4 ธุรกิจยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต้นทุนภูมิปัญญาคืนคุณค่าสู่สังคม สิ่งแวดล้อม

4 ธุรกิจยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต้นทุนภูมิปัญญาคืนคุณค่าสู่สังคม สิ่งแวดล้อม

กรณีศึกษา 4 กลุ่มธุรกิจ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บริหารจัดการธุรกิจ ใช้ต้นทุนภูมิปัญญาสร้างคุณค่าคืนสู่สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการเกษตร และพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน 

 

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอนให้คนรู้จักความพอประมาณ มีเหตุมีผล ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกบริบท ทุกอาชีพ โดยเป้าหมายปลายทางคือการที่คนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสันติสุข และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ภายในงานเสวนา ‘ก้าวพอดี’ สมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า พอเพียง เติบโต ยั่งยืน ใน Sustainability Expo 2024 ได้นำเสนอกรณีศึกษาจากกลุ่มธุรกิจที่มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ ทั้งธุรกิจที่อยู่ในภาคการเกษตร และท่องเที่ยวบริการ ที่เริ่มจากการมองเห็นคุณค่าในตนเอง และต่อยอดต้นทุนทางภูมิปัญญา สร้างรายได้ และคืนประโยชน์กลับสู่ท้องถิ่น 

 

 

โมเดลเกษตรสร้างสรรค์พันธุ์ปลานิลไทยไปสู่ต่างประเทศ  

อมร เหลืองนฤมิตชัย จาก Manit Selected จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลานิลแถวหน้าของเมืองไทย จนได้ขยายอาณาจักร ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ที่ให้บริการเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ – เลี้ยงปลานิล และสัตว์น้ำอื่นๆ แบบครบวงจร

อมร เล่าว่า มานิตกรุ๊ปทำธุรกิจสัตว์น้ำมากว่า 50 ปี ด้วยหวังจะยกระดับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทย ซึ่งบริษัทมีทั้งเลี้ยงกุ้ง เพาะพันธุ์ปลา หลากหลายชนิด โดยเฉพาะปลานิล ซึ่งเป็นปลาพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

“ธุรกิจของมานิตย์กรุ๊ปคือ โฟกัสตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีการปรับปรุงพันธุ์ เพาะขยายลูกพันธุ์ปลา การปรับปรุงพันธุ์ การติดตามวินิจฉัย ตรวจโรคและป้องกันโรคสัตว์น้ำ และจำหน่ายให้เกษตรกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเลี้ยงปลาเล็ก ๆ ให้เป็นปลาโต สำหรับแปรรูปเป็นเนื้อแร่แช่แข็งทะเลเพื่อจำหน่ายให้กับสายการบินนานาชาติ ไม่เพียงเท่านั้นยังจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำอีกด้วย”

อมร เล่าต่อว่า เหตุผลที่โฟกัสปลานิล เพราะนอกจากต้องการจะสืบสานพระปณิธานของในหลวง ร.9 แล้ว เราเชื่อว่า การให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ จะช่วยสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ช่วยบรรเทาความอดอยากของคนทั้งโลก จึงทำให้บริษัทพยายามที่จะส่งเสริมเพาะพันธุ์ปลานิลไทย ให้ไปไกลสู่ระดับโลก ซึ่งได้ใช้งานวิจัย นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการจัดการธุรกิจปลานิลครบวงจร 

“ความท้าทายสำหรับการเลี้ยงปลา ผมมองว่าการเลี้ยงปลานั้นยาก เพราะปลามีความไวกับสิ่งแวดล้อมมาก อุณหภูมิของปลามีทั้งร้อนและหนาว ไม่สามารถกำหนดฤดูกาลได้ จากการบันทึกภายในฟาร์ม พบว่า อุณหภูมิน้ำทำนิวไฮขึ้นทุกปี ปีที่แล้วหน้าร้อนอุณหภูมิน้ำสูงถึง 36 องศาเซลเซียส ส่วนปีนี้สูงถึง 37 องศาเซลเซียส สะท้อนให้เห็นว่า โลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือดแล้ว ตามที่เลขาธิการสหประชาชาติเคยกล่าวไว้” 

 

 

