3 นักสร้างสรรค์กาแฟ ชูแนวคิดดูแลป่า สร้างรายได้เกษตรกร ยอดดอย สู่ Coffee Master ได้ดริปกาแฟสายพันธุ์ไทย ฟื้นป่าสู่การผลลัพธ์ธรรมชาติคัดสรรกาแฟพันธ์ุดี กำเนิดคอลเล็คชั่นพิเศษ 10 ชนิดกาแฟพันธ์ุไทย ถึงมือคนเสพกาแฟปลายน้ำ หนึ่งในนั้นคือกาแฟอมก๋อย ความหวานพิเศษจากการเก็บในคืนพระจันทร์เต็มดวง
เมล็ดกาแฟนับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยแหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักในประเทศแถบแอฟริกาเหนือหรืออเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็น บราซิล โคลอมเบีย หรือเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งการผลิตกาแฟระดับโลกมานาน แต่ ณ ปัจจุบัน กาแฟกลายเป็นผลิตผลที่มีแหล่งกำเนิดมาจากหลากหลายมุมโลก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
เมล็ดกาแฟสัญชาติไทย
สร้างงานสร้างรายได้ไม่พอ ยังช่วยรักษาป่า
เมล็ดกาแฟ นับเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ช่วยชูเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สามารถสร้างงาน-สร้างรายได้ให้กับหลายๆ ครอบครัวที่ยึดอาชีพปลูกกาแฟขาย รวมถึงสร้างชื่อให้กับหลายภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งสองภูมิภาคนี้ถือเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของไทย
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า หากคำนวณเนื้อที่แหล่งเพาะปลูกกาแฟทั้งหมด จะมีเนื้อที่รวมถึง 268,211 ไร่ และมีการคาดการณ์ว่าเนื้อที่เพาะปลูกกาแฟมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะความต้องการผลิตและบริโภคกาแฟในไทยนั้นมีแต่จะสูงขึ้น พร้อม ๆ กับอัตราการเติบโตของผู้ดื่มและร้านกาแฟที่ขยายตัวในทุกปี
แบรนด์กาแฟหลายแห่งยังคงนำเข้าเมล็ดกาแฟ แต่ก็ยังมีหลายแบรนด์ที่เริ่มหันมาเลือกเมล็ดกาแฟสัญชาติไทย เพื่อเป็นการสร้างป่า สร้างรายได้หล่อเลี้ยงหลายครอบครัวที่พึ่งพาการเกษตรจากการเพาะปลูกกาแฟ
กาแฟจากออมก๋อย ทวงคืนผืนป่าจากเขาหัวโล้น
บงกชษศฎา ไชยพรหม หรือโสภาแห่งดอยอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ นักแปรรูป (Process) กาแฟ กล่าวว่า การเพาะปลูกกาแฟช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้นได้จริง ปัจจุบันในภาคเหนือมีเกษตรกรที่ปลูกกาแฟจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ อำเภออมก๋อย ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ ที่อยู่ใต้สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ค่อนข้างห่างไกล ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อยู่ในหุบเขา มีถนนหลวงเข้าสู่ตัวเมืองแค่ทางเดียว ตนเองได้เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรปลูกกาแฟเนื่องจากอมก๋อยคือบ้านเกิด
“เมื่อ 14 ปีก่อนพบปัญหาป่าไม้สูญหายไป ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เจอแต่เขาหัวโล้น ได้กลิ่นยาฆ่าแมลง จากการที่ชาวบ้านทำการเพาะปลูกโดยใช้สารเคมี ด้วยความอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง จึงเกิดแนวคิดที่จะทวงคืนผืนป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ชักชวนชาวบ้านมาปลูกกาแฟในป่า เพราะป่าที่ให้ร่มเงาจะช่วยทำให้กาแฟมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น และทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์”
“ช่วงแรกชาวบ้านเข้าร่วมแค่ 4 ราย เป็นช่วงที่มีความท้าทายมาก เพราะกว่าที่กาแฟจะเติบโตใช้เวลานานราวๆ 5 ปี เกษตรกรต้องเชื่อใจเรา ว่ากาแฟโตได้ และพอออกผผลผลิตจะขายได้แน่ๆ ซึ่งเราก็ไม่รู่ว่า จะได้ผลลัพธ์อย่างไร ระหว่างนั้นก็ให้ชาวบ้านไปทำเกษตรอย่างอื่น หรืองานอื่นร่วมด้วย เพราะแนวคิดเราแรก ๆ อย่างน้อยการปลูกกาแฟก็ทำให้ได้ป่าคืน”
โสภา กล่าวต่อว่า หลักจากชักชวนชาวบ้านปลูกกาแฟแล้ว ก็ลงมือทำ เป็นนักแปรรูปกาแฟ ด้วยการศึกษาหาความรู้จากการอ่าน เอาเมล็ดกาแฟไปเข้ากระบวนการต่าง ๆ ทั้งกระเทาะเปลือก หมักน้ำ ล้างเมือกให้สะอาด แล้วเอาไปตาก กว่าจะได้เมล็ดกาแฟที่ดีลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ เป็นคนกลางช่วยเกษตรกรหาตลาด พอผลลัพธ์ออกมาสำเร็จ มีคนเริ่มรู้จักก็เริ่มขยายการเพาะปลูกมีเกษตรกรเข้าร่วมมากขึ้น มีการเอาเมล็ดไปประกวดผ่านหลายเวที ได้รางวัลบ้างไม่ได้บ้าง
จนกระทั่งได้เจอเทคนิคการเก็บกาแฟช่วงเวลาข้างขึ้น หรือช่วง “พระจันทร์เต็มดวง” ที่ได้ทำการวัดค่าความหวานของกาแฟที่เก็บในช่วงนี้พบว่าปริมาณความหวานเพิ่มขึ้นมากกว่าการเก็บวันทั่วไป ซึ่งแล้วแต่แหล่งปลูกด้วย มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน อากาศเป็นอย่างไร นับเป็นจุดเด่นของเมล็ดกาแฟอมก๋อย เรียกว่ากาแฟ Honey Fullmoon ซึ่งตอนนี้มีส่งจำหน่ายให้กับแบรนด์พันธุ์ไทย
กาแฟ ดาลูเปอร์ แม่ฮ่องสอน
ด้านกิจชญานันท์ ชมสนุก จากบ้านดูลาเปอร์ จ.แม่ฮ่องสอน หรือในวงการกาแฟเรียกว่า “แดง ดูลาเปอร์”
แดง ดูลาเปอร์ กล่าวว่าส่วนตัวชอบกาแฟมาก แต่ไปลิ้มลองที่ไหนก็ไม่ถูกใจ จนมีความคิดอยากพัฒนากาแฟให้ถูกใจตนเอง ซึ่งเริ่มจากเข้าไปส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกกาแฟเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เริ่มต้นที่บ้านดูลาเปอร์ ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ช่วยตั้งแต่สอนอบรมการปลูก ดูแล ตลอดจนเก็บเกี่ยว ทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะทำให้กาแฟจากดูลาเปอร์ ราคาสูงขึ้นให้ได้
“เพิ่มมูลค่ากาแฟจากดอยสูงแห่งนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย ลองผิดลองถูกกว่า 3-4 ปี กว่าจะลงตัว พัฒนามาเรื่อยๆ จนสามารถคว้ารางวัลการประกวดกาแฟระดับประเทศบนเวทีต่าง ๆ ช่วยสร้างชื่อให้กาแฟดูลาเปอร์เป็นที่รู้จัก ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกยกระดับคุณภาพชีวิต จากเดิมเคยมีรายได้จากการปลูกกาแฟแค่หลักพันบาทต่อปี ทุกวันนี้ บางครอบครัวมีรายได้สูงถึงหลักแสนบาทต่อปีแล้ว”
แดง กล่าวต่อว่า ไม่ใช่แค่ไปยกระดับเมล็ดกาแฟ ช่วยเกษตรกรต้นน้ำเท่านั้น ในกระบวนการ กลางน้ำ ในขั้นตอนสีเมล็ดกาแฟ จนได้รับความสนใจ จากลูกค้าคอกาแฟพันธุ์แท้ รวมถึงร้านกาแฟที่ต้องการกาแฟชั้นพรีเมียม มาจับคู่ธุรกิจและสั่งออเดอร์จำนวนมาก
กาแฟจากดอยช้าง สานต่อไร่กาแฟของบรรพบุรุษ
