'พิสุทธิ์ เพียรมนกุล' กับแพชชั่นผนึกพลัง Green Talent ส่งต่อมรดกโลกเขียวให้ลูกหลาน

by บุษกร สัตนาโค, 25 สิงหาคม 2567

‘พิสุทธิ์ เพียรมนกุล’ ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน กับแพสชั่นการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนความยั่งยืน เพราะไม่อยากเห็นอนาคตของลูกหลานต้องเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อมหนักขึ้น ปลุกปั้นเพิ่มจำนวน Green Talent ในเมืองไทย ร่วมกันผลักดันรูปธรรมความยั่งยืนคนละไม้ละมือ

 

“ผมไม่อยากเห็นอนาคตของลูกหลานแย่ลงไปกว่านี้ อะไรที่เราพอจะทำได้ ก็จะทำ”

ประโยคเปิดบทสนทนาของ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เมื่อถูกถามถึงแพสชั่นในการทำงานด้านความยั่งยืน ในมิติสังคม และสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (Carbon Institute for Sustainability : CBiS)

สำหรับอาจารย์พิสุทธิ์แล้ว แม้จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอน มาได้ไม่นาน เพราะสถาบันฯเพิ่งก่อตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา ทว่าเมื่อเทียบภารกิจขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนกลับพบว่าเขาทำงานด้านนี้มานาน และเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจมาตลอด ตั้งแต่เป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2538 ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทย กำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศจากเหมืองถ่านหิน ทำให้เขามุ่งหน้าทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่นั้นมา

-สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่สมัยเรียน

อาจารย์พิสุทธิ์ เล่าว่า ผมสนใจเรื่องนี้ เพราะกระแสทางด้านสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรม ค่อนข้างดัง ซึ่งผมมีไอดอล หรือบุคคลต้นแบบอยู่ 2 ท่านคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพฯ ท่านสนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนผมได้รับทุนรัฐบาลไปเรียนปริญญาโท-เอก รวม 4 ปี ที่ประเทศฝรั่งเศส ในโรงเรียนเฉพาะทางชื่อว่า INSA Toulouse เป็น Ecole Engineer ช่วงที่เรียนปี 3 ปี 4 ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้ทำงานกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสทั้งหมด

 

 

-ไม่อยากแก่ตัวไปแล้วเห็นพื้นที่สีเขียวน้อยลงเรื่อย ๆ

อาจารย์พิสุทธิ์ เล่าต่อว่า หลังจากเรียนจบกลับมาไทย มาเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาที่ตัวเองร่ำเรียนมาที่จุฬาฯ ระหว่างนั้นก็ได้ทำกิจกรรมมากมาย มีส่วนร่วมขับเคลื่อนหลาย โครงการทั้งในรั้วจุฬาฯ และนอกรั้วจุฬาฯ เช่น เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ Sensor For All ‘นวัตกรรมตรวจวัดสภาพอากาศ’ เพื่อนำร่องสู่การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมตรวจวัดสภาพอากาศ

ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงมาก เป็นช่วงที่ลูกของผมลืมตาดูโลก แล้วผมเห็นเขาไอหนักมาก เลยทำให้ผมคิดว่าโลกเรามันแย่ขนาดนี้แล้ว เราจะปล่อยให้อนาคตของประเทศ และลูกหลานของคนไทยทุกคนต้องมาเจอกับสิ่งที่เรากำลังเจอแบบนี้หรือ พอมีโอกาสได้ทำงานด้านนี้ ผมก็ยิ่งคิดว่าจะทำเต็มที่ จนตอนนี้ลูกผมอายุยังไม่ถึง 5 ขวบเลยก็ยังมีปัญหาสุขภาพจากมลพิษ ซึ่งในโครงการนวัตกรรมตรวจวัดสภาพอากาศนี้จะติดเซ็นเซอร์ทั่วประเทศจนเรามีเครือข่ายเซ็นเซอร์มากที่สุด และทำแอปพลิเคชั่นมีจุดวัดรวม 2,000 กว่าจุด เป็นของคนไทยทำเอง ซึ่งก็มาจากความอินของผมด้วย

นวัตกรรมที่ผมร่วมกันทำมันก็ไม่ได้ลึกลับอะไรที่มันทำได้จากส่วนที่เราอิน เราก็ทำ ผมไม่อยากแก่ไปแล้วเห็นพื้นที่สีเขียวน้อยลงเรื่อย ๆ ผมไม่อยากแก่ไปแล้ว PM 2.5 มันยังเยอะ ผมอยากทำอะไรที่ทำได้ก่อนที่เราจะหมดเรี่ยว หมดแรง ทำสิ่งดีๆให้กับลูกหลาน ถ้าเราอยู่ในจุดที่เราพอทำได้ เราก็ทำเต็มที่

