ปัจจัยน้ำท่วมใหญ่รอบ 80 ปี ‘เชียงราย’ ธรรมชาติ หรือ ระบบที่ต้องปรับปรุง?

by ESGuniverse, 14 กันยายน 2567

สถานการณ์น้ำท่วมหนักในรอบ 80 ปีในจ.เชียงราย แม้จะห้ามฟ้าฝนพายุไม่ได้ แต่หากมีการบริหารจัดการพื้นที่และรับมือกับปัญหาที่ดีกว่านี้ ความสูญเสียจากภัยธรรมชาติจะน้อยกว่านี้หรือไม่ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมตั้งคำถาม

 

 

จากสถานการณ์น้ำท่วมในกว่า 10 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ส่งผลประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากโดยเฉพาะ อ.เมืองเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบรวม 16 หมู่บ้าน ส่งผลให้บริเวณน้ำท่วมเกิดดินถล่มจากภูเขาทับบ้านเรือนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย วิกฤติหนักชาวบ้านติดบริเวณน้ำไหลเชี่ยว ต้องหนีขึ้นหลังคา รอได้รับการช่วยเหลือ

น้ำท่วมรุนแรงที่เลวร้ายสุดรอบ 80 ปีนี้ในเชียงรายเกิดจากสองปัจจัยหลัก

1. ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุยางิ

ฝนตกหนักถึง 7 ครั้ง ทำให้แม่น้ำแม่สายและดินทั้งฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้านอิ่มตัว และพายุยางิ ได้เพิ่มปริมาณน้ำมหาศาลมาทำให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ตลาดแม่สายอย่างกว้างขวาง ตัวเมืองเชียงรายได้รับผลกระทบจากอีกระบบน้ำหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้าน

2. การขยายเมือง

แผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย พ.ศ.2566-2570 ส่งผลทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง เกิดการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน และเส้นทางคมนาคมอย่างรวดเร็วปิดกั้นทางไหลของน้ำ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดินบริเวณต้นน้ำแม่สายซึ่งอยู่ในเมียนมาถึง 80% จากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการทำเหมืองแร่ ทำให้เป็นพื้นที่ราบน้ำไม่สามารถชะลอตัวได้ พื้นที่ดูดซับน้ำลดลงมากกว่า 8,200 ไร่จากปีที่ผ่านมา


จากการลงพื้นที่ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในช่วงปี 2562-2564 ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ตัวเมืองแม่สายและท่าขี้เหล็กของเมียนมามีการขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง และหลายจุดที่เคยเป็นที่รับน้ำและระบายน้ำถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อาศัย


ขณะที่นักวิชาการหลายราย ชี้น้ำท่วมเกิดจากพายุ ผลกระทบของสิ่งแวดล้อม และการรับมือที่ไม่มีประสิทธิภาพ ได้แก่


ไทยขาดแผนการเตือนภัยที่ชัดเจน
ความไม่พร้อมของหน่วยงานส่วนกลางในการประเมินความรุนแรง ขาดการสื่อสารความเสี่ยงที่ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ที่ผ่านมาใช้ช่องสื่อสารทางทีวี วิทยุ เฟสบุค โดยใช้ภาษาทางวิชาการที่ยากจะเข้าใจทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร


อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ควรให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อปท. สื่อสารถึงตัวประชาชนโดยตรงโดยต้องระบุให้ชัดเจนว่า สถานการณ์จะเกิดรุนแรงในระดับใด ที่ไหน จะต้องเก็บข้าวของขึ้นที่สูง หรือต้องอพยพออกมาและไปพักที่จุดใดบ้าง เป็นต้น โดยทั่วไปผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หรือเป็น commander สั่งการให้ดำเนินการทันที ยิ่งในต่างประเทศจะมีการใช้ระบบ SMS สื่อสารเตือนภัย โดยส่งเข้าไปในระบบโทรศัพท์มือถือของคนที่อาศัยในพื้นที่โดยตรง เป็นต้น

3.ไทยขาดแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน

ตามกฎหมายมีแต่เพียงมาตรการบรรเทาทุกข์แต่ไม่มีมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม ราชการจะต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเพื่อนำงบประมาณออกมาใช้บรรเทาทุกข์ให้ประชาชนได้ ซึ่งทำได้ล่าช้ามากเนื่องจากติดที่ระบบราชการ

4.ไทยขาดระบบบริหารจัดการน้ำระดับชาติ

การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงที่ประเทศจีนยังส่งผลกระทบต่อประเทศที่อยู่ท้ายน้ำรวมถึงจังหวัดเชียงรายของไทยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ดร.ธนพล เสนอว่าต้องอาศัยกลไกระหว่างประเทศ นั่นคือ การบริหารจัดการแม่น้ำสายข้ามพรมแดนระหว่างไทย เมียนมาและจีน โดยทางการไทย และ สทนช. ต้องประสานขอความร่วมมือกับจีนจัดการระดับน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันให้ได้

น้ำท่วมหนักเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีฤดูมรสุมและปริมาณฝนตกหนักบ่อยครั้ง แต่การรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมยังคงชะล่าใจ จึงมาซึ่งคำถามที่ว่า การบริหารจัดการงบประมาณแก้น้ำท่วมล้มเหลวหรือไม่

โดยมีการเปิดเผยงบประมาณปี 2566 ในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งที่มากถึง 19,821,418,900 บาท คิดเป็น 37.13% โดยที่มหาดไทยมีงบเกี่ยวกับน้ำท่วมมากที่สุดถึง 23,171,261,300 บาท กระจายอยู่ใน 45 จังหวัดทั่วประเทศไทย