กิตตินันท์ ธรมธัช ผู้อยู่เคียงข้างศักดิ์ศรี ทุกเพศสภาพคือเพื่อนมนุษย์ต้องได้รับความเป็นธรรม

by บุษกร สัตนาโค , 7 กันยายน 2567

เรื่องเล่าของ ‘กิตตินันท์ ธรมธัช’ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กับการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของมนุษย์ แม้โลกจะยอมรับความหลากหลาย แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังมีอยู่มาก

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน ประเทศไทยยังไม่ได้เปิดกว้างสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือชายรักชาย เท่าไหร่นัก หลายคนยังมีทัศนคติต่อคนกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มคนเบี่ยงเบนทางเพศบ้าง วิปิริตทางเพศบ้าง เคราะห์ร้ายซ้ำเมื่อโลกพบผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเอชไอวีรายแรกที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2524 และพบรายแรกในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2527 จึงทำให้เกิดการต่อต้าน และการที่คนจะเปิดใจยอมรับ เป็นเรื่องยากมาก ๆ ในสมัยนั้น

 

 

เพศสภาพไม่ใช่โรคจิต

เรื่องเล่าจาก กิตตินันท์ ธรมธัช หรือ แดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่เขาพยายามต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ในเมืองไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ได้เป็นแกนนำในการเปลี่ยนคำว่า ‘โรคจิตถาวร’ ในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ (สด.43) ให้เป็นคำว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ เพื่อยุติการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนข้ามเพศ และในปี พ.ศ. 2558 ได้เป็นส่วนหนึ่งผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 รวมทั้งเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีต่าง ๆ ของกลุ่ม LGBTQ และยังได้เป็นส่วนหนึ่งเข้าไปยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาไทยในวิชาสุขศึกษา ของนักเรียนมัธยมต้น หัวข้อเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศ ที่มีเนื้อหาสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งก็พยายามที่จะเข้าไปแก้ไขว่าโลกสากลยอมรับแล้ว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และยังเสริมเรื่องสุขภาวะอื่น ๆ การป้องกันจากเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ในหลักสูตรการศึกษาไทย

 

 

-จากนักธุรกิจ ผันต่อมาต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

กิตตินันท์ เล่าว่า ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มตัว เดิมทำธุรกิจเกี่ยวกับบ้านจัดสรร และเคยทำธุรกิจบันเทิงหลายอย่าง เป็นแนวสปา ผับ ซาวน่า ฯลฯ แต่พอทำธุรกิจไปซักพัก ก็โดนดูถูก คนไม่ยอมรับ เพราะสมัยนั้นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ชายรักชาย LGBTQ ต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องใหม่ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นกลุ่มคนเบี่ยงเบนทางเพศ วิปริต ไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้การทำธุรกิจของตนไม่ราบรื่น จนต้องมีการขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยครั้ง

 

 

จนที่สุดด้วยความที่มีความรู้เรื่องกฏหมาย เพราะเรียนจบด้านนี้มาก็เลยอยากจะต่อสู้เรื่องสิทธิให้เป็นที่รับรู้ในสังคมว่า LGBTQ ไม่ได้ผิดปกติทางจิต เพราะถ้ามาดูตอนนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองแล้วว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่คนวิปริต และได้ประกาศถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมในบัญชีจำแนกโรคสากล ฉบับที่ 10 (ICD-10) และบรรจุใหม่ใน ICD-11 ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศแทน จึงถือว่าไม่ใช่คนเบี่ยงเบนทางเพศ แต่เป็นภาวะของมนุษย์คนนึงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อีกทั้งสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกา สมาคมจิตวิทยาอเมริกา ก็บอกว่า การมีรสนิยมรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นความผิดปกติใด ๆ

 

 

ไม่เพียงเท่านั้นกฏหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีมาหลายปีแล้วเรื่องของปฎิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ที่พยายามบอกมนุษย์โลกว่า ต้องเคารพศักดิ์ศรีกันและกัน และไม่เลือกปฏิบัติต่อความหลากหลายต่างๆ ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ ความคิดเห็นทางการเมือง หลักการทางศาสนา สภาพเศรษฐกิจ สภาพทางร่างกายต่าง ๆ นี่จึงเป็นที่มาว่าควรจะลุกขึ้นมาทำการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมต่าง ๆ

