เปิดมุมมองผู้นำองค์กร ดึง AI ออกแบบอนาคตประเทศ ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

เปิดมุมมองผู้นำองค์กร ดึง AI ออกแบบอนาคตประเทศ ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

 ในเวทีสัมมนา หัวข้อ “The New Leaders Perspective: Designing the Digital Future” ร่วมออกแบบอนาคตดิจิทัล เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตทางดิจิทัลและงานในยุคดิจิทัล 4 ผู้นำองค์กร ร่วมให้มุมมองต่อการนำ AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ที่ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างระบบนิเวศ AI ที่เป็นธรรมเข้าถึงได้

 

 

ในยุคที่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence -AI ) เข้ามามีส่วนเปลี่ยนผ่านทุกภาคส่วนในแง่ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในระดับปัจเจก ไปจนถึงระดับสังคม ธุรกิจ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ

ทว่าที่ผ่านมา ‘การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรม’ ยังเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ทุกคนในทุกระดับรายได้-วัย มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีที่เท่าเทียมกัน จึงจะนำพาการเปลี่ยนผ่านอนาคตประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ในการนำ AI มาทำหน้าที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ ประมวลผล เพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เป็นต้น  

ทั้งนี้ในเวทีสัมมนา หัวข้อ “The New Leaders Perspective: Designing the Digital Future” ร่วมออกแบบอนาคตดิจิทัล เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตทางดิจิทัลและงานในยุคดิจิทัล จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีผู้บริหาร 4 องค์กร ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และแนวทางการออกแบบอนาคตดิจิทัล ผ่านการใช้เทคโนโลยี AI และการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Digital Transformation

 

 

การใช้ AI ในอุตสาหกรรมไมซ์

ออกแบบเส้นทางเที่ยว เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

ดร.จารุวรรณ สุวรรณศาสน์ รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการฝ่ายไมซ์อินเทลลิเจนซ์ และนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) เปิดมุมมองการออกแบบอนาคตดิจิทัล ว่า AI ในยุคเปลี่ยนผ่าน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล 

โดยในส่วนของอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ควรมองข้าม ทั้งในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการออกแบบเส้นทางประสบการณ์สำหรับผู้เข้าร่วมงาน ที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

ความท้าทายในการผลักดันให้โครงการ Digital Nation ของไทยเกิดขึ้นจริงนั้น  รัฐบาลต้องกำกับดูแลข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้โดยไม่สะดุด และต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดตั้งระบบนิเวศดิจิทัลที่เป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

 

 

เร่งพัฒนา ดึง AI เพิ่มประสิทธิภาพบริการการเงิน  

ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงการนำ AI มาใช้ในธนาคารผ่าน Generative AI และ AI Analytics ทั้งในด้านการให้สินเชื่อ การชำระเงิน และการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า โดยเน้นว่าความท้าทายหลักของการนำ AI มาใช้ในองค์กรคือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ธนาคารต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

“หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันสร้างมาตรฐานในการปกป้องข้อมูล เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า AI สามารถเป็นตัวช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้าในอนาคต”

 

 

Data Governance

ความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เน้นถึงการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) ว่า เป็นหัวใจสำคัญของการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและใช้ข้อมูลอย่างถูกต้อง เพื่อให้ AI สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับธุรกิจ

นายปนายุ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากร Talent ใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

 

 

โอกาสจาก AI ในอุตสาหกรรมจีน

นายแจ๊ค เจิ้ง (Mr. Jack Zheng) ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ บริษัท พาวเวอร์ลีดเดอร์ คอมพิวเตอร์ ซิสเต็ม จำกัด เปิดเผยถึงความสำเร็จของจีนในการใช้ AI พัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างเมืองเซินเจิ้นที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ  AI ไม่ได้มีบทบาทแค่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การเงิน และการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน

นอกจากนี้  ยังเชื่อว่า AI จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวและการค้าปลีก AI สามารถช่วยเพิ่มประสบการณ์การเดินทางและการชำระเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

การเสวนาครั้งนี้ทำให้เห็นถึงโอกาสที่มากับ AI และ Digital Transformation ในหลายอุตสาหกรรม โดยเน้นถึงความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากร (Talent) ใหม่ ๆ การกำกับดูแลข้อมูล และการเตรียมพร้อมในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ รัฐบาลและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง