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศหรือรักเพศเดียวกันสามารถเดินจับมือกันได้อย่างสบายใจ
และการเปิดกว้างของอุตสาหกรรมสื่อ ที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกสนาน และความบันเทิงในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ศาสตร์ของนางโชว์ในคาบาเรต์ที่กลายมาเป็นศิลปินและดาราระดับโลก หรือวัฒนธรรมแดร็กที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์
วาดดาวยังอธิบายว่า สังคมไทยมีการพัฒนาทางเสรีนิยมสูงมากจากเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับความเป็นทุนนิยมที่เปิดกว้าง ซึ่งเอื้อให้ชุมชน LGBTQIAN+ มีพื้นที่ใหม่ในการสร้างการมองเห็น (visibility) และสร้างเอนเกจเมนต์
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้เคลื่อนด้วยพลังของนักกิจกรรมเพียงอย่างเดียว แต่มองคาพยพจำนวนมากที่เคลื่อนพร้อมกันในหลากหลายมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจและภาครัฐ ส่วนฝั่งสังคมและบันเทิงก็มีบทบาทชัดเจน
“ภาคเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทำการซัพพอร์ตมาก เพราะว่ากระแสสมรสเท่าเทียมเกิดได้อย่างยิ่งใหญ่ ก็คือกระแสแฟนด้อม กระแสหนังซีรีส์ คู่จิ้น เดี๋ยวนิยาย เขาเติบโตอย่างมาก เป็น 10 ปีขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ซึ่งผลิตจากวรรณกรรมมาเป็นซีรีส์ ก็ได้รับการตอบรับดีมากเลย ยกระดับให้ตัววรรณกรรมเหล่านี้ทันสมัยขึ้น และเป็นเรื่องเล่าของสังคม พอสังคมฉายภาพแบบนี้ แฟนคลับก็ถล่มทลาย ลองไปดูสีสันงานสัปดาห์หนังสือ แฟนคลับต่อคิวซื้อหนังสือจากซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ บอยเลิฟ มันส่งผลเต็มที่เลย แล้วก็ทลายกรอบ ที่ว่าไม่มีใครมาปิดปากเราได้ ไม่มีใครปิดกั้นเราได้”
สมรสเท่าเทียมในไทย
ประเทศไทยกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 กับวันสมรสเท่าเทียมครั้งแรกของประเทศ ซึ่งคู่รัก LGBTQIAN+ กว่า 1,000 คู่จะเข้าร่วมจดทะเบียนสมรสพร้อมกันที่พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 19.00 น. นับเป็นก้าวสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกจับตามอง และยังเป็นการบันทึกสถิติโลกใหม่ใน Guinness World Records ในฐานะการจดทะเบียนสมรสคู่รักเพศเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าสถิติเดิมในปี 2014 ของบราซิลที่มีคู่รัก LGBTQIAN+ 160 คู่เข้าร่วมพิธีสมรส
วันสมรสเท่าเทียมไม่ใช่เพียงแค่วันจดทะเบียนสมรส แต่ยังเป็นวันเฉลิมฉลองชัยชนะของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคทางเพศที่คู่รัก LGBTQIAN+ และกลุ่มผู้สนับสนุนในประเทศไทยได้ต่อสู้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลในด้านสังคม แต่ยังช่วยเสริมความโดดเด่นของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชีย
งานในวันที่ 22 มกราคมนี้จะมี 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
- การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม โดยมีสำนักงานเขตและหน่วยงานด้านการปกครองจากทั่วประเทศมาร่วมอำนวยความสะดวกให้คู่รัก LGBTQIAN+ ที่เข้าร่วม เพื่อให้พวกเขาได้รับสถานะคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- งานเฉลิมฉลอง เพื่อสร้างความสุขและร่วมยินดีในวันสำคัญนี้ เป็นการแสดงถึงความร่วมมือและความสำเร็จหลังการต่อสู้ยาวนานของทุกภาคส่วน
- พิธีประกาศเกียรติคุณและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ โดยมีนายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต และตัวแทนจากองค์กรระดับนานาชาติร่วมเป็นเกียรติ เพื่อยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมเปิดประตูสู่ความเท่าเทียมและเสรีภาพด้านเพศในเวทีโลก
นอกจากกรุงเทพฯ ที่พารากอนฮอลล์แล้ว ทุกเขตในกรุงเทพฯ และทุกอำเภอทั่วประเทศ ต่างเตรียมพร้อมรองรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รัก LGBTQIAN+ ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ได้แก่
สำนักทะเบียนอำเภอ จำนวน 878 แห่งจุดเคาน์เตอร์บริการอำเภอ..ยิ้ม จำนวน 19 แห่งสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 แห่ง และสถานทูต/กงสุลไทยในต่างประเทศ 94 แห่ง โดยไม่คำนึ่งถึงภูมิลำเนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
โดยขอรับลงทะเบียนล่วงหน้า
กรมการปกครองมีระบบลงทะเบียนขอรับบริการล่วงหน้า สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ 15 วันและเวลาข้าสุดในแต่ละวันไม่เกิน 16.00 น. ก่อนวันเข้ารับบริการช่องทางการลงทะเบียน ผ่านช่องทาง
https://a-online.bora.dopa.go.th/ หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน ThaID
ความปลอดภัย ในการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ
