‘บ้านร่วมทางฝัน’ โครงการกุศล เสนาฯ ทำมากว่า 20 ปี เพราะเห็นความอัตคัดในโรงพยาบาล

‘บ้านร่วมทางฝัน’ โครงการกุศล เสนาฯ ทำมากว่า 20 ปี เพราะเห็นความอัตคัดในโรงพยาบาล

เส้นทาง 20 ปี ‘บ้านร่วมทางฝัน’ Business Model เพื่อสังคมของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ สร้างโครงการบ้านและคอนโดด้วยใจ กำไรจากการขายมอบให้โรงพยาบาลรัฐ จัดหาอุปกรณ์ขาดแคลนช่วยเหลือผู้ป่วย

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้ริเริ่ม ‘โครงการบ้านร่วมทางฝัน’ ขึ้นมาด้วยการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในลักษณะที่ขายแล้วนำกำไรทั้งหมดมาบริจาคให้โรงพยาบาลรัฐเพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาผู้ป่วย 

โดยโครงการนี้เกิดจากความตั้งใจของ ‘ธีระวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์’ ที่ต้องการคืนสิ่งดี ๆ สู่สังคม โดยเฉพาะการช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐ หลังมีประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องรักษาตัวเป็นเวลานานที่โรงพยาบาลศิริราช และเห็นผู้ป่วยจำนวนมาก ที่เข้ารับการรักษาทุกวัน จึงตระหนักถึงความขาดแคลนในด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โต๊ะเก้าอี้ ตลอดจนพื้นที่นั่งรอของญาติผู้ป่วย หลากหลายรูปแบบ 

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ทำมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ผ่านทั้งช่วงขาขึ้น-ขาลงของเศรษฐกิจ แต่ด้วยความตั้งใจ ทำให้โครงการนี้ยังคงเดินหน้า ซึ่งปัจจุบัน มี ‘ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์’ บุตรสาวยังคงขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง  

 

 

เฝ้าไข้พ่อ มองเห็นความยากลำบาก 

การขาดแคลนทรัพยากรในโรงพยาบาล

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการบ้านร่วมทางฝันว่า เกิดจากผู้พ่อ (ธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์) เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นแรมปี การเฝ้าไข้ของลูกสาวครั้งนั้นจึงกลายเป็นการได้เฝ้ามองปัญหา จนเห็นว่าโรงพยาบาลรัฐยังต้องความช่วยเหลืออีกมาก

“ตอนนั้นเราเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย ที่เพิ่งเรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of California at Riverside มาหมาด ๆ ยังใช้ทุนไม่ครบเลย แล้วคุณพ่อไม่สบายตรวจพบมะเร็งระยะที่ 4 เป็นระยะที่รุนแรงแล้ว เกิดมาไม่เคยเห็นคุณพ่อเข้าโรงพยาบาลเลย ตอนแรกพาท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แล้วก็ย้ายไปที่โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากมีคนแนะนำว่าเครื่องมือดี ปัญหาก็คือ ตอนนั้นทำไมเรารู้สึกว่ามันยากลำบากเหลือเกิน ในการเข้ารักษาในโรงพยาบาล จำได้ว่ายังใช้บริการที่ตึกเก่าของศิริราช จำนวนคนมหาศาล ต้องรอคิวตรวจ กว่าจะได้เอกซเรย์ กว่าจะได้ห้องรักษา กระบวนการรอนานมาก 

พอเข้าไปรักษาได้ก็อยู่โรงพยาบาลราว 1 ปี จนสนิทกับร้านขายน้ำในศิริราช และหลังจากนั้นก็เข้าออกโรงพยาบาลอีก 2-3 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่ทรมานที่สุดของชีวิตเลย การรออะไรนาน ๆ ทำให้เราเห็นภาพชัดถึงคำว่า ขาดแคลนทรัพยากรจริง ๆ ว่ามันคืออะไร ก็คือการไปแต่เช้าตรู่เพื่อไปรอคิวตรวจ หมอต้องเรียกตรวจทีละคน ๆ พอกลับมาบ้าน ปรึกษากับครอบครัว ก็เลยเกิดแนวคิดการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบบริจาคให้กับโรงพยาบาลรัฐ”

 

 

เงินก้อนแรก บริจาคศิริราช 40 ล้านบาท 

ผศ.ดร.เกษรา กล่าวต่อว่า เสนาได้เริ่มทำบ้านร่วมทางฝันโครงการแรกที่ลำลูกกา คลอง 2 ในปี 2548 บริจาคเงินก้อนแรก 40 ล้านบาทให้ศิริราชก่อน ตอนนั้นค่อนข้างอินกับการช่วยเหลือโรงพยาบาลมาก ซึ่ง 40 ล้านบาทก็เป็นกำไรที่มาจากการทำธุรกิจของโครงการนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเสนาฯ แล้วต้องเลือกจุดด้วยว่าจะบริจาคอะไร ให้ห้องไหน เพราะมันอัตคัดเหลือเกิน 20 ปีก่อน ภาพที่เห็นคือ ในห้องของหมอ ไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ไม่มีห้องเอกซเรย์หลายห้อง ต้องรอคิวตรวจ 