อินทผาลัมแห่งทุ่งกุลา 

ด้าน ศีลสุภา วรรณสุทธิ์ จาก 101 Land สวนอินทผาลัม จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า 101 Land เป็นสวนเกษตรอินทผาลัมแห่งทุ่งกุลา ตั้งอยู่ที่ ต.นิเวศน์ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด พัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่เปิดให้เยาวชน และคนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตร และการแปรรูปเกษตร ซึ่งการได้ทำเรื่องเกษตรคือการได้อยู่กับธรรมชาติ ความท้าทายของการทำเกษตรในปัจจุบันต้องการสร้างสมดุล ระหว่างวัฏจักรของชีวิตระหว่างพืชและศัตรูพืช จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ทำลายกันและกัน  ซึ่งคำตอบคือ ต้องลดเลิกใช้สารเคมี ด้วยการหานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้สำหรับดูแลการเกษตร 

“จะเห็นว่าวันนี้วิถีเกษตรเปลี่ยนไปมาก ทำไมจีนถึงปลูกข้าวในทะเลทรายได้ ก็เพราะมันมีเหตุปัจจัยที่ต้องทำ ขณะที่บ้านเราน้ำท่วมบ่อยครั้ง ขาดน้ำบ่อยครั้ง ถ้าเรามีการพัฒนาสายพันธุ์ ทั้งพืช และสัตว์ ที่ตอบรับกับการปลูกในท้องถิ่นนั้น ๆ เชื่อมั่นว่าเกษตรกรของเราสามารถพัฒนาไปได้ เพียงรู้ว่าพืชที่เราปลูกต้องการอะไรในการเติบโต” 

นอกจากนั้น ศีลสุภา เล่าอีกว่า การปรับตัวต่อการทำเกษตรกรรม หัวใจหลักคือน้ำ ในภาคอีสานจะประสบปัญหาเรื่องน้ำบ่อยมาก ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งใน 101 Land ก็ได้แก้ปัญหาคือ เมื่อน้ำมามากก็ต้องจัดเก็บน้ำเอาไว้ใช้ตอนน้ำไม่เพียงพอ 

นอกจากเรื่องเกษตร ยังได้พยายามสร้างเครือข่ายในชุมชน เพื่อสร้างจิตใจบริการต้อนรับแขกที่มาเยือนศึกษาดูงานในพื้นที่ 101 Land ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจที่อยากกลับมาพัฒนาบ้านของตนเอง ซึ่งอยากฝากถึงทุกคนว่า ให้ตระหนักว่าบ้านฉันมีอะไร ของดีของฉันคืออะไร และพัฒนาต่อยอดให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมาย ทุนวัฒนธรรมของไทยมีเยอะมาก นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ท่องเที่ยวพัฒนาวิถีชุมชน

ธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ชาวบ้านเป็นผู้นำทีม 

อาทิตยา อรรถีโสตร์ จากกระเตงทะเล จ.ระนอง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากที่บ้านทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่และหอยนางรม คลุกคลีกับวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เมื่อครั้งเรียนจบจากเมืองกรุง จึงเกิดแนวคิดอยากพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง จึงต่อยอดธุรกิจที่บ้าน และได้มองเห็นว่าที่บ้านเกิดเรา ชุมชนบ้านเขาฝาชี อ.ระอุ่น จ.ระนอง มีธรรมชาติสวยงาม มีจุดชมวิวเขาฝาชี ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดในจังหวัด หรือว่าจะเป็นคลองระอุ่นที่อยู่ข้างล่าง เป็นคลอง ที่เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ตั้งแต่สมัยดั้งเดิม จากจุดเด่นตรงนี้ จึงได้พัฒนาเป็นท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างประโยชน์และรายได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่น

การพัฒนาท่องเที่ยว มองว่าไม่ควรจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมที่ชุมชนมีอยู่แล้ว แต่ควรใช้สิ่งที่เขามีอยู่มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในชุมชน ดังนั้นจึงการออกแบบทริปท่องเที่ยวชุมชนบ้านเขาฝาชี โดยอิงกับธรรมชาติและฤดูกาลเป็นหลัก โดยออกแบบทริปเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ มารับประทานอาหารทะเล ร่วมกิจกรรมอาหารทะเลกับคนในชุมชน 

“ทุก ๆ กิจกรรมของที่นี่จะใช้ธรรมชาติและฤดูกาลเป็นตัวกำหนด นักท่องเที่ยวกำหนดเองไม่ได้ คนที่กำหนดได้คือธรรมชาติ เราก็จะให้ชาวบ้านพาไป สมมุติช่วงน้ำขึ้น ไปหาหอยได้ ชาวบ้านก็จะพาไปหาหอย หรือแม้กระทั่งกิจกรรมสอนแกะหอยนางรม ซึ่งที่ไหนก็สอนแกะหอย แต่ที่นี่แกะเสร็จแล้ว เปลือกที่เหลือสามารถนำมาทำใส่ตาข่าย ล่อเชื้อลูกหอย เพื่อจะทำเป็นตัวสร้างลูกหอยใหม่ที่จะโตให้เรารับประทานในอนาคต หรือพูดง่าย ๆ ว่าเราจะไม่เหลือขยะอาหาร ทุกอย่างสามารถนำกลับไปช่วยฟื้นฟูธรรมชาติได้ หรือนำเปลือกหอยแปรรูปเป็นของฝากชุมชน ตอนนี้ชุมชนมีความสุขใจที่ได้ทำท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ทริปท่องเที่ยว ทุกอย่างจะให้ธรรมชาติเป็นตัวกำหนด และชาวบ้านเป็นผู้นำทีม” 

นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ตระหนักรู้ว่า อาหารที่นักท่องเที่ยวบริโภคเข้าไป อยู่บนโต๊ะไม่กี่นาที แต่เขาจะโต ใช้ชีวิตได้เจอเรา บางอย่างก็ใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี นักท่องเที่ยวมา ก็จะได้ความรู้กลับไปที่ได้คุณภาพ เป็นทรัพยากรทางทะเลของชุมชน เราใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป 

หรือแม้แต่การออกแบบดินเนอร์บนยอดเขาฝาชี ด้วยการจัดโต๊ะเทเบิล ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมพร้อมอธิบายอาหารท้องถิ่นว่า มีการกินอยู่กันอย่างไร บ้านไหนทำอาหารอร่อยก็มาสลับปรับเปลี่ยนกันเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน 

 

 

ใช้ต้นทุนทางธรรมชาติ หาจุดยืนให้เจอ

ยอดตอง เชฐกุล จากวังตะพาบรีสอร์ท จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า วังตะพาบรีสอร์ท เป็นรีสอร์ทเล็ก ๆ ท่ามกลางธรรมชาติที่จังหวัด ปราจีนบุรี ไม่มีต้นทุนในเรื่องการก่อสร้าง แต่มีต้นทุนทางธรรมชาติ มีน้ำตกขนาดใหญ่ชื่อน้ำตกแก่งหินเพิง ทำให้มีกิจกรรมล่องแก่งหินเพิง ซึ่้งการล่องแก่งลักษณะนี้มีน้อยมากในไทย 

“รีสอร์ทของเราแม้จะเล็ก แต่ก็ต้องหาจุดยืนให้เจอ อย่างคุณแม่ของดิฉัน ชอบทำขนมไทย เช่น ข้าวต้มมัด หลายโรงแรมอาจจะมีขนมปัง เบรคฟาสต์ แต่ที่รีสอร์ทเราทำขนมไทย เพราะคุณแม่ชอบทำก็เลยให้ท่านเอนจอย และเศษอาหารที่เหลือจากโรงแรมเอาไปเป็นอาหารฟาร์มไก่ที่เลี้ยงเอง และเอาไปทำเป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้ในรสอร์ทได้ด้วย 

การทำขนม อาหาร ในรีสอร์ท ทุกอย่างมาจากธรรมชาติ เราพยายามสร้างจุดแข็งของเรา นับเป็นความภูมิใจที่เราไม่ทิ้งจุดเล็ก ๆ ที่เรามีในปัจจุบัน”

นักท่องเที่ยว ไม่ได้ไปเพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่ไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วย จะทำอย่างไรให้รุ่นลูกหลานมีทรัพยากรเหลือใช้ เพราะออกเดินทางในแต่ละทริป ได้ความสุขมาจริง แต่เบื้องหลังทิ้งอะไรต่าง ๆ ไว้เยอะ เมื่อไปเที่ยวต้องสำนึกด้วยว่าจะสามารถเซฟอะไรสำหรับโลกได้อย่างไรบ้าง “ยอดตอง” เผย

 

By : บุษกร สัตนาโค