นางมงคล ไขลามเมา สานต่อมรดกบรรพบุรุษ ผ้าย้อมครามธรรมชาติ สกลนคร

by บุษกร สัตนาโค, 1 กันยายน 2567

นางมงคล ไขลามเมา ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแปรรูปบ้านกุดจิก หมู่ 9 จังหวัดสกลนคร ผู้ไม่คาดฝันว่า ความงดงามของผ้าครามในชุมชนเล็ก ๆ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ วันนี้จะถูกหยิบไปดีไซน์ใหม่ทันสมัยมากขึ้น สร้างรายได้ที่ยั่งยืนและต่อเนื่องแก่ชุมชน

 

 

ความงดงามของ ‘ผ้าย้อมคราม’ ซึ่งมีเฉดสีน้ำเงินเข้ม ไปจนถึงสีฟ้า ผสมกับสีขาว ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันผ้าย้อมครามได้ถูกหยิบนำไปแปรรูปใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทันสมัยเข้าถึงกลุ่มคนทุกช่วงวัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ตลอดจนของใช้ภายในบ้าน สารพัดประโยชน์

เบื้องหลังความสวยงามของผ้าครามนั้น นับเป็นหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่ล้ำค่า ทั้งยังมีกระบวนการย้อมแบบธรรมชาติ ไร้สารเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อผิว ใส่แล้วรู้สึกสบาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งนับว่าตอบโจทย์ของโลกปัจจุบัน ที่วันนี้ผู้บริโภคต่างก็ต้องการสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทย นับว่ามีความโดดเด่นในเรื่องของผ้าย้อมครามไม่แพ้ชาติใด แต่ยังไม่มีปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้ผ้าย้อมครามตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีการผลิตและใช้กันในชนเผ่าภูไท และ ‘สกลนคร’ ถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ที่ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าย้อมคราม และพัฒนาผ้าย้อมครามให้มีมาตรฐานสามารถนำผลิตภัณฑ์ผ้าครามจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าแทรกตลาดที่กำลังกลับมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารเคมี และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้ผ้าครามสกล ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม และต่างเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

 

 

 

นางมงคล ไขลามเมา หนึ่งในผู้นำชุมชนบ้านกุดจิก ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแปรรูปบ้านกุดจิก สกลนคร เป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนของกลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของคนในหมู่บ้านที่มีความเชี่ยวชาญหรือถนัดในการทอผ้า และย้อมสีผ้า ในชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นในเรื่องย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ ที่นอกเหนือจากสีที่ได้จากครามแล้ว ยังมีสีจากต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ที่ศึกษาผ่าน ‘โครงการป่าให้สี’ อีกด้วย

-ครามสกลฯ ขึ้นทะเบียน GI

โดยนางมงคล เล่าว่า ผ้าครามสกลนครนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) นิยามว่า ‘ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร’ ซึ่งเป็นผ้าฝ้าย ที่ผ่านกระบวนการย้อมครามธรรมชาติตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดสกลนคร ทำให้ได้สีฟ้าอ่อนถึงสีน้ำเงินเข้ม เป็นมันวาว ไม่ตกสี มีกลิ่นเฉพาะตัว โดยต้นครามที่ปลูกและเก็บเกี่ยวในพื้นที่สกลนคร มี 2 สายพันธุ์ คือ ‘ต้นครามใหญ่’ ที่ฝักโค้งงอมีลักษณะต้นเป็นพุ่ม สูงกว่า ครามฝักตรง สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ และ ‘ต้นครามน้อย’ ฝักตรง มีลักษณะต้นเป็นพุ่ม ใบมน เรียงสลับ แบบขนนก ฝักไม่มีขน เมล็ดกลมมีสีเหลืองฟาง เนื้อคราม

ประเภทของผ้าที่ขึ้นทะเบียนจะมีทั้งผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าผืน ที่มีโทนสี เป็นสีน้ำเงินของคราม ไล่เรียงเฉดสีตั้งแต่สีฟ้าอ่อนเกือบขาว แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสีน้ำเงินเข้ม (สีกรมท่า) ส่วนเส้นใย เป็นเส้นฝ้ายเข็นมือ และหรือเส้นฝ้ายแท้ 100 % ส่วนลวดลาย เป็นลวดลายตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ลายสะเก็ดธรรม ลายเกล็ดเด่า ลายเกล็ดแลน ลายหมากจับข้อ ลายผ้าขาวม้า เป็นต้น รวมถึงผ้าพื้นด้วย

 

 

 

ไม่คิดไม่ฝันว่าการย้อมครามแบบง่าย ๆ ในหมู่บ้าน จะเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่คิดไม่ฝันว่า วันนึงจากผ้าที่ย้อมกันธรรมดา ๆ แบบบ้าน ๆ วันนี้จะได้รับความสนใจ และมีธุรกิจเอกชน เข้ามาสนับสนุนให้ความรู้ในการต่อยอดภูมิปัญญาที่เรามี คำบอกเล่าของนางมงคล ที่เล่าให้ฟังด้วยความตื่นเต้น พร้อมกับบอกว่า

เราทำผ้าย้อมครามจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านนิยมทอผ้ากันเมื่อว่างจากฤดูเก็บเกี่ยว จนปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มกันจนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแปรรูปบ้านกุดจิก ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านกุดจิกหมู่ 3 และหมู่ 9 แต่ละบ้านจะมีทั้งคนที่ถนัดทอ คนที่ถนัดมัดย้อม มัดหมี่ แตกต่างกันออกไป

