ส่องแนวคิด ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ปั้นแบรนด์ Qualy กว่า 20 ปี ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

by บุษกร สัตนาโค, 11 สิงหาคม 2567

ส่องแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ‘ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ (Qualy) กว่า 20 ปี ชุบชีวิตวัสดุเหลือใช้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์จำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ

 

 

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นใหญ่ แนวคิดการทำธุรกิจที่ยั่งยืน จึงเกิดขึ้นกับหลาย ๆ องค์กร หนึ่งในนั้นคือ แบรนด์ควอลี่ (Qualy) แบรนด์ไทยที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการชุบชีวิตวัสดุเหลือใช้ มาดีไซน์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่แนวไลฟ์สไตล์ สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งของใช้ในครัวเรือน ห้องน้ำ ของแต่งบ้าน ฯลฯ ซึ่งแบรนด์นี้ก่อตั้งโดย ‘ไจ๋ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์’ ที่นำความถนัดด้านออกแบบมาเพิ่มคุณค่าให้กับวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว

ธีระชัย ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ ขึ้นมาตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนที่ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งก็คือ แนวคิดที่สนับสนุนให้เราใช้สิ่งของ หรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด มีการวางแผนให้สิ่งของที่ใช้แล้วสามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ถือเป็นแนวทางลดการใช้ทรัพยากรใหม่ เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต รวมถึงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้จากวัสดุเหลือทิ้ง

 

 


- จุดเริ่มต้นแบรนด์

ธีรชัย เล่าว่า เริ่มคิดสร้างสรรค์ ออกแบบผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันนี้ก็ครบ 20 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติก และด้วยความที่เรียนด้านงานออกแบบมา โดยจบการศึกษาจากสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม หรือ Industrial design คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงเกิดไอเดียเริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทไลฟ์สไตล์ ของใช้ทั่วไป

“ตอนเริ่มแรก ๆ ผมยังไม่ได้คิดเรื่องความยั่งยืนหรือรักษ์โลก เน้นแค่ว่าเอาทักษะการออกแบบที่ตัวเองมี รวมกับประสบการณ์การทำงานในโรงงานของครอบครัว มาทำงานออกแบบ สร้างผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติก โดยเป็นการใช้วัสดุจากพลาสติกใช้แล้ว

จำได้ว่าผลงานออกแบบชิ้นแรกผมทำเหยือกแก้วน้ำ เพราะคิดว่าเป็นของที่ทุกบ้านใช้ พัฒนาให้เป็นแก้วที่ใส่น้ำเย็นแล้วไอน้ำไม่เกาะ จะได้ไม่ต้องเช็ดโต๊ะบริเวณที่ตั้งแก้ว และก็ได้ลองนำผลิตภัณฑ์จากซีรีส์นี้ที่มีทั้งเหยือก ถาด และจานรองแก้ว ไปออกงานแสดงสินค้าระดับประเทศ มีคนสนใจจำนวนมากจนมีห้างสรรพสินค้าติดต่อนำผลิตภัณฑ์ไปวางขาย ถือว่าประสบความสำเร็จในยุคนั้น จากนั้นผมก็ค่อย ๆ ปรับให้ผลงานแต่ละชิ้นเริ่มใส่สตอรี่ เล่าเรื่องราวลงไป พอทำมาเรื่อย ๆ ผมก็เริ่มอินกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ”

 

 

 

-อะไรทำให้อินกับสิ่งแวดล้อมจนพัฒนาสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน?


ธีรชัย กล่าวว่า มีทั้งปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งปัจจัยภายนอกคือเรื่องพลาสติก ที่คนมองว่าเป็นผู้ร้ายในสังคม แล้วธุรกิจที่บ้านก็เป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนพลาสติก ก็เลยทำให้ธุรกิจของครอบครัวเราถูกมองว่าคือปัญหา ส่วนปัจจัยภายในคือผมไม่อยากเป็นส่วนร่วมในการทำร้ายโลก ทำลายทรัพยากร จึงหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ศักยภาพที่เรามีมันเป็นโซลูชั่น เราก็เลยหันมาสร้างสรรค์การจัดการขยะ และจริงจังกับวัสดุเหลือใช้มากขึ้น


-หัวใจหลักสร้างผลิตภัณฑ์ คืออะไร?