ขณะที่อัคคเดช เปียวเชกู่ นักสร้างสรรค์กาแฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจาก หมู่บ้านดอยช้าง จ.เชียงราย กล่าวว่า โดยส่วนตัวชอบที่จะเป็นนักทดลองกาแฟแห่งบ้านดอยช้าง เป็นลูกหลานเกษตรกรที่เกิดและเติบโตในไร่กาแฟ เห็นกาแฟมาแต่เด็ก ได้ริเริ่มความคิดที่จะทำกาแฟของตนเองขึ้นมา โดยเรียนรู้การปลูกกาแฟจากการศึกษา ค้นคว้า และการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง พื้นที่ปลูกกาแฟดอยช้างอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ซึ่งเป็นจุดที่ดีในการปลูกกาแฟอาราบิกา ดอยช้างเป็นแหล่งส่งเสริมการปลูกกาแฟมาตั้งแต่แรก ทำให้ที่นี่มีความหลากหลายทางด้านสายพันธุ์
“ผมนำพันธุ์กาแฟที่มีอยู่อย่างหลากหลาย มาแปรรูปเพื่อปรับปรุง คุณภาพ ให้กลายเป็นกาแฟเกรดพิเศษขึ้น ที่สำคัญการปลูกกาแฟไม่มีการใช้สารเคมี เพื่อเป็นการรักษาจุลินทรีย์ อินทรีย์วัตถุที่อยู่ตามหน้าดินให้คงอยู่ นอกจากนี้ยังมี การปลูกไม้เสริมเพื่อให้เป็นพืชพี่เลี้ยง และไม่มีการตัดต้นไม้ในป่า เพื่อให้ ต้นไม้เหล่านี้เป็นไม้บังร่มเงาให้กับกาแฟ”
กาแฟดริปพันธุ์ไทยจากหลากหลายแหล่งปลูก
ทั้ง 3 เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมโปรเจกต์ “กาแฟดริปพันธุ์ไทย” ของ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด ที่ได้เลือก Coffee Master แถวหน้าของวงการกาแฟไทยกว่า 10 รายมาร่วมส่งกาแฟจาก 10 แหล่งปลูกรังสรรค์ออกมาเป็นคอลเลคชันสุดพิเศษ Limited Edition พร้อมเชิญศิลปินคนรุ่นใหม่ร่วมดีไซน์งานอาร์ตบนกล่องบรรจุภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวของทุกหยดกาแฟที่ขับเคลื่อนพลังดีๆ
คิดเรื่องกาแฟเป็นเรื่องสุดท้าย คิดเรื่องป่าเป็นเรื่องแรก
พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี กล่าวว่า PTG มุ่งมั่นถ่ายทอดแนวคิด ให้คิดเรื่องกาแฟเป็นเรื่องสุดท้าย ให้คิดเรื่องป่าเป็นเรื่องแรก โดยมีภารกิจในการส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร ด้วยแนวทางการปลูกกาแฟควบคู่กับการอนุรักษ์ป่าไม้
ซึ่งในปี 2566 PTG ร่วมมือกับ กรีโนเวท ส่งเสริมเกษตรกรในตำบลปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ผ่านโครงการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิกาบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นการปลูกกาแฟที่กลมกลืนกับระบบนิเวศป่าไม้ พร้อมพัฒนาพื้นเขาหัวโล้น ให้กลายเป็นพื้นที่ป่ากาแฟที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งแนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้การเกษตร และการอนุรักษ์ดำเนินควบคู่กันไปได้ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้าร่วม 24 ราย ปลูกกาแฟ 68,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 200 ไร่
ปัจจุบันมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟไปแล้ว 1,400 ไร่ รวม 420,000 ต้น โดยมีเกษตรกรกว่า 400 รายเข้าร่วม โดยมีเป้าหมายคือการรับซื้อกาแฟสารให้ได้ 8,000 ตัน จากพื้นที่กว่า 55,000 ไร่ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 10,000 ครัวเรือน ภายในระยะเวลา 5 ปีนี้
ล่าสุด PTG ยังดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับ 3 หน่วยงานในการพัฒนาพื้นที่ป่า และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ร่วมมือกับ กรมป่าไม้ ในการจัดหาพื้นที่ปลูกกาแฟ ไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ ต่อเนื่อง 3 ปี และร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ด้านการสนับสนุนแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับเกษตรกร โดยกาแฟอาราบิก้าจากความร่วมมือดังกล่าว จะถูกส่งตรงไปยังร้านกาแฟพันธุ์ไทย โดยรับซื้อผลผลิตตามคุณภาพ ปริมาณ และราคาอย่างเป็นธรรม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมดุลและยั่งยืน
บทบาทกาแฟสำคัญต่อการอนุรักษ์ป่าไม้
กาแฟมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้ เพราะนอกจากจะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วม ด้วยการมีต้นไม้ และดินดูดซับน้ำ นอกจากนี้กาแฟยังสามารถช่วยลดปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ฝุ่นควัน PM 2.5 จากการเผาป่า การปลูกกาแฟจึงสามารถช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์ และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่สำคัญผลผลิตของกาแฟยังสามารถให้ผลตอบแทนในระยะยาวถึง 10 – 20 ปี และมีรายได้ที่ดีกว่าพืชชนิดอื่น จึงช่วยสร้างอาชีพ และความเป็นอยู่ที่ดีให้ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืนต่อไป
นักสร้างสรรค์กาแฟ สร้างคุณค่าผืนป่า
สุขวสา ภูชัชวนิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า PTG คือต้นน้ำ ในการวางรากฐานของการอนุรักษ์ฟื้นฟูผืนป่าให้สมบูรณ์ และส่งเสริมการปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ กาแฟพันธุ์ไทย คือปลายน้ำในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร ช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ โดยไม่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานในเมืองใหญ่ สร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน
“สำหรับ กาแฟดริปพันธุ์ไทย คอลเลคชันนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจาก 10 นักสร้างสรรค์กาแฟไทย ที่มีจุดร่วมเดียวกันคือ การสร้างคุณค่าให้กับผืนป่า เพราะพันธุ์ไทยมองว่า กาแฟ ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องดื่ม แต่เป็นของขวัญจากธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะทุกเมล็ดพันธุ์จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การปลูก การคัดสรร การผลิตอย่างละเมียดละไม พิถีพิถัน จนได้รสชาติ และกลิ่นหอมที่แตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ พร้อมส่งต่อพลังการขับเคลื่อนผ่านดริปทุกหยดของกาแฟ สร้างแรงกระเพื่อมสิ่งดีๆ ให้ชีวิตมากมาย สร้างชีวิต สร้างรายได้ ให้เกษตรกรและชาวบ้าน สร้างพื้นที่ป่า ฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เป็นหยดของวงคลื่นที่สร้างพลังดีๆ กระจายออกไป สานต่อความตั้งใจสู่มรดกแห่งความยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลังจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป”