ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้มีทุนทางใจ เป็นฮีโร่ปกป้องและพัฒนาบ้านเกิด

by บุษกร สัตนาโค, 14 กันยายน 2567

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้ใช้ทุนทางใจ เป็นฮีโร่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิด พัฒนาชุมชนจน ก่อตั้ง ‘Banana Land’ ดินแดนกล้วย ๆ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน

 

 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมืองเลยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้กับ ‘ลักขณา แสนบุ่งค้อ’ ไม่น้อย เพราะภาพที่เห็นตรงหน้าในตอนนั้นไม่ว่าจะมองไปทิศทางไหน ก็เห็นแต่ความเละเทะ บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ธรรมชาติได้สร้างบทเรียนครั้งใหญ่ จนทำให้เธอไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ จึงจุดประกายความคิดที่ทำให้อยากจะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิดของตนเอง โดยเฉพาะแหล่งต้นน้ำที่มีภูเขาใหญ่ 2 ลูก ที่ตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นบ้านที่พ่อแม่ของเธออาศัยอยู่

ไม่เพียงเท่านั้น ลักขณา ยังได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อหวังจะพัฒนาชุมชนของตนเองให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการชวนเด็ก ๆ อดออมเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงสร้างงานอาชีพให้กับคนในชุมชน จนกลายมาเป็น ‘Banana Land’ ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อชุมชนในปัจจุบัน ที่เธอพยายามปลุกปั้นหลังจากได้ไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมตามโครงการต่าง ๆ มา

-พาพ่อแม่กลับสู่บ้านคืนความอบอุ่นให้เด็กในชุมชน

ลักขณา เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นลูกจ้างในหน่วยงานรัฐ ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องยุติความรุนแรง ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคม ตอนนั้นได้มีการถามถึงปัญหาของเด็กๆ ในชุมชนว่าพวกเขาพบปัญหาอะไรบ้าง เด็ก ๆ ให้คำตอบมาว่า เรียนหนังสือไม่เก่งบ้าง มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรบ้าง ซึ่งปัญหาที่กล่าวมา พวกเขาต่างโยนความผิดให้พ่อแม่หมดเลย

จึงถามเด็ก ๆ กลับไปว่าทำไมถึงโยนความผิดให้พ่อแม่?

เด็ก ๆ บอกว่าเพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับพวกเขา ทำให้ขาดความอบอุ่น

จึงถามต่อว่า พ่อแม่ออกจากบ้านไปทำอะไร?

เด็ก ๆ ตอบว่า ไปหาเงิน

ก็เลยถามอีกว่า แล้วหาเงินให้ใครใช้ล่ะ ก็ให้ลูกไง

พร้อมกับบอกกับเด็ก ๆ ว่า เหตุผลที่พ่อแม่ต้องออกจากบ้านไป ไม่ใช่ว่าเขาไม่รักเรา แต่เขามีเรา ก็ต้องดูแลเรานะ

“จากตรงนั้น ก็เลยมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ให้พ่อแม่กลับมาอยู่กับลูก คำตอบที่ได้คือมันต้องมีอาชีพในชุมชนที่สามารถเลี้ยงปากท้องได้จริง ๆ นี่คือสิ่งแรกที่อยากจะแก้ปัญหาโดยพาพ่อแม่กลับคืนมาให้เด็ก ๆ”

 

 

 

-ใช้แนวคิด 4 ออม

ลักขณา เล่าต่อว่า จากแนวคิดที่อยากจะพาพ่อแม่กลับบ้านมาหาเด็ก อย่างแรกที่ทำคือการตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า ‘ชวนน้องออม’ ในปี 2550 ทำ 4 ออม คือ ‘ออมเงิน ออมเด็ก ออมเวลา และออมบ้าน’

สำหรับออมเงินเป็นเรื่องที่ทำง่ายสุด เพราะว่าเด็ก ๆ ยังหาเงินไม่เป็น ก็เลยต้องบอกให้พวกเขาใช้เงินให้น้อยลง ให้รู้จักใช้ รู้จักเก็บออม เวลาจำเป็นต้องใช้เงินก็จะเอาส่วนนี้ไปใช้ได้

ส่วนออมเด็ก คือ ซัพพอร์ตศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่เด็กคนนั้นต้องการเพราะบางครั้งผู้ใหญ่มีแต่ให้ แต่ไม่ได้ถามเด็ก ๆ เลยว่าเขาต้องการหรือป่าว เราจะต้องถามเด็ก ๆ ก่อนว่า อยากทำอะไร แล้วค่อยสนับสนุน

 

 

