เสียงจากผู้อนุรักษ์แม่น้ำโขง สะท้อนมนุษย์สร้างเขื่อนกั้น แต่ธรรมชาติไม่มีแม้แต่สิทธิจะโต้เถียง

by ESGuniverse, 17 กันยายน 2567

เสียงจากผู้อนุรักษ์แม่น้ำโขง สะท้อน 30 ปีที่ผ่านมามนุษย์สร้างเขื่อนกั้นเส้นทางน้ำโขงมากกว่า 12 แห่ง ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย ธรรมชาติไม่มีแม้แต่สิทธิจะโต้เถียง

 

 

'แม่น้ำโขง' ถือเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของหิมะบริเวณที่ราบสูงตอนเหนือของทิเบตและชิงไห่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลมารวมกัน และไหลผ่านหลายประเทศกว่า 4-5 พันกิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และสิ้นสุดที่เวียดนาม ทำให้แม่น้ำโขงเป็นสายธารที่หล่อเลี้ยงผู้คนหลายล้านชีวิต เนื่องจากมีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ภายใต้สายน้ำแห่งนี้หลากหลายสายพันธุ์ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของผู้คน รวมถึงปัจจัยทางทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนหมุนเวียนเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง

จนมาถึงปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพของน้ำโขง ค่อย ๆ ถูกทำลาย หายไปจากฝีมือมนุษย์ ที่ต้องการพัฒนาบริเวณต้นน้ำ อย่างการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าทางตอนบนของเขื่อน ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ท้ายเขื่อนมาเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานาน

รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้อากาศร้อนจัด ฝนรวน ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมสลับภัยแล้งทุกปี อย่างคาดเดาไม่ได้ ในขณะที่ปัจจุบันไทยกำลังเกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ ระดับแม่น้ำโขงยังคงเพิ่มสูงขึ้น อยู่ในระดับเฝ้าระวัง นับเป็นสัญญาณเตือนจากธรรมชาติที่ส่งเสียงถึงมนุษย์อีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจดูเหมือนว่าภัยธรรมชาติคือจำเลยใหญ่ แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายใต้สายน้ำแห่งนี้อาจมาจากความผันผวนของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการต่าง ๆ บริเวณโดยรอบ

แม่น้ำโขง สายน้ำแห่งชีวิต
หล่อเลี้ยงคนหลายล้านชีวิต

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers กล่าวถึงสิทธิของแม่น้ำ บนเวที Sustrend 2025 เมื่อไม่นานผ่านมานี้ โดยกล่าวว่า แม่น้ำโขง เกิดขึ้นจากลำธารเล็ก ๆ หลายสายที่มาจากหิมะละลายบนเทือกเขาหิมาลัยไหลรวมกันกับแม่น้ำสายต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็น ‘แม่น้ำโขง’ ไหลผ่าน 6 ประเทศ หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายล้านชีวิต และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงที่อยู่ปลอดภัยของปลาและนก

เพียรพร ยังกล่าวว่า ธรรมชาติของสายน้ำแห่งนี้เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล โดยในช่วงฤดูแล้ง ระดับน้ำจะลดต่ำจนทำให้เห็นเกาะแก่งหรือสันดอนทรายกลางน้ำ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่นกตัวเล็ก ๆ มาวางไข่ ส่วนบริเวณน้ำลึกก็จะเป็นแหล่งรวมตัวของปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ จากนั้นเมื่อฤดูฝนเวียนมา ระดับน้ำที่เพิ่มสูงก็จะหลากเข้าสู่ลำน้ำสาขา และพื้นที่ชุ่มน้ำริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่ปลาใช้วางไข่

 

 

 

เขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขง
ธรรมชาติเปลี่ยนไป
ชีวิตริมน้ำไม่เหมือนเดิม

แต่แล้วจากที่เคยเป็นแหล่งปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตในลุ่มน้ำโขง 30 ปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลง นกที่เคยเข้ามาวางไข่ค่อย ๆ น้อยลง พันธุ์ปลาที่เคยหาได้ เป็นแหล่งเลี้ยงชีพชีวิตคนในพื้นที่กลับหากยากขึ้น เป็นผลจากการสร้างเขื่อนกั้นแม้น้ำที่มีจุดเริ่มต้นมาจากพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำโขง

เพียรพร กล่าวว่า แม่น้ำโขงตอนบน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ได้สร้างเขื่อนกั้นบนแม่น้ำโขง โดยไม่ได้บอกกล่าวว่าจะจะกักเก็บน้ำไปผลิตไฟฟ้า และควบคุมลำน้ำ จนผ่านมากว่า 30 ปี พบว่ามีเขื่อนกั้นน้ำโขงมากกว่า 12 แห่ง ทำให้ลำน้ำโขงตอนล่าง เกิดความเปลี่ยนแปลง จากที่เคยเห็นปลามาวางไข่ กลับไม่เห็น ปริมาณน้ำที่ไม่คงที่ทำให้พันธุ์ปลาหายไปกระทบระบบนิเวศ

“การสร้างเขื่อนเหล่านี้ ไม่ได้คำนึงว่า จะมีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ นอกจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังมีความคิดที่จะเคลียร์พื้นที่ลำน้ำโขงประมาณ 600 กิโลเมตร จากจีนตอนใต้ ผ่านพรมแดนไทยลงไปถึงหลวงพระบางในสปป.ลาว เพื่อจะเปิดทางให้เรือขนาดใหญ่ ขนส่งสินค้าลงมาสู่ประเทศตอนล่างได้สะดวก ซึ่งประเด็นนี้เราไม่ได้อยู่นิ่งเฉย ประชาชนริมน้ำโขง คนตัวเล็กตัวน้อย เกษตรกรที่ปลูกผัก ก็พยายามจะลุกมาพูดคุยกับรัฐ เอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอว่า หากทรัพยากรน้ำโขงถูกทำลาย ไม่ใช่แค่พันธุ์ปลาที่จะหายไป แต่ระบบเศรษฐกิจของชุมชน รายได้ของครอบครัวจำนวนมาก จะได้รับผลกระทบด้วย”

เพียรพร ได้ยกตัวอย่างครอบครัวแห่งหนึ่งที่สี่พันดอน ลาวใต้ ในช่วงฤดูจับปลา ครอบครัวนี้เคยสร้างรายได้สูงถึงสัปดาห์ละ 1 ล้านบาท ซึ่งเลี้ยงชีวิตพวกเขาไปได้ทั้งปี นี่คือสิ่งที่จะหายไปจากการสร้างเขื่อนและการระเบิดแก่งเคลียร์พื้นที่

แม่โขง 60 ล้านคนริมน้ำ
เจ้าของทรัพยากรตัวจริง

“ขอย้ำว่าแม่น้ำโขงไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของผู้คน 60 ล้านคนตลอดลุ่มน้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะปลา นกตัวเล็ก ๆ หรือพืชพรรณ ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง แต่กลับไม่มีสิทธิปกป้องตัวเอง ทุกปีกลุ่มรักษ์เชียงของจะทำแผนที่รังนกบนเกาะแก่งกลางน้ำ ซึ่งนกเล็ก ๆ เหล่านี้อพยพมาจากจีนตอนใต้ แล้วเราก็ต้องเสียน้ำตากันทุกปีที่เห็นไข่ของพวกเขาจมอยู่ใต้น้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะการปล่อยน้ำลงมา เราอยากให้เจ้าของแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นปลา รังนก ได้มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกป้องชีวิตได้บ้าง ทรัพยากรเหล่านี้อยู่กับโลกมาหลายล้านปี แต่เราทำลาย และทำลายโดยไม่นึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่นเลย”

เพียรพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ทำอย่างไรที่เราจะให้ลูกหลานรุ่นต่อไปของเรามีโอกาสเห็นนกเล็ก ๆ เหล่านี้ มีโอกาสได้กินปลาที่ไม่ใช่แค่ปลาดอลลี่ที่ขายอยู่ตามห้างใหญ่ ๆ แต่ได้กินปลาหลากหลายสายพันธุ์ โดยไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

เรื่องของแม่น้ำโขงไม่ใช่แค่เรื่องของประชาชนริมโขงเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับคนเมืองอย่างเราทุกคน ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือตัวเลขที่ปรากฏในบิลค่าไฟแพง ของเรา ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เขื่อนโรงไฟฟ้า ขนาดใหญ่ที่มีการลงทุน และเขื่อนในสปป.ลาว การมีนโยบายให้ซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายทั้งหมดถูกผนวกเข้ามาในบิลค่าไฟของเรา เราต้องจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นโดยไม่ได้ถูกถามว่าอยากจ่ายมากขึ้นไหม คำถามคืออะไรคือพลังงานสะอาด อะไรคือแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน อะไรคือทางเลือกในการจัดการไฟฟ้า อะไรคือแหล่งที่ควรจะเป็นธรรมชาติ แหล่งอำนาจในการจัดการทรัพยากร

นอกจากพวกเราที่อาจจะตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดการน้ำโขงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประชาชนทั้งหลายนับ 60 ล้านคนตลอดลุ่มน้ำ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากมาย ที่พึ่งพาทรัพยากรที่เชื่อมโยงกัน

“หวังว่าบทเรียนจากแม่น้ำโขงจะถูกนำไปใช้กับแม่น้ำนานาชาติสายอื่น เช่น แม่น้ำสาละวินที่วันนี้ยังอุดมสมบูรณ์ แต่ก็มีโครงการเขื่อนและผันน้ำรออยู่ ซึ่งก็หวังว่าอนาคตจะไม่ซ้ำรอยกับแม่น้ำโขง ถ้าสักวันเรามีรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน มีรัฐบาลที่คำนึงถึงสิทธิของแม่น้ำ สิทธิของธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะเทรนด์ Rights of Rivers เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ที่คำนึงถึงสิทธิของธรรมชาติ หวังว่าบทเรียนที่ได้จากแม่ย้ำโขงจะถูกเอาไปใช้กับแม่น้ำธรรมชาติสายอื่น โดยที่เราไม่ต้องรับภาระ”