ทั้งนี้ ธีรชัย กล่าวต่อว่า ตอนนี้สินค้าของแบรนด์มีมากกว่า 400 อย่างแล้ว แนวคิดของการสร้างผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของผม จะเป็นเรื่องความยั่งยืน เน้นการใช้วัสดุที่ใช้แล้วกลับมาสร้างคุณค่า เพิ่มมูลค่าใหม่

 

 

“ในแบรนด์ควอลีเรามีทีมนัดออกแบบดีไซน์ด้วยกันประมาณ 6 คน เราเน้นแนวคิดคือความยั่งยืน เน้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เป็นยูนีค ไม่ใช่ทำในสิ่งที่เขาทำกันมาแล้ว เพราะเราต้องการความเป็นต้นแบบ สร้างสิ่งใหม่นำเสนอสู่สังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็น study ทดลองว่า วัสดุบางอย่างสามารถสร้างเป็นแบบนี้แบบนั้นได้ เปรรียบเสมือนหาช่องทาง ประตูบานใหม่ ที่จะเปิดไปสู่ความยั่งยืน ทุกครั้งที่ออกแบบจะพิจารณาจาก 3 เรื่องเป็นหลัก ได้แก่ การใช้งาน การเป็นของประดับตกแต่งได้ และรูปทรงที่ต้องเล่าเรื่องโดยเชื่อมโยงกับฟังก์ชั่น


แบรนด์ ได้นิยามตนเองไว้แบบสั้นๆ และเข้าใจง่ายว่า “เป็นแบรนด์ดีไซน์สัญชาติไทยที่เชื่อในพลังของการออกแบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไปพร้อมๆ กับการปกป้องโลก ปรัชญาของเราคือการเคารพในธรรมชาติในขณะเดียวกันก็พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ทำให้เรามุ่งมั่นออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมีความคิดสร้างสรรค์และประโยชน์ใช้สอยเต็มที่ เพื่อสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับทุกคน และตั้งใจปวารณาตนให้เป็นแบรนด์ดีไซน์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน”

 

 

 

-ช่องทางจำหน่ายเน้นออนไลน์
ตลาดเกาหลีมาแรง

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ของควอลี่ จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อก่อนเคยขายอยู่ในห้างสรรพสินค้า แต่พอโควิด-19 มา ก็เลยทยอยออก เพราะต้นทุนสูง และที่สำคัญการค้าขายบนออนไลน์เป็นที่นืยม จึงทำให้เราเน้นช่องทางออนไลน์ และจำหน่ายในหลายประเทศ โดยตลาดที่มีความสนใจผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นยุโรป เนเธอแลนด์ สแกนดิเนเวียร์ ส่วนฝั่งเอเชียจะเป็น ญี่ปุ่น จีน ปัจจุบันเกาหลีใต้ ประมาณ 2 ปีหลังตลาดเริ่มดี ปัจจัยเกิดอะไรก็ยังไม่ทราบชัด

 

 

 

-มองตลาดสินค้ารักษ์โลกอย่างไร?

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้ามองย้อนกลับไปตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ธีรชัยบอกว่ายอดจำหน่ายมีขึ้น ๆ ลง ๆ บ้างตามทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งผมมองว่าน่าจะโตได้อีกเรื่อย ๆ เหตุผลที่มองว่าตลาดโตขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะมาจากความพินาศของอะไรต่าง ๆ ที่อาจเป็นตัวเร่งทำให้ตลาดโต เช่นมาตรการเข้มงวด ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีกฏเกณฑ์หลาย ๆ ด้านออกมา ทิศทางเรื่องรักษ์โลกก็จะไปเรื่อย ๆ ใครที่ทำตั้งแต่วันนี้ แล้วยังแอคทีฟอยู่ จะยังใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดได้ แต่ถ้าใครทำในช่วงที่ทุกคนต้องทำแล้ว หรือทำแค่ตามกฏหมายอาจจะยากหน่อย

-พฤติกรรมผู้บริโภคเลือกคุ้มค่าก่อน ค่อยมองความยั่งยืน

ผมมองว่าคนยังคงรักษาผลประโยชน์ของตนเอง หมายความว่า “ฉันซื้อของ ฉันก็ต้องคุ้ม ฉันอยากได้ของสวย ของใช้งานดี ทนทาน” แต่ตอนนี้ ณ วันนี้ เรื่องความยั่งยืน รักษ์โลกจะเป็นของแถม เหมือนกับได้ของคุ้มค่าและยั่งยืนด้วย จะเป็นผลดี