 

 

 

-หมุดหมายสร้างคนเก่ง นำนวัตกรรมช่วยเหลือสังคม

ทำงานสายวิชาการมาตลอด จนได้รับตำแหน่งดูแลยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของคณะวิศวะ จุฬาฯ

อาจารย์พิสุทธิ์ ให้เหตุผลว่า ที่คณะวิศวะ จุฬาฯ ต้องมีตำแหน่งนี้เพราะว่าอย่างแรก จุฬาฯเป็นสถาบันที่เน้นสร้างคนเก่ง นอกจากเก่งแล้วก็ต้องเป็นคนดี ในเวลาเดียวกันก็ต้องมีความเข้าอกเข้าใจเรื่องความยั่งยืนบนโลกใบนี้ ซึ่งกำลังเป็นเมกะเทรนด์ของโลก เลยได้สร้างหลักสูตร IEF (Innovative Engineering for Sustainability) วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน สำหรับปริญญาโท มีจุดเด่นใหญ่ ๆ 3 ด้านคือ 1.จบสายศิลป์มา ก็มาเรียนวิศวะ จุฬาฯ ได้ 2.ทุกวิชาในหลักสูตร เชื่อมโยงกับ Life long learning เปิดให้นิสิตปริญญาตรี ทุกคนที่สนใจอยากเรียนมาเรียนได้เลย ฟรี สามารถเก็บเป็นเครดิตได้ 3.ใช้กระบวนการเรียนออนไลน์ เวิร์กช็อป เสาร์ อาทิตย์ เป็นการเรียนนอกเวลา

เหตุผลต่อมาคือ คณะวิศวะ เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเยอะ เวลาเราพูดเรื่องของนวัตกรรม มันก็มีเรื่องของ เอไออะไรต่าง ๆ ดาต้า ต่าง ๆ ดังนั้นโจทย์ของเราคือถ้าสามารถเอาจุดแข็งในเชิงวิศวกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสังคม ช่วยประเทศ ในการเดินหน้ากระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการยกระดับ GDP ของประเทศ ให้มีกำไรขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็สามารถลดคาร์บอนลดลงได้ ก็น่าจะเป็นเป้าหมายที่ดี เป็นคีย์สำคัญ และนั่นจึงทำให้เกิดการก่อตั้งสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืนขึ้น เมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างวิศวะ จุฬาฯ กับมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

-สถาบันคาร์บอน เชื่อมโยงเอกชน-คนรุ่นใหม่-เอสเอ็มอี

การจัดตั้งสถาบันคาร์บอน ขึ้นมา เรื่องที่หนึ่งคือพอมีเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผมคิดว่า องค์กรใหญ่ที่เขามีสรรพกำลังในการเรียนรู้ เข้าใจ และเผชิญหน้าได้ แต่ว่ากลุ่มเอสเอ็มอี ที่เป็นองค์กรขนาดเล็กๆ คนที่มีข้อจำกัด เขายังเข้าไม่ถึง ดังนั้นไอเดียของสถาบันคาร์บอนคืออยากจะช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ผ่านการเรียนรู้ เรื่องการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ช่วยเขาลงมือทำ แล้วร่วมกันว่าจะทำความร่วมมืออะไรกันได้บ้าง

ซึ่งเอสเอ็มอีมีข้อจำกัดอยู่ 3 เรื่องคือ ผู้บริหารส่วนใหญ่อาจจะรู้ว่ามันสำคัญ แต่ลึก ๆ มันคืออะไรสองถึงแม้ผู้บริหารรู้แล้วและสั่งการออกมาแต่คนทำงานจะทำอย่างไรได้บ้าง เราก็มาช่วยตรงนี้สาม เอสเอ็มอี อยากจะเชื่อมโยงไปถึงภาคการเงิน ในเรื่องของต้นทุน การเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ เราก็มีพาร์ทเนอร์ ในส่วนภาคการเงินการธนาคาร จะเป็นข้อกลางช่วยให้เขารู้และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

 

 

 