ส่วนออมบ้าน เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะว่าบ้านของเราติดภูเขา แล้วมันมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดเลยมาก่อนเมื่อปี 2548 แล้วเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ก็เลยอยากจะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ส่วนออมเวลาคือ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ให้เด็กสร้างรายได้ด้วยตนเอง ก็พยายามชวนเด็ก ๆ ลองผิดลองถูก พยายามหาเงิน ต้องบอกว่าส่วนนี้ทำยาก ทำผิดทำถูก ก็ไม่ได้ สำเร็จเท่าไหร่ จนผ่านมาปี 2558 ก็เริ่มมาสร้างแบรนด์ Banana Family นำกล้วยมาแปรรูปสินค้า เพราะเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาง่ายที่สุด ซึ่งตอนนี้ก็ยังคงทำแบรนด์นี้อยู่ ช่วยสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างพอเพียง ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยของแบรนด์ Banana Family นั้น เป็นกล้วยที่ผลิตเองและปลอดสารพิเศษ มีทั้งขนมขบเคี้ยวในรูปแบบ “กล้วยเส้น” ที่เป็นเมนูเด่นขายดี และขนมกล้วยรสชาติต่างๆ เช่น รสปาปริก้า รสสาหร่าย และบาร์บีคิว กลายเป็นของดีอำเภอภูหลวงไปแล้ว

 

 

 

-รวมคนไม่ยากเท่ากับสร้างรายได้ ต้องมีเป้าหมาย

ลักขณา เล่าต่อว่า พอมาถึงปี 2561 เริ่มปั้นโมเดล Banana Land ขึ้นมา ซึ่ง Banana Land มีแนวคิดคือรวมคน คิดอะไรก็ได้ ง่าย ๆ กล้วย ๆ เก่งแต่ละอย่างเอามารวมกัน เช่น คนเก่งจักรสาน เก่งทอผ้า ทำที่ตัวเองถนัดแล้วเอามารวมกัน กลายเป็นท่องเที่ยวชุมชน เราพยายามส่งเสริมให้ทุกคนเท่าเทียมกัน

เราทำงานอาสามาก่อน แล้วเราไม่เคยขายของ การรวมคนไม่ยากเท่ากับการสร้างรายได้ เพราะที่ผ่านมาเราทำอาสามาตลอด ขายของไม่เป็น เจ๊งไปเลย แต่มีโอกาสได้ไปเรียนแสวงหาความรู้เรื่องการตั้งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ไม่ว่าจะกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล หรือโครงการบ้านปู Banpu Champions for Change (BC4C) รุ่นที่ 10 พร้อมได้เงินทุนจำนวนหนึ่งมาจากโครงการ BC4C มาพัฒนาชุมชน ก็เอามาต่อยอดทำนู่นทำนี่ ถึงมีรายได้จริงจัง เพราะโครงการนี้สอนให้เรารู้จักวางเป้าหมาย และหาสิ่งที่เรามีในชุมชน เติมจุดที่มีให้กลายเป็นจุดแข็ง มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาส ก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนธุรกิจเริ่มเข้มแข็ง

-Banana Land ดินแดนกล้วย ๆ

ต้องบอกว่า Banana Land ที่เราพยายามปั้นก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จนตอนนี้กลายเป็นธุรกิจ
ท่องเที่ยวชุมชน ที่มีสินค้าและบริการ 4 อย่าง คือ

1.ที่พัก โฮมสเตย์ที่ตั้งธงว่าต้องเป็น 6 ดาว ซึ่งไม่มีใครทำมาก่อน เราก็เอาของที่มีในชุมชนทั้งหมดมาไว้ในโฮมสเตย์ เช่น รองเท้าสลิปเปอร์ ผ้าห่ม ผ้าคุลมเตียง ตะกร้าผ้า ใช้แล้วซื้อกลับไปได้เลย ทุกอย่างทำจากฝีมือของชุมชน โดยวัสดุในชุมชน

2.กิจกรรม ท่องเที่ยวชุมชน พาไปบ้านคุณตา คุณยาย ไปดูกลุ่มทอผ้า ไปจักรสาน ไปสปา

3.อาหารพื้นบ้านท้องถิ่น อาหารอีสาน

4.สินค้า จากแบรนด์ต่าง ๆ หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้หลาย ๆ แบรนด์ หลาย ๆ แห่งที่มาฝาก Banana Land ขาย

 

 

 

“พวกเราค่อนข้างเลือกกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ที่เป็น Need Market เพราะที่พักคืนละ 3,500-4,500 บาท ถือว่าแพงสุดในอำเภอ ทั้งยังเป็นสถานที่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กม.ลงเครื่องบินจากสนามบินนั่งรถประมาณ 30-50 นาที ก็มีคนทยอยเข้ามาเยอะพอสมควร มองว่าน่าจะเติบโตได้อีก”

-รณรงค์ไม่เผาฟางในชุมชน

ลักขณา ยังเล่าอีกว่า นอกจากเรื่องท่องเที่ยว ส่วนตัวยังได้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพราะในอดีตเคยเจอเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จังหวัดเลย น่าจะประมาณปี 2548 ภาพของตอนนั้นที่จำได้ เราขาดการติดต่อกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่อยู่ในหมู่บ้าน เราออกจากบ้านวันอาทิตย์มาอยู่ในตัวเมือง จังหวัดเลย แล้ววันจันทร์น้ำมันท่วม เรากลับบ้านไม่ได้เลย แล้วที่น่าเศร้ากว่านั้น หลังจากที่น้ำลด มองไปทางไหนก็สภาพเมืองเลยก็เละเทะหมด เราเลยรู้สึกว่าบ้านเราที่อยู่ใกล้ภูเขา ซึ่งเป็นต้นน้ำ ถ้าไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย

 

 

มันไม่ใช่แค่คนในหมู่บ้านที่โดนผลกระทบ แต่คนในเมือง ปลายน้ำ โดนหมด เราเลยเอาความคิดนี้ จากเหตุการณ์ที่เราเจอวิกฤติ มาเล่าให้เด็ก ๆ ฟังว่า พี่ไม่อยากให้น้อง ๆ มาเจอเหตุการณ์ที่พี่เจอ เพราะตอนน้ำท่วมภูเขา สไลด์ เสียงดังแรงมาก ทุกวันนี้ที่ภูเขาสไลด์หญ้าก็ขึ้นนิดเดียว มันพังไปแล้ว และจะปลูกต้นไม้เสริม ก็ใช้เวลานานกว่าจะโต

“ด้วยความที่ชุมชนเราทำเกษตร ทำนา เป็นหลัก หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านจะเผาฟางอย่างเดียวเลย พวกเขาไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่ผิด แต่เรามองว่ามันกระทบสิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ แต่คนในชุมชนเขามองว่า ปากท้องสำคัญกว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่องนี้หรอก”

 

 

 

ทุกวันนี้เราก็ยังมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า เกิดภัยแล้งบ้าง แต่ละปีวิกฤตไม่เหมือนเดิมเลย เรารู้สึกว่าจะทำอย่างไรให้ชุมชนเลิกเผาฟาง ก็คิดแก้ไขเชิงบวก จนกระทั่งระดมไอเดียกับเด็ก ๆ เอาฟางมาทำเป็นสวนสนุก ก็เลยไปขอชาวบ้านว่าอย่าเผาฟางนะ เอาฟางมาทำสวนสนุก ปราสาทฟางที่มาจากกองฟางหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว กลายเป็นแลนด์มาร์ก ต่อยอดเรื่องท่องเที่ยวไปได้อีก

พร้อมกับส่งเสริมชุมชนทำเห็ดฟาง ทำเห็ดฟางโดยไม่ต้องใช้เชื้ออะไรเลย คือวางฟางให้เจอดิน เจอแดด เจอฝน ที่เหลือ เห็ดจะเกิดเอง ไม่เพียงเท่านี้ก็มีโครงการรับซื้อฟางจากชาวบ้าน เอามาขายเป็นมัด แลกผักหนึ่งต้น สมมติครอบครัวนึง มัดฟางมาได้ 800 มัด ก็มาแลกต้นผักได้ 800 ต้น ประหยัดค่าซื้อผักไป 800 บาทแล้วเอาไปปลูกได้ 800 ต้น ถ้าปลูกแล้วเอาไปขายก็คูณ 20 นั่นคือรายรับที่เขาจะทำได้

-ทุนทางใจ สู่ฮีโร่ปกป้องบ้านเกิด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ลักขณาทำเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เธอบอกว่ามีหลายอย่างที่ทำในพื้นที่บ้านเกิดของเธอ พร้อมกับบอกอีกว่า ในอดีตนั้นเคยมาทำงานกรุงเทพฯ แค่เดือนเดียวเท่านั้น เพราะมีความมุ่งหวังว่าสามารถสร้างงานสร้างอาชีพอยู่บ้านได้ แต่ต้องใช้พลังเยอะหน่อย ทั้งต้องอดทนกับคำพูดคนอื่น ๆ และทนกับการลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่ได้มีทุนอะไรเลย มีอย่างเดียวคือ ‘ทุนทางใจ’ ที่จะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพได้อย่างมั่นคง

“การที่คนไปเรียนที่ไหนมาก็ตาม แล้วได้ความรู้แล้วกลับมาพัฒนาชุมชน คือฮีโร่ที่ปกป้องพื้นที่ เพราะเราเห็นชุมชนใกล้เคียง พอเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ไม่อยู่บ้าน เราถูกเอารัดเอาเปรียบมาก ๆ เรื่องทรัพยากร เหมือนทุกคนต้องการใช้แค่ทรัพยากร แต่ไม่เคยปกป้องทรัพยากร เราคนอยู่บ้านก็เหมือนได้ปกป้องประเทศของเราด้วย ซึ่งก็อยากเป็นกำลังใจให้คนที่อยากจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง รีบลงมือ และอดทนจนกว่าจะสำเร็จด้วยดี”


เครดิตภาพ : เพจ บานาน่าแลนด์ -Banana Land ดินแดนกล้วย ๆ