“ด้วยความที่ทำงานมหาวิทยาลัยด้วย จึงรู้ข้อจำกัดถึงการใช้งบประมาณ ซึ่งต่อให้เงินเยอะมากแค่ไหน แต่ทุกอย่างมีกระบวนการ มีขั้นตอน เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน หลายคนบอกมหาวิทยาลัยเงินเยอะ แต่ทำไมทุกคณะรู้สึกว่าตัวเองอัตคัด เพราะการจะใช้เงินมหาวิทยาลัยแต่ละครั้ง กว่าจะเบิกงบได้ ขั้นตอนเยอะมาก แต่ถ้าผู้บริจาคกำหนดเลยว่าจะให้คณะไหน ก็จะง่ายขึ้น อย่างร่วมทางฝัน ตอนแรกกำหนดเลยว่า จะสร้างห้อง ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และพื้นที่รับรองญาติผู้ป่วย รวม ๆ แล้ว 40 ล้านบาท”

 

 

แยกชัดเจนระหว่าง ‘ทำบุญ’ กับ ‘กำไร’

ผศ.ดร.เกษรา กล่าวอีกว่า ตอนนั้นคิดแค่ว่าอยากสนับสนุน ไม่ได้คิดอะไรที่ซับซ้อน ซึ่งผ่านมา 20 ปีแล้ว ก็มีความรู้สึกดีที่ส่วนหนึ่งของการทำงานของเราได้สนับสนุนจุดที่ขาดแคลน ซึ่งบ้านร่วมทางฝันเป็นโครงการที่แยกจากธุรกิจอื่น ๆ ของเสนาอย่างชัดเจนเลย เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่า นำผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นมาเกี่ยวข้อง อยากให้รู้สึกว่า ‘จะทำบุญก็คือทำบุญ ทำกำไรก็คือทำกำไร’ แยกให้ชัด 

“การแยกทำให้เราสบายใจ ตั้งแต่ซื้อที่ดิน ทำให้เรารู้สึกว่า ไม่เคยคาดหวังกำไร ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และสิ่งที่ชอบที่สุดการทำโครงการนี้คือทุกคนในบริษัทได้ร่วมมือกัน ถ้าอย่างทำซีเอสอาร์ เมื่อก่อนก็จะทำกันแค่ไม่กี่คน มีฝ่ายจัดซื้อ พีอาร์ มีคนขับรถ แต่โครงการบ้านร่วมทางฝัน เป็นการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเขียนแบบ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายคัดคนงานก่อสร้าง ทำไปด้วยกัน ช่วยเหลือคน และสังคมไปด้วยกัน”  

 

 

ผ่านมา 20 ปี วิกฤตขึ้น ๆ ลง ๆ เศรษฐกิจแย่

แต่โครงการนี้ ยังคงดำเนินต่อเนื่อง 

จนถึงตอนนี้โครงการเดินทางมาแล้วกว่า 20 ปี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ขึ้น ๆ ลง ๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบทิศทาง ทั้งภาวะต้นทุนสูงจากอัตราดอกเบี้ย ค่าแรง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่ กำลังซื้อฐานรากอยู่ในสภาวะถดถอยต่อเนื่อง แต่โครงการนี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ผศ.ดร.เกษรา บอกว่า ช่วงไหนเศรษฐกิจไม่ดี ก็ทำช้าลง หรือว่า เลื่อนการทำให้ยาวขึ้น อยากให้โครงการเดินหน้าไปได้ แม้ว่า อสังหาฯ ไม่ดี มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่ก็ต้องดูมิติว่าเป็นความเสี่ยงที่จัดการรับผิดชอบได้ เวลาให้โรงพยาบาลรัฐไม่ได้หมายความว่ากำไรทั้งหมดให้ทีเดียว จะก็ค่อย ๆ ให้ เมื่อโอนตึกได้ 30% ก็จะเริ่มมีกำไรแล้ว ถ้าไม่ได้กู้ จากนั้นก็นำกำไรให้โรงพยาบาลได้แล้ว 

 

 

ไม่ต้องรอกำไรครบ 100 %  

“เราก็ขายของปกติ การทำตลาดแบบนี้ไม่ได้คิดว่าจะทำให้เราขายง่ายขึ้น เพราะสินค้ามันใหญ่เกินไป คนที่จะซื้อเขาไม่ได้คิดว่าจะซื้อเพราะอยากทำบุญ เพียงแต่หวังว่า ถ้าเขาเห็นของเหมือนกัน 3-4 อย่างแล้วเห็นว่าของมันน่าลงทุน มีจุดประสงค์ชัดเจน เขาน่าจะมีใจอยากเลือกซื้อเรา ด้วยความที่เป็นสินค้าขนาดใหญ่ไม่ใช่คนคิดจะซื้อก็ซื้อได้ หรือยอมตัดสินใจซื้อเพราะอยากทำบุญ”

 

6 โครงการบ้านร่วมทางฝัน

มอบกำไรให้โรงพยาบาลรัฐ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ยังนับเป็น Business Model รูปแบบใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อการกุศล มอบกำไรให้โรงพยาบาลรัฐ ตั้งเป้าบริจาคเงินรวม 460 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้มอบเงินบริจาคให้แก่ โรงพยาบาลภาครัฐ 4 แห่ง ไปแล้ว รวมเป็นเงิน 190 ล้านบาท ดังนี้

1.บ้านร่วมทางฝัน 1 ลำลูกกา คลอง 2 (ปี พ.ศ. 2548) สร้างห้องและซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และพื้นที่รับรองญาติผู้ป่วย รวมถึงทุนสนับสนุนทางการแพทย์ บริจาค 40 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช

2.บ้านร่วมทางฝัน 2 ลำลูกกา คลอง 4 (ปี พ.ศ. 2553) จัดทำศูนย์ฟอกไต และจัดซื้อเครื่องมือแพทย์สำหรับศูนย์ศัลยกรรมประสาทและศูนย์ โรคหัวใจ บริจาค 40 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลตำรวจ

3.บ้านร่วมทางฝัน 3 คลองหลวง (ปี พ.ศ. 2555) สนับสนุนโครงการผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด รถพยาบาล และสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ บริจาค 70 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี

4.บ้านร่วมทางฝัน 4 เพชรเกษม-บางแค (ปี พ.ศ. 2563) จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่ วยโควิด 19 บริจาค 40 ล้านบาท ให้ แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

5.บ้านร่วมทางฝัน 5 (ปี พ.ศ. 2565) ตั้งใจมอบเงินจำนวน 200 ล้านบาท จากการซื้อที่ดิน และนำไปขายต่อ เพื่อนำรายได้มอบให้ 4 โรงพยาบาล  ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลศิริราช อยู่ในระหว่างดำเนินการ

6.บ้านร่วมทางฝัน 6 (ปี พ.ศ. 2567) คอนโดมิเนียม Hi Rise สูง 19 ชั้น จำนวน 354 ยูนิต โครงการตั้งอยู่ในทำเลคุณภาพ ติดถนนบรมราชชนนี (ซอย บรมฯ16) โครงการมีบริการ Shuttle Van ส่วนตัว รับ – ส่งถึงหน้าโครงการ แก้ไขปัญ หาการหาที่จอดรถยากในโรงพยาบาล และสถานที่ราชการใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธนบุรี โรงพยาบาลเจ้าพระยา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ โดยอยู่ในระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จ ไตรมาส ที่ 2 ปี 2569 ซึ่งตั้งใจจะมอบเงินจำนวน 70 ล้านบาท ให้แก่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

 

 

มูลนิธิบ้านร่วมทางฝัน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดการบริจาคอย่างยั่งยืนที่เสนา นำมาใช้ โดยผสมผสานความเชี่ยวชาญในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ากับการสร้างประโยชน์ ให้กับสังคม ผ่านโครงการที่อยู่อาศัยคุณภาพในราคาที่เอื้อมถึงได้ ซึ่งไม่เพียงมอบความคุ้มค่าให้กับผู้อยู่อาศัย แต่ยังนำกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนกลับไปสู่โรงพยาบาลรัฐ โครงการนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นและความจริงใจของเสาในการตอบแทนสังคม พร้อมส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ ดีอย่างยั่งยืน

“โครงการนี้ ตรงกับมิติสังคม (Social) แนวคิดนี้มาจากคุณพ่อ เราไม่เห็นด้วยในตอนแรก เพราะมองว่ายุ่งยาก คิดว่าเอากำไรจากเสนาไปมอบก็หมดเรื่อง แต่พอผ่านมาสักพักก็ค่อย ๆ เข้าใจ และเห็นวงจรกำไรบริษัทมาหลายรอบ คิดว่าถ้าไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนั้นคงเสียดายมาก เพราะเป็นการทำงานที่ใส่แรง ร่วมกุศลลงไป เสนามีวิธีคิดการทำงานที่ทำให้ ESG เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งขององค์กร 

ถ้าต้องเลือกระหว่าง lean กับกำไร ในแง่บริษัทยังไงก็ต้องทำกำไร แต่สิ่งที่ทำคือต้องการผูกกำไรกับการเป็น ESG เข้าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะนอกจากบ้านร่วมทางฝันแล้ว ในมิติอื่น ๆ ของเสนา ก็มีการดำเนินหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า โซลาเซลล์ ฯลฯ” ผศ.ดร.เกษรา กล่าวทิ้งท้าย