ข้อดีอย่างหนึ่งของสถาบันฯ คือ เราอยากจะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ทำให้คนรุ่นใหม่กับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละจุดมา connect the dot เชื่อมโยงระหว่างกัน สร้างเป็นคอมมูนิตี้ให้มันเกิดขึ้นเพราะว่าสมมติเราสอนเขาถ้าไม่มีดาต้า ไม่มีผู้ประกอบการจริงเข้ามาคุย มาแชร์ เราก็เรียนแค่ในตำรา หรือบางคนบอกว่าไปศึกษากรณีของต่างประเทศสิ มันก็เป็นกรณีของต่างประเทศ แต่ถ้าเราได้เจอผู้ประกอบการจริงเจอคนที่เป็นเอสเอ็มอีที่เขาทำงานจริงๆ ก็น่าจะเป็นโจทย์ที่สองในการสร้างคอมมูนิตี้แพลตฟอร์มขึ้นมา ซึ่งสถาบันก็มีพาร์ทเนอร์องค์กร ธุรกิจ รัฐ เอกชนมากมาย

-ชอบบทบาทการเป็นอาจารย์

อาจารย์พิสุทธิ์ เล่าอีกว่า ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของผม ผมทำงานสายวิชาการมาตลอดเลย ผมชอบในบทบาทความเป็นครู หรืออาจารย์ กระทั่งปี 2548 ผมได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น ถามว่าทำไมอินกับบทบาทอาจารย์ เพราะมันได้ใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้เราสามารถ Up to date กับพวกเขาได้ตลอดเวลา และทุกเรื่อง

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งผมมองว่าอาจารย์สามารถเป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ ในการเชื่อมคนรุ่นใหม่กับผู้บริหารในองค์กรต่าง ๆ ได้ เพราะบางทีผู้บริหารก็ไม่ได้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่าย เราก็จะสามารถเชื่อมลักษณะเหล่านี้ได้ผมก็ค่อนข้างอินกับบทบาทการเป็นอาจารย์เช่นกัน

 

 

นอกจากบทบาทอาจารย์แล้ว ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอน ยังเห็นว่า ตอนนี้โลกกำลังเดือด ทุกฝ่ายต่างพยายามจับมือกันเดินหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อคลอดออกมา จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นคือตลาดคาร์บอน และโอกาสทองของอาเซียนที่จะเป็นศูนย์กลาง (Hub) คาร์บอน

-โอกาสทอง เป็น อาเซียนฮับคาร์บอน

ตอนนี้เรื่องการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมีความท้าทายในส่วนของสโคป 3 เมื่อเราบริหารได้ ก็จะมีเรื่องตลาดคาร์บอน หลายคนพูดว่าอาเซียนจะเป็นฮับคาร์บอน การจะเป็นฮับได้ผมมองว่า ต้องจับมือกันหลาย ๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย เพราะแต่ละประเทศมีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกัน อย่างสิงคโปร์เป็นตลาดที่ใหญ่กว่าแต่ยังขาดเรื่องของพลังงานสะอาด เขาขาดโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นถ้าเรามองว่าในอนาคตตลาดเริ่มเสรี ไม่จำเป็นต้องมีพรมแดนปิดกั้น แต่มีระบบนิเวศที่แข็งแรง มีสะพานเชื่อมหากัน ผมมองว่ามันคืออนาคตที่ดีของประเทศ ผมมองว่าเป็นไปได้ที่เราจะร่วมกันเป็นฮับ เขาต้องการเราในขณะที่เราก็ต้องการเขา มันอาจจะหมดยุคที่ต้องไปคนเดียว แต่จะเริ่มเข้าสู่ยุคที่ต้องแชร์คุณค่าบางอย่างร่วมกัน

 

 

-เป้าหมายและความฝัน 2 เรื่องที่อยากเห็น

ผมก็ยังชอบในการทำงานด้านนี้ และสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผม ณ ตอนนี้ 2 เรื่องที่ฝัน คือ ฝันแรกผมอยากเห็นความคืบหน้าของเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย อยากให้ทั่วโลกเห็นว่า เราทำจริง เรามีการเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นได้

ความฝันอย่างที่สอง ผมอยากเห็น Green Talent เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศไทย ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดในเรื่องจำนวน แต่สิ่งที่อยากเห็นในที่นี้ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เก่งมาก แต่ว่าเขาสามารถนำเอาทักษะที่เขามีติดตัว ไปช่วยเหลือองค์กร ไปช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ ได้ ผมอยากเห็นสัดส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ และช่วยทำให้ GDP เราโต ในขณะที่ปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราลดลงได้

สุดท้ายแล้วองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG จะสามารถดึงดูด Green Talent มาทำงานในองค์กรได้มากถึง 66%