 

 


ดังนั้นการจะทำให้ธุรกิจประเภทนี้อยู่รอด ต้องเอาสิ่งที่อยู่ข้างหลังมาไว้ข้างหน้า เพราะคนทั่วไปมองของจากสิ่งที่เห็น แต่สิ่งที่ไม่เห็นคือกระบวนการ ยกตัวอย่าง ล่าสุดที่ผมได้ร่วมทำงานกับอุตสาหกรรมความงามอย่าง เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในคลินิกความงาม ที่เขาอยากจะนำหัวอัลเทอร่า สำหรับหัตถการยกกระชับใบหน้า ที่ใช้แล้วในคลินิก มาสร้างสิ่งใหม่ให้ไปสู่ Zero Waste to Landfill

กระบวนการทำงานของเมิร์ซคือ รวมพาร์ทเนอร์ คลินิก มีการทำวิจัย ดีไซน์ ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแบรนด์ควอลี่ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้นำหัวอัลเทอร่า มาแปลงเป็นถังอเนกประสงค์ใช้งานได้ในบ้าน

“ถ้าเราดีไซน์อย่างเดียวไม่พูดอะไรเลย คนก็จะมองที่ผลิตภัณฑ์ รูปลักษณ์ความงามภายนอก แต่พอเห็นกระบวนการ ก็จะเห็นว่าคุณค่ามันอยู่ในกระบวนการ แล้วคนจะเห็นว่าธุรกิจมีความรับผิดชอบมากแค่ไหน คนจะเริ่มรู้มากขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลาหน่อย”

 

 

 

-ทิศทางของแบรนด์เป็นอย่างไรต่อไป

ตอนนี้คนยังจำฮาร์ดแวร์ของเรา จำกายหยาบเรา แต่เราอยากให้จำซอฟท์แวร์หรือแนวคิดของเรา มากกว่า เพราะต่อไปเราจะไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราต้องเป็นผู้ผลิตแล้ว เราจะเอาความคิดของเราไปอยู่ในวงการต่าง ๆ เช่น นอกจากวงการหัตถการความงาม ก็จะเริ่มไปใกล้ชิดกับวงการแพทย์แล้ว ด้วยการทำดีไซน์สิ่งของจากอุปกรณ์ CPR หรือแม้แต่วงการเกี่ยวกับศิลปะ หรือวงการที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ จะมีผลิตภัณฑ์เชิง inclusive ที่ผู้พิการสามารถใช้ด้วยกันได้ ฯลฯ

เราก็พยายามดูแนวทางจาก SDGs ว่ามันมีมิติไหนบ้างที่เราจะทำได้ เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มีหัวข้อมากมาย เราก็ต้องเลือกที่สนใจ และถนัด ส่วนวัสดุ จะเป็นของเหลือใช้อะไรก็ได้ ไม่จำกัดแค่ว่าเป็นพลาสติกอย่างเดียว และต้องเป็นวัสดุที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ เพราะเป้าหมายแบรนด์เราไม่อยากใช้ทรัพยากรใหม่

 

 

 

ส่วนเรื่องการขยายตลาด เราเน้นออนไลน์แล้ว ถ้าอยู่ในห้างต้นทุนเราจะจม เราเน้นอินคลูสิฟ พยายามไม่ล็อกกับใครโดยตรง ไม่เช่นนั้นความร่วมมือจะขัดแย้ง ถ้าเราร่วมกับบคนนี้แล้ว ร่วมกับอีกคนไม่ได้ กลายเป็นว่าที่ทำอยู่มันจะยั่งยืนได้ไหม

ธีรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องโลกร้อน เราอาจจะมีเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีจำนวนมาก แต่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผมใช้อยู่ประจำ ผมเชื่อว่า นักออกแบบที่มีอยู่ในประเทศเรามีศักยภาพในการออกแบบที่จะมาช่วยบรรเทาโลกร้อนได้ ผมก็พยายามที่จะชวนนักออกแบบทั้งหลายมาร่วมกันคิดและทำสิ่งดี ๆ อย่าให้คุณค่าเราเป็นการทำแค่ของสวยๆ เรามาสร้างการเปลี่ยบนแปลงที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งนักออกแบบมีศักยภาพทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ความสนใจอาจจะมุ่งไปที่ความงามเป็นหลัก


ที่มาภาพ : เว็บไซต์ qualydesign.com , เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย