น้ำท่วมไทย เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ผลสำรวจ G20 เสนอทำลายสิ่งแวดล้อมควรผิดทางอาญา

by ESGuniverse, 16 กันยายน 2567

รายงานธนาคารโลก ระบุการเพิ่มขึ้นของอุทกภัยในไทย เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน เกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภูเขา ด้านกลุ่ม G20 เผยผลสำรวจ ระบุ การสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมควรเป็นคดีอาญา

 

 

สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากระดับน้ำแม่สายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้นตลิ่งเข้าท่วมตลาดสายลมจอย จุดขายสินค้าชายแดนไทย-เมียนมา

เหตุอุทกภัยดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากเผชิญกับอิทธิพลพายุยางิ ซึ่งลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเป็นพายุดีเปรสชัน ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยเมื่อระหว่างวันที่ 8-10 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกหนักมาก และทำให้ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เกิดเหตุน้ำท่วมหนัก

 

 

คลื่นโคลนถล่มแม่สาย

คลื่นโคลนถล่มแม่สาย

 

การเพิ่มขึ้นของอุทกภัยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ จากรายงานของกลุ่มธนาคารโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2021 ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุทกภัยในประเทศไทยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งพบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดในโลก โดยแต่ละปีน้ำท่วมได้สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับประเทศเฉลี่ยปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 98,800 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นเกือบ 100% ของมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติในประเทศ

ในรายงานระบุว่า อุบัติการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น ทำให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตเมือง และเกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภูเขา

โดยความถี่ของเหตุการณ์ฝนตกหนัก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรใน 1 วัน) มีแนวโน้มจะเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยในรายงานอ้างข้อมูลจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ที่คาดการณ์ว่าจะมีพายุไต้ฝุ่นเพิ่มขึ้นในประเทศไทยระหว่างปีพ.ศ. 2556-2586 ขณะที่พายุมรสุมจะค่อนข้างคงที่ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

 

น้ำท่วมเชียงราย

น้ำท่วมเชียงราย

 

ด้านกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของไทย ได้จัดทำข้อมูลการคาดการณ์แนวโน้มการเกิดน้ำท่วมในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปัจจุบัน - พ.ศ. 2578) โดยวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศ 2 กรณี คือกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง และกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง โดยพบว่ามี 10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน


ปริมาณพายุลดลง แต่รุนแรงมากขึ้น

ทางด้านศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (สพท.) ระบุว่า
ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยนั้นสูงขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมากที่สุด เนื่องจากความหนาแน่นของประชากร และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของเมืองซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณโคมความร้อน (Heat Island Effect)

นอกจากนี้ยังระบุต่ออีกว่า จำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจะมีปริมาณลดลง แต่ทวีความรุนแรงทางภัยพิบัติมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินโคลนกล่ม สลับกับความแห้งแล้งที่ใช้เวลายาวนานกว่าเดิม

"ความถี่และระยะเวลาที่ฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยลดลง แต่ความแรงของฝนจะมากขึ้น ทำให้เกิดภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำท่วนฉับพลัน การทรุดตัวของแผ่นดิน และดินโคลนถล่ม เป็นต้น"

นานาชาติมองผู้ทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ควรเป็นความผิดอาญา

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 18 ประเทศในกลุ่ม G20 (ยกเว้นรัสเซีย) พบว่าเกือบ 3 ใน 4 คน (72%) เห็นด้วยว่า การอนุมัติหรืออนุญาตของรัฐบาลหรือบริษัทขนาดใหญ่ ให้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ ควรเป็นความผิดทางอาญา

โดยผลการสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจ Global Commons Survey 2024 ครั้งล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย Ipsos UK และมอบหมายให้ Earth4All และ Global Commons Alliance (GCA) เป็นผู้ดำเนินการ

จากการสำรวจ เผยให้เห็นความกังวลในหมู่พลเมืองของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันและอนาคตของโลก ผู้ตอบแบบสอบถาม 59% กังวลมากหรือมากที่สุด เกี่ยวกับสภาพธรรมชาติในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจ Global Commons Survey ปี 2021 นอกจากนี้ 69% เห็นด้วยว่าโลกกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและธรรมชาติ เนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์

 

 

Bohumin สาธารณรัฐเช็ก 15 กันยายน 2024 Agencja Wyborcza.pl/Dominik Gajda ผ่าน REUTERS

Bohumin สาธารณรัฐเช็ก 15 กันยายน 2024 Agencja Wyborcza.pl/Dominik Gajda ผ่าน REUTERS

 

โอเว่น กาฟนีย์ (Owen Gaffney) ผู้นำร่วมของโครงการ Earth4All กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ (72%) สนับสนุนให้การกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสภาพอากาศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนส่วนใหญ่ต้องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของโลก และ 71% เชื่อว่าโลกต้องดำเนินการทันที การสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้คนในเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกต่างตระหนักดีถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องโลกเพื่อคนรุ่นต่อไป

เจน แมดจ์วิก (Jane Madgwick) กรรมการบริหารของ GCA กล่าวเสริมว่า ผู้คนทั่วโลกต่างรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสภาพของโลก จึงต้องร่วมกันปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรส่วนกลางของโลก ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตทุกชีวิตบนโลก จากผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการนี้ต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่กล้าหาญและความพยายามระดับโลกอย่างแท้จริงในการเชื่อมโยงการดำเนินการระหว่างประเทศต่างๆ และตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไป

โจโจ้ เมห์ตะ (Jojo Mehta) ผู้ก่อตั้งร่วมและซีอีโอของ Stop Ecocide International กล่าวว่า ผลสำรวจ Global Commons ฉบับใหม่ทำให้เห็นชัดว่ามีการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้จากประชาชนจำนวนมาก ประชาชนเข้าใจชัดเจนว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุดนั้นเป็นอันตรายกับทุกคน และยังมีศักยภาพในการยับยั้งการสร้างความรับผิดทางอาญาต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับสูงอีกด้วย การป้องกันความเสียหายถือเป็นนโยบายที่ดีที่สุดเสมอ ซึ่งนั่นก็คือประเด็นของกฎหมายต่อต้านระบบนิเวศ

ความแตกต่างในระดับภูมิภาคในการรับรู้ถึงการสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการสำรวจ ยังพบว่า ผู้คนในเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย (87%) จีน (79%) อินโดนีเซีย (79%) เคนยา (73%) และตุรกี (69%) รู้สึกว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้คนในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มองว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศสูงยังแสดงให้เห็นถึงความกังวลและความเร่งด่วนสูงสุดเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงสุขภาพของมนุษย์และของโลกมากที่สุด และมองเห็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลที่เผยแพร่ในเดือนมิถุนายนจากการสำรวจเดียวกันนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า 71% เชื่อว่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทศวรรษนี้เพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยคาร์บอน

ที่มา: https://earth4all.life/news/causing-environmental-damage-should-be-a-criminal-offence-say-72-of-people-in-g20-countries-surveyed/