“เสน่ห์ของสังคมไทยคือความปลอดภัย คุณอาจมองว่าสีสัน ความสนุก หรืออะไรอื่น ๆ คือจุดเด่น แต่สำหรับเรา ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุด”
วาดดาว อรรณว์ ชุมาพร อธิบายถึงบริบทของสังคมไทยที่เปิดกว้างและอนุญาตให้คนหลากหลายมีชีวิตอยู่ในระบบปัจเจก โดยไม่ถูกปิดกั้นด้วยกฎหมายหรือศาสนา สังคมไทยขับเคลื่อนด้วยศาสนาพุทธ ซึ่งไม่มีพระเจ้ามาตัดสินว่าการเป็น LGBTQIAN+ คือบาป ความคิดเรื่องกรรมในสังคมเราก็เบาบางกว่าคำสั่งจากพระเจ้าในหลายวัฒนธรรม
ด้วยความเชื่อที่ไม่ต่อต้าน LGBTQIAN+ ทำให้สังคมไทยไม่กังวลเรื่องความหลากหลายทางเพศในเชิงการเมืองหรือศาสนา “คนไทยส่วนใหญ่มีเพื่อนที่เป็นเกย์หรือกะเทย เห็นชีวิตที่เป็นปัจเจกอยู่แล้ว” วาดดาวกล่าว พร้อมชี้ว่าเมื่อสมรสเท่าเทียมกลายเป็นจริง คู่รัก LGBTQIAN+ จากทั่วโลกก็จะสามารถมาใช้ชีวิตและท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างอิสระ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางแห่งความเท่าเทียมและเสรีภาพ
นำกรุงเทพฯ สู่ WorldPride ระดับโลก ในปี 2030
ตั้งแต่ปี 2022 ที่ประเทศไทยจัดขบวนนฤมิตไพรด์ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน การเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในปี 2023 กับ Bangkok Pride ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 100,000 คน และในปี 2024 ยอดพุ่งทะลุ 200,000 คน พร้อมกิจกรรมอย่าง Drag Bangkok และ Bangkok Pride Forum ที่เต็มไปด้วยสาระและความสนุก การผลักดันสมรสเท่าเทียมประสบความสำเร็จในเดือนมิถุนายน 2024 หลังผ่านครบทุกชั้นวาระ และในปี 2025 จะจัดการประชุม Intepride World Conference เพื่อเสริมพลังให้ผู้นำ LGBTQIAN+ ทั่วโลก ไทยยังมุ่งสู่การเป็นจุดหมายปลายทางเทศกาลไพรด์ระดับโลก ด้วยเป้าหมายเป็นเจ้าภาพ WorldPride 2030 ซึ่งจะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในระดับสากล
4 อุตสาหกรรมหลัก ร่วมเติบโต
ตามมการวิเคราะห์ของแพลตฟอร์มท่องเที่ยว Agoda คาดว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ กว่า 4 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ 31,000 ล้านบาท และเพิ่ม GDP ไทย 0.3% ต่อปี โดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรมหลัก
- การท่องเที่ยว (Tourism)
ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นมิตรที่สุดในเอเชียสำหรับ LGBTQIAN+ ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและการยอมรับความหลากหลาย นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้กว่า 67,000 ล้านบาท (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเพิ่มตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเทียบเท่าเต็มเวลา (FTE) กว่า 76,000 ตำแหน่ง โรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ กำลังปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า LGBTQIAN+ โดยเฉพาะ
2. การแพทย์และสุขภาวะ (Medical & Wellness)
ประเทศไทยเป็น Medical Hub สำหรับกลุ่ม LGBTQIAN+ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการยืนยันเพศ เช่น การใช้ฮอร์โมน ศัลยกรรมแปลงเพศ และการตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เช่น รามาธิบดีและศิริราช รวมถึงคลินิกเฉพาะทางกว่า 23 แห่งในกรุงเทพฯ ต่างรองรับการให้บริการนี้ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสุขภาพและกิจกรรม Wellness ที่ครอบคลุมความต้องการเฉพาะของกลุ่มลูกค้า
3. บันเทิงและการประกวด (Entertainment)
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่โชว์คาบาเรต์ การประกวด Drag Queen และ Miss LGBT จนถึงปาร์ตี้เกย์ระดับโลกที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมกว่า 10,000-20,000 คนต่อครั้ง งานเหล่านี้สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการจัดอีเวนต์ยาว 3-5 วัน
4. ภาพยนตร์และซีรีส์ (Film & Series)
อุตสาหกรรมซีรีส์ Y (ชายรักชาย) และซีรีส์ Yuri (หญิงรักหญิง) กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปีที่ผ่านมา ซีรีส์ Y สร้างรายได้ส่งออกกว่า 1,000 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนให้เป็นนโยบาย Soft Power ระดับโลกผ่านโครงการ Rainbow Pop ไทยยังเป็นผู้นำด้านภาพยนตร์และเพลงที่สะท้อนความหลากหลายทางเพศอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแก้ไขกฎหมาย แต่ยังเป็นการลบข้อจำกัดทางสังคมที่เคยกีดขวางความรักที่ไร้ขอบเขตของเพศสภาพ นับจากวันนี้ ทุกคนในประเทศไทยสามารถสร้างครอบครัวและชีวิตคู่ที่ถูกต้องตามกฎหมายได้อย่างเท่าเทียม ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะกฎหมาย แต่เป็นผลจากความร่วมมือของคนทุกกลุ่มที่เชื่อมั่นในความรักและความเสมอภาค
ที่มาภาพ : Waaddao Chumaporn