“เรารวมใจกันทำซึ่งตอนแรก ๆ ต้องบอกว่า เราทอใครทอมัน แล้วเอามาขายตามมีตามเกิด ขายกันเองบ้าง ขายในตลาดนัดหรือร้านค้าบ้าง ซึ่งมันก็สร้างรายได้ให้เราจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าถามว่ายั่งยืนไหม ก็ยังไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง แต่พอทำมาเรื่อย ๆ ก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่พยายามจะเข้ามาสนับสนุนเรา พัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้น ก็นำไปจำหน่ายตามงานแฟร์ต่าง ๆ”

 

 

 

-ต้นคราม ทนร้อนได้ดี

นางมงคล เล่าต่อว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้เรื่องของการใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า เป็นกระแสมาแรงมาหลายปีแล้ว เพราะการย้อมแบบเดิมมันทำลายโลก เพราะนอกจากต้องใช้ฝีไม้ลายมือในการทอผ้า ยังต้องให้ความสำคัญกับการปลูกคราม โชคดีที่คราม ทนร้อนได้ดี สภาพอากาศประเทศไทยตอนนี้ร้อนมาก แต่ครามยังทนร้อนได้ดี ผ้าสีสวยเงางาม แต่ถ้าเป็นหน้าฝนจะไม่เท่าไหร่ จึงทำให้เราได้สีจากครามที่ต่อเนื่องได้เรื่อย ๆ

 

 

 

-ผ้าย้อมครามจากชุมชนเล็ก ๆ สู่แบรนด์จำหน่ายนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

ดิฉันทำผ้าย้อมครามมาตั้งแต่เด็ก ๆ สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ถึงพ่อแม่ เพราะคิดว่าเป็นมรดกภูมิปัญญา มีหลาย ๆ พื้นที่จังหวัดสกลทำเหมือนกันหมด แต่ภูมิใจที่ชุมชนเล็ก ๆ บ้านกุดจิกวันนี้เราสามารถพัฒนาชุมชนให้เติบโต และแข็งแรงได้ทุกปี จนกระทั่ง เป็นความโชคดีที่อยู่ ๆ วันหนึ่งแบรนด์ good goods และดีไซนเนอร์ เขาเข้ามาหาเรา มาให้ความรู้เราในเรื่องต่าง ๆ ช่วยยกระดับผ้าครามธรรมดาๆ ของเราให้มีลูกเล่นมากขึ้น ทำเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กางเกง หมวก ผ้าพันคอ ฯลฯ ซึ่งมันตอบโจทย์ เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เพราะถ้าให้เราทำโดยลำพังมันอาจจะยังไม่ดีเท่าไหร่ นอกจากนั้นก็ยังช่วยชุมชนในเรื่องการบริหารจัดการตลาดอีกด้วย

 

 

 

-รายได้จากผ้าย้อมครามดีกว่าทำนา

เพราะเราเป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ วันนี้เราสร้างรายได้ให้ชุมชนดีขึ้นกว่าการทำนา ซึ่งอนาคตเราก็อยากให้เป็นรายได้ที่สม่ำเสมอและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งก็ทุ่มเทกันสุด ๆ

-ความฝัน พัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียง

ถ้าถามถึงความฝันของดิฉัน ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน มาเรียนรู้และศึกษาภูมิปัญญาโบราณ ไม่อยากให้ทิ้งภูมิปัญญาของเรา และอยากให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น และพัฒนาบ้านเกิดให้เป็นท่องเที่ยวชุมชนให้ได้ ตอนนี้บ้านกุดจิกกำลังเริ่มจะพัฒนาสู่ท่องเที่ยวชุมชนแล้ว เพียงแต่ตอนนี้ยังเป็นขั้นบันไดอยู่ เรามีกลุ่มทอผ้า มีศูนย์เรียนรู้การมัดย้อม โฮมสเตล์พอเพียง มีของขึ้นชื่ออย่างข้าวฮางทิพย์ ด้วยกรรมวิธี แช่ นึ่ง ผึ่ง สี มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน จัดทำป้ายแผนที่ให้ความรู้ จัดกิจกรรมเวิร์กชอปการมัดย้อมสีธรรมชาติ เรียนรู้วัฒนธรรมวิถีภูไท ทานอาหารท้องถิ่น

-ป่าให้สี นำสีจากธรรมชาติมา ก็ต้องปลูกทดแทน

นอกจากนี้ก็ยังมีการทำ ‘โครงการป่าให้สี’ เพราะเราเอาสีจากต้นไม้มาย้อมผ้า ก็ต้องปลูกทดแทนเพื่อไม่ให้พืชไม้หายไป ตรงนี้เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร พัฒนาโครงการ รวบรวมองค์ความรู้ และอนุรักษ์พันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ เป็นแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติสำหรับใช้ในการย้อมสีของชาวกลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก ซึ่งในป่านอกจากสีจากต้นคราม ก็มีการ สำรวจ วิจัย ต้นไม้ภายในป่าของชุมชนจำนวน 18 ไร่ ศึกษาสีย้อมที่ได้จากพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ รวบรวบข้อมูลการให้สีของพันธุ์ไม้ และมีการศึกษาต่อเนื่องในด้านการขยายพันธุ์ไม้ในพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อประโยชน์ของชุมชนและการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

เครดิตภาพจาก : Centraltham