-สมาคมฟ้าสีรุ้ง 26 ปี พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชน

สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมากว่า 26 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 โดยคำว่า ‘ฟ้าสีรุ้ง’ หมายถึง ฟ้าที่มีสายรุ้งพาดหลังพายุฝนผ่านไป เสมือนสังคมที่ผ่านช่วงเลวร้ายเป็นสังคมที่ผ่านการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ แล้ว ซึ่งค่อย ๆ เติบโต จากชมรม มาเป็นองค์กร กระทั่งเป็นสมาคมฯ ในที่สุด

ภารกิจหลักคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนหลากหลากทางเพศในทุกเพศสภาพ ดูแลเรื่องเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ประเด็นเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การอนามัย การเจริญพันธ์ โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันดูแลเรื่องสิทธิมุษยชนด้วย เพราะมั่นใจว่าระบบสุขภาพ กับระบบสิทธิมนุษยชนต้องเป็นของคู่กัน

 

 

“ตนเองได้เข้ามาทำงานที่สมาคมฯ มองว่าเรื่องคุณภาพชีวิตและสิทธิมนุษยชนต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เชื่อว่าถ้าเราทำให้สิทธิของมนุษย์ เท่ากันได้ ก็จะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ยังไม่มี เพราะสิทธิบางครั้งที่อออกมาก็เป็นริดรอนสิทธิบางอย่าง เช่น กฏหมายชายหญิง ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศหญิง เพศชายอยู่”

-อายุ 60 ปียังมีแรงขับเคลื่อนต่อ กฏหมายรับรองเพศสภาพ เปลี่ยนคำนำหน้านาม

กิตตินันท์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าตอนนี้โลกจะขานรับเรื่องเพศมากขึ้น คิดว่าการต่อสู้เรื่องนี้ น่าจะขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงชีวิตที่เรายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งตอนนี้ตนอายุ 60 ปีแล้ว ยังพอมีแรงที่จะทำอยู่หลายเรื่อง อย่างล่าสุดเป็นที่น่าดีใจที่กฏหมายสมรสเท่าเทียมเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และตอนนี้กำลังยื่นกฏหมายการรับรองเพศสภาพในการเปลี่ยนคำนำหน้านาม แต่ที่ยังมีอีกเยอะเลยคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ แค่ชาย หญิงทั่วไปยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แล้วคน LGBTQ คนด้อยโอกาสจะเป็นอย่างไร

 

 

-โลกกำลังจ้องมอง บุคคลที่มีอัตลักษ์ทับซ้อน

ตอนนี้ยังพยายามขับเคลื่อนกฏหมายการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในประเด็น Intersectionality ซึ่งหมายถึงเด็ก เยาวชน คนพิการ ความหลากหลายทางเพศ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มคนชาติพันธุ์ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ คนไร้บ้าน ไร้สัญชาติ ผู้พ้นโทษเรือนจำ พนักงานบริการ ฯลฯ เหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติ

“ประเด็นสำคัญคือโลกมาถึงจุดที่การตอบรับประเด็นเรื่องของอัตลักษณ์ทับซ้อน Intersectionality เช่น LGBTQ คนนึงเป็นผู้สูงอายุที่มีความพิการ แถมยังมีเชื้อเอชไอวี คิดว่าประเด็นอัตลักษณ์ทับซ้อน เป็นประเด็นที่โลกกำลังจ้องมองอยู่ ฉะนั้นเราต้องขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลทุกรูปแบบ และสำคัญที่สุดคือเรื่องของการดูแลคุณภาพชีวิต

 

 

