โรคอัลไซเมอร์ เป็นเสมือนภัยเงียบ สำหรับผู้สูงวัย ที่มักมองข้ามสัญญาณเตือนเล็กๆน้อยๆ ทว่าผู้เชี่ยวชาญแนะโรคนี้สามารถลดความเสี่ยงได้ หากมีการดูแลโภชนาการที่ดี ใส่ใจสุขภาพกาย และสุขภาพใจ
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรครั้งใหญ่ โดยในปี 2050 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 1.2 พันล้านคน ซึ่งเรียกกลุ่มประชากรนี้ว่า ‘สึนามิสีเงิน’ (Silver Tsunami) และจะกลายเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคนี้
จากฐานจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าจะทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าว สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ จากมีการดูแลร่างกายและจิตใจที่ดี
ดร. แกรี่ สมอล สมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านโภชนาการของ Herbalife ให้ข้อมูลว่า เมื่ออายุมากขึ้น สมองย่อมเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการทำงานของจิตใจที่จะพัฒนาตามไปด้วย โดยสามารถแบ่งความเปลี่ยนแปลงออกเป็น ภาวะบกพร่องทางสติปัญญาระดับเล็กน้อย (มีความท้าทายทางสติปัญญาที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่ยังสามารถดูแลตนเองได้) ภาวะโรคสมองเสื่อม (ความสามารถทางสติปัญญาเสื่อมลง และมีผลกระทบต่อความสามารถในการดูแลตนเอง)
‘อัลไซเมอร์’ โรคที่มองไม่เห็น
อาการหลงลืม-จดจ่อลดลง มักถูกมองข้าม
ขณะที่โรคอัลไซเมอร์ มักถูกเรียกว่าเป็น ‘โรคที่มองไม่เห็น’ เนื่องจากมีอาการแรกเริ่มที่หลายคนมักมองข้าม เช่น การหลงลืมเพียงเล็กน้อยหรือมีปัญหาในการจดจ่อ ซึ่งมักถูกมองข้ามว่าเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงตามอายุทั่วไป แต่ความเข้าใจนี้อาจไม่ใช่เสมอไป
โรคอัลไซเมอร์สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีอาการ บางครั้งอาจเริ่มมีสัญญาณให้เห็นนานถึง 20 ปีก่อนที่อาการจะปรากฏ และเมื่อมีอาการ สมองอาจเสียหายรุนแรงไปแล้ว ดังนั้นการตรวจพบและการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญมาก
ทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
ควบคุมความอ้วน รักษาระดับความดันโลหิต
โดยหนึ่งในแนวทางที่มีศักยภาพที่สุดในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์คือการดูแลโภชนาการ โดยมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า อาหารที่รับประทานมีผลอย่างมากต่อสุขภาพสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ปัจจัยเสี่ยงร่วมกันระหว่างโรคหัวใจและโรคสมองเสื่อมบ่งชี้ว่า การใช้แนวทางโภชนาการแบบองค์รวมอาจเป็นมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยการปรับอาหารให้เน้นไปที่อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ รวมทั้งปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตให้กระฉับกระเฉงมากขึ้น จะทำให้สามารถควบคุมความอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพสมองและสุขภาพโดยรวมได้
โดยอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารบำรุงสมองอย่าง สารต้านอนุมูลอิสระ กรดไขมันโอเมก้า 3 และสารอาหารจำเป็นอื่น ๆ สามารถสนับสนุนการทำงานของสมองและลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ได้
‘เดิน – ฝึกต้านแรง’ เป็นประจำ
รักษาสุขภาพกาย สุขภาพสมอง
นอกจากโภชนาการแล้ว ยังมีวิธีการเพิ่มเติมที่สามารถนำมาใช้เพื่อรักษาและเสริมสร้างการทำงานของสมองเมื่ออายุมากขึ้นได้อย่าง การออกกำลังกายเป็นประจำที่ช่วยทั้งเรื่องการรักษาสุขภาพร่างกายและรักษาสุขภาพสมอง เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง เสริมสร้างการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท และเพิ่มความยืดหยุ่นของการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท
ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพสมอง โดยผู้สูงวัยสามารถออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น การเดินหรือการฝึกแบบต้านแรง รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งมีผลเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย
กระตุ้นสมองด้วยการอ่าน
การเรียนรู้ทักษะใหม่
นอกจากนี้ การกระตุ้นสมองผ่านกิจกรรมที่ท้าทาย เช่น การอ่าน การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ หรือการเล่นเกมเชิงกลยุทธ์ ช่วยเสริมความทนทานของสมองและพัฒนาจิตใจ โดยงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ทำกิจกรรมเหล่านี้บ่อยๆ มีแนวโน้มที่จะรักษาและพัฒนาความจำได้ดี รวมทั้งความเร็วในการประมวลผล ความสนใจ และการรับรู้ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งการกระตุ้นสมองจะช่วยกระตุ้นวงจรประสาทและสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ได้
เครียดเรื้อรัง – ภาวะซึมเศร้า
เสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์
นอกจากนี้ สุขภาพจิตยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ถูกมองข้าม ทั้งความเครียดเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า และความวิตกกังวลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ในทางกลับกัน อารมณ์และความสัมพันธ์ทางสังคมที่แข็งแกร่งจะช่วยป้องกันโรค ดังนั้น การสนับสนุนสุขภาพจิตในผู้สูงอายุผ่านการให้คำปรึกษา การทำกิจกรรมทางสังคม และการฝึกฝนสติสามารถช่วยรักษาการทำงานของสมองได้อย่างมีนัยสำคัญ
จะเห็นได้ว่า แม้ ‘สึนามิผู้สูงวัย’ จะใกล้เข้ามา เกิดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการตรวจโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ดูแลการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งออกกำลังกายทั้งร่างกายและสมองอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพจิตไปพร้อมกัน