เพราะเวลานี้ประเทศไทย เวลาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ส่วนใหญ่จะเข้าไปในรูปแบบการสงเคราะห์และเยียวยามากกว่า ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยทำให้หลุดพ้นจากความเปราะบาง มาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ต่อให้ช่วยยังไง สุดท้ายก็ยังคงเป็นผู้เปราะบางอยู่ แล้วทำไมไม่ทำการส่งเสริม ทำให้คุณภาพชีวิตที่ดี และไปอยู่ในระนาบเดียวกับคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้โลกมีคนเปราะบางน้อยลง พอไม่มีคนเปราะบางแล้ว ต่อไปก็ต้องไปดูเรื่องความสามารถเขา ว่าทำอะไรได้บ้าง ถ้าเขามีความสามารถวันนึงเราอาจจะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนพิการก็ได้ เป็นคนชาติพันธุ์ก็ได้ ถ้าเราส่งสริมให้มนุษย์มีความเท่าเทียมกันได้ คิดว่าโลกน่าจะไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ Sustainability Development (SDG) แน่นอน”

 

 

-การต่อสู้ยากลำบาก แต่ทำต่อไป เมื่อคนยังไม่ได้รับความเท่าเทียม

นายกสมาคมฟ้าสีรุ้ง กล่าวด้วยว่า ณ เวลานี้ถ้าพูดถึงการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นตัวนำ ก็จะไม่ได้ผลตอบรับที่ดีจากรัฐบาลเท่าไหร่ แต่ถ้าพยายามเอาเรื่อง SDG ภาพรวมไปพูดเข้าใจว่ารัฐบาลจะตอบรับมากกว่า

“อย่างที่บอกว่า สมาคมเติบโตจากการที่ชายรักชายถูกตีตรา นำเชื้อ เอชไอวีเข้ามาในเมืองไทย เมื่อปี 2527 และความเคราะห์ร้ายคือนำมาสู่คนที่เป็น เกย์ เป็นกระเทยคนแรก เพราะฉะนั้นเขาเลยมองว่าพวกหลากหลายทางเพศ เป็นคนที่เอาเชื้อเข้ามา ซึ่งเวลานั้นโลกไม่ได้ยอมรับเลย ก็เลยเป็นความเคราะห์ร้ายสองเรื่องมารวมกัน การต่อสู้ก็เลยลำบาก แต่ถ้าถามว่าต่อไปจะง่ายขึ้นไหม ก็ยังไม่มีความแน่นอน

แม้ว่าโลกตอบรับแล้วก็ตาม ส่วนตัวมองว่ารากเหง้าของปัญหามาจากการที่คนมองว่าวิปริตผิดเพศอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องขจัดแต่จะใช้เวลานาน กว่าจะขจัดเรื่องนี้ แต่ขณะนี้โลกขานรับเร็วขึ้น ถ้าภาษารถยนต์เขาเรียกว่า ‘ตีนปลายดี’ เหมือนรถยุโรป กว่าจะร้อนลำบาก แต่พอร้อนก็ไปฉลุยเลย ฉะนั้นโลกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมาจากพลวัตของโลก”

 

 

อย่างสมรสเท่าเทียมก็มีมากว่า 30-40 ประเทศแล้ว เวลานี้กฏหมายรับรองเพศสภาพก็มี 80 ประเทศแล้ว มองว่ายุคนี้จะไปด้วยเทรนด์ Human rights trend ไปได้สูงมาก เจาะกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่ม ทำให้ขับเคลื่อนด้วยกฎหมายได้ไวขึ้น

นายกสมาคมฯ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า แม้ว่าจะเรียนจบกฏหมายมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเอามาใช้ได้กับทุกงาน แม้จะเป็นนักต่อสู้เพื่อชาว LGBTQ และกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ไม่ได้ต้องการแค่เรื่องความยุติธรรมเป็นหลัก แต่มองเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะมนุษย์เกิดมาก็ได้ไม่เท่ากัน แม้แต่เด็ก ความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย หญิง ยังไม่เท่ากันเลย ระบบปิตาธิปไตย ชายเป็นใหญ่ ก็มี จริง ๆ ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีเยอะมาก แม้แต่คนทั่วไปยังพบเห็นประเด็นความเหลื่อมล้ำอยู่ทุกที


หมายเหตุ : สัมภาษณ์ในงาน Sustrend 2025 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567
เครดิตภาพจากงาน : Sustrend 2025 และ RSAT : Rainbow Sky Association of Thailand