เอสซีจีปรับกระบวนท่าสู้ผันผวน ท้าอนาคตกรีนมาแรงและเร็วกว่าที่คิด

by ESGuniverse, 17 กันยายน 2567

เอสซีจีปรับโมเดลธุรกิจ LSP คอมเพล็กซ์เวียดนาม จากสินค้าแข่งราคาป้อนตลาดในเวียดนาม สู่ลดต้นทุน ลดคาร์บอนส่งออกตอบโจทย์ลูกค้าสหรัฐ ชอทคัทมุ่งกรีน ไม่ตามรอยเส้นทางปิโตรฯไทย10ปี พร้อมเผย 4 โมเดลเติบโตแห่งอนาคตใน 3-5 ปี (ปี 68-73) ลงทุน 2 แสนล้านบาท สู้ศึกทิศทางผันผวน

 

 

ปิโตรเคมี ปลายทางคือพลาสติก คือผลผลิตฟอสซิล ที่กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากยุคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต เทรนด์ในปัจจุบันเริ่มเห็นชัดเจนเมื่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้าสู่ภาวะขาลง การผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมที่เตือนเราว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เคยขึ้นและลงตามวัฏจักร แต่ขาลงรอบนี้ กลับมีทีท่าจะยาวนานกว่า 2-3 ปี หากไม่ปรับตัวหนี ก็เตรียมตัวถูกดีดออกจากวงจรเศรษฐกิจสีเขียว

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขึ้นลงตามวัฎจักร ต้องยอมรับความผันผวนของราคาแนฟทา (Naphtha) ผันผวนอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563- 2567) ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ผลมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจโลก โดยปี 2563 ช่วงโควิด ความต้องการปิโตรเคมีลดลงอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมทั่วโลกชะลอตัว เกิดภาวะการผลิตล้นตลาด ราคาปิโตรเคมีลดลงอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐ ( ราว 13,600 บาท) ต่อตัน

ปี 2564 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาขนส่งจึงทำให้ราคาเริ่มขยับขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 648 เหรียญดอลอลาร์สหรัฐ (ราว 22,000 บาท)ต่อตัน
ปี 2565 ตลาดเริ่มฟื้นตัว เกิดการเติบโต จากอุตสาหกรรมยานยนต์และก่อสร้าง รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ราคาอยู่ที่ 789 เหรียญสหรัฐ (ราว 27,000 บาท) ต่อตัน
ปี 2566 ราคาเริ่มมีเสถียรภาพ แต่มีความท้าทายใหม่ด้านกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมบีบให้ธุรกิจต้องปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 655 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22,340 บาท) ต่อตัน
ปี 2567 ผลจากมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนและนวัตกรรมลดคาร์บอน เริ่มส่งผลชัดเจนขึ้น ทำให้ ราคาอยู่ที่ 620 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21,200 บาท) ต่อตัน

 

 

นี่คือสิ่งที่ทำให้เอสซีจีต้องปรับแผนธุรกิจเพื่อก้าวให้เท่าทันความเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดสีเขียวอย่างรวดเร็ว เพราะปิโตรเคมีถือเป็นรายได้หลักของเอสซีจี ภายใต้กลุ่มบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่มีรายได้สัดส่วน 39 % ของรายได้รวมปี 2566 อยู่ที่ราว 5.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ผลจากราคาปิโตรเคมีที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้และกำไรของโรงงาน ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals-LSP) เวียดนาม ที่เริ่มเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายในเดือนกันยายนนี้ ไม่สามารถเข้ามาพยุงรายได้เอสซีจี ทำให้สัดส่วนรายได้ปิโตรเคมี ลดลงจากสัดส่วน 50-60% ของรายได้รวมในเอสซีจี ลงสู่ระดับดังกล่าวมา

 

 

เร่งปรับโมเดล ‘ชอทคัท’ วัฎจักรปิโตรเคมี

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยถึงแผนการปรับตัวเพื่อรองรับกาเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวภายใน 3-5 ปี ข้างหน้าว่า ปีนี้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเผชิญกับความท้าทายผันผวนกว่าที่คาดการณ์เนื่องมาจากราคาปิโตรเคมีลดลง และการแข่งขันกำลังการผลิตสูงกว่าความต้องการ(supply) จึงส่งผลกระทบต่อกำไรของ โรงงาน LSP ที่เลื่อนเปิดดำเนินการจากต้นปีมาสู่เดือนกันยายนปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะใช้โมเดลการเติบโตของเมืองไทย เริ่มจากสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป (Commodity) เพื่อรอให้ฐานแข็งแกร่งตามโมเดลไทย เพิ่มการผลิตสินค้ามีคุณภาพเพิ่มขึ้น มาสู่ สินค้ามูลค่าสูง (High Value) ใช้เวลา 10 ปี ต้องปรับไปสู่การ ‘ชอทคัท’ ปรับสูตรและตลาดใหม่เพิ่มสินค้ามีมูลค่ามากขึ้น

“อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ จากที่คาดว่าครึ่งปีหลังปีนี้จะมีสัญญาณดีขึ้น แต่ปรากฎว่าไม่ฟื้นตัว ปิโตรเคมียังเหนื่อย มีหลายคนบอกว่าต้องทนเพราะทุกคนก็ลำบาก (Suffer) ในเมืองจีน โรงงานเล็ก ๆ ก็ปิดตัวไปแล้ว 2-3 แห่ง เราจึงรอวัฎจักรปิโตรกลับมาฟื้นตัวไม่ได้ (Cycle) และไม่สามารถใช้โมเดลโมเดลโรงงานที่ไทย จะต้องเริ่มลงมือ Take Action เพื่อปรับให้ LSP มีศักยภาพในการแข่งขัน”

 

 

เศรษฐกิจสีเขียว เห็นสัญญาณในจีน
อุตสาหกรรม ‘นิวเอสเคิร์ฟ’ โตต่อเนื่อง

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ที่เริ่มเห็นสัญญาณในจีน อุตสาหกรรม นิวเอสเคิร์ฟ ธุรกิจใหม่ ๆ เติบโตดี เป็นตัวสะท้อนก่อน อุตสาหกรรมสีเขียวมีความโดดเด่น เช่น พลังงานโซลาร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโต 30-40% แต่กลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม กลับติดลบ 20-30% เช่นเดียวกับตลาดในเมืองไทย โลว์คาร์บอนซีเมนต์เติบโตอย่างสูง ขณะที่ซีเมนต์แบบเดิมลดลง และคอนกรีตยอดตก

“การลดลงของยอดขายของอุตสาหกรรมเดิม สะท้อนเห็นเห็นถึงสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) ถ้าเราปรับตัวได้ทันเราจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ถ้าเราปรับตัวไม่ทัน เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

เจาะ4 กลยุทธ์เร่งโมเดลกรีน
ทางรอดท้าอนาคต สู้โลกผันผวน

ธรรมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า เอสซีจียังจะต้องปรับโมเดลการพัฒนาธุรกิจอีก 4 ด้าน เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว เพื่อรองรับกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทายและผันผวน ทำให้ยังรักษาระดับการเติบโตภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ในอัตราการเติบโต 10% ทั้งในปีนี้และปีหน้า(ปี 2566-2567) ประกอบด้วย

 

 

1.โมเดลการผลิตที่ถูกลงและมีคุณภาพสู้สงครามการค้า ผลกระทบจากสินค้าจีนส่งมาแข่งขันในตลาดไทยเพิ่มขึ้น เพราะถูกบีบจากกฎระเบียบทั้งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU) เพราะขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ การผลิตที่ใหญ่ จึงมีความสามารถผลิตสินค้าถูกและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้น การปรับตัวของเอสซีจี จึงต้องใช้เทคโนโลยี ทั้งปัญญาประดิษฐ์ และการค้นหาวัสดุที่ช่วยลดต้นทุน นำเสนอการในรูปแบบของการวางระบบ (System) มากกว่าขายเป็นชิ้น เช่น ระบบห้องน้ำ ดูแลผู้สูงอายุ

“การพัฒนาการประกอบขึ้นมาผลิตที่เมืองไทย เป็นการโมดิฟายด์ที่คิดค้นในรูปแบบของไทย ที่ได้แนวคิดการใช้กระบวนการผลิตต้นทุนต่ำจากจีน เช่น นำหุ่นยนต์มาช่วยประกอบที่สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน ทำให้แข่งขันต้นทุนได้ ถ้าเราหาวิธีการลดต้นทุน แข่งขันกับจีนได้ โอกาสก็จะส่งกลับไปขายที่จีนได้ก็มี นี่คือการใช้โอกาสจากผลกระทบสงครามการค้าให้เกิดประโยชน์ใน 3-5 ปีข้างหน้า”

2.ผลกระทบจากฎระเบียบจากตะวันตกส่งมาถึงไทยให้ปรับตัว พร้อมรับมาตรฐานโลก อาทิ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism - มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน) ,การเก็บภาษีคาร์บอน (Cabon Tax ) ทางเอสซีจี ปรับตัวมาตลอด ด้วยการหาวิธีการผลิตที่ลดคาร์บอน จึงพัฒนา ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ 2 เจนแล้ว ที่จำหน่ายออกมา 9 เดือนที่ผ่านมา สามารถส่งไปจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาแล้ว 1 ล้านตัน ยังสามารถสร้างโอกาสในการส่งออกไปในประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรเลีย เนื่องมาจาก กฎระเบียบโลกทำให้ เลือกซื้อสินค้าที่มีเป้าหมายการผลิตมุ่งเน้นสีเขียว ลดคาร์บอน (Green Priorities)


“สิ่งที่ปรับตัวมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการลดต้นทุน และพัฒนาสินค้าลดคาร์บอน เริ่มเห็นมากขึ้นทำให้สินค้าก้าวเข้าสู่ระดับพรีเมี่ยมในลูกค้า Green Priority ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา หากสินค้าใกล้เคียงกันทำใจลำบาก เมื่อแข่งต้นทุนแข่งไม่ได้ แต่สินค้าเรามีกรีนด้วย จึงถูกเลือกเข้าไปในตลาด”

3.เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำ จึงต้องขยายตลาดไปสู่เพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ยังถือว่าเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง จึงต้องมองเป็นโอกาสเติบโตควบคู่กัน ทำให้เข้าไปลงทุนและพัฒนาตลาด อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา และ อินเดีย

ในอินเดีย ยกโมเดลสินค้าผนังมวลเบา ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากเอสซีจีไปเปิดโรงงานผลิต ได้รับการตอบรับอย่างดี รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Pakaging) ในอินโดนีเซีย ตลอดจน เวียดนาม ที่ยังเป็นเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง

4.การเติบโตแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Green Growth) เข้าไปพัฒนาสินค้าที่มีศักยภาพในกลุ่มพลังงานสะอาด ที่เติบโตอย่างสูง 17-18% ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค จึงขยายธุรกิจใหม่ อาทิ แบตเตอรี่ พลังงานโซลาร์ โดยเป้าหมายที่ไปพัฒนาการผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานหมุนเวียนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน 3,500 เมกะวัตต์ ในปี 2573

พร้อมกับเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ตลอดจนช่วยเหลือสังคม กลุ่มคนเปราะบาง เพื่อถ่ายทอดบทเรียนในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว โดยมีสระบุรีแซนด์บอกซ์ เป็นโมเดลต้นแบบที่ได้ดำเนินการไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา


ปรับโมเดลปิโตรฯ อีเทน ผสม โพรเพน
ลดต้นทุนคาร์บอนต่ำป้อนตลาดกรีนในสหรัฐ

 


นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผูัจัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ในภาวะวัฎจักรขาลงอีกสักพัก จึงจะต้องปรับโมเดลการผลิตโรงงานที่เวียดนาม ที่เดิมจะจำหน่ายปิโตรเคมี พัฒนาพลาสติกที่ป้อนให้กับกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่แข่งขันต้นทุนต่ำเป็นหลักแล้วจึงขยายไปสู่ตลาดกรีนในอนาคต ตามโมเดลการพัฒนาของโรงงานในไทย

แต่เนื่องมาจากสินค้ากลุ่มนี้เริ่มกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Supply) ทำให้กำลังการผลิตในปัจจุบันลดลงจาก ช่วงที่วัฎจักรปิโตรเคมีขาขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงระหว่างปี 2011-2018 ในปีที่ราคาลงต่ำที่สุดมีกำลังการผลิตลดลงไปเพียง 84% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนกำลังการผลิตขึ้นไปสูงสุดถึง 87% แต่ในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2021 มีอัตราการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องและลึกขึ้นจนมีกำลังการผลิตลดลงเหลือเพียง 80% สะท้อนว่าความต้องการในตลาดลดลงมาก และการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น เพราะมีผู้ผลิตจากจีนขยายโรงงานเพิ่มขึ้น

“ปิโตรเคมีที่คิดว่าจะดีขึ้นในครึ่งปีหลังนั้นกลับกลายเป็นว่ายังไม่ดี จากสภาพเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ความต้องการตลาดโลกลดลง และเกิดการผลิต Over Supply วัฎจักร(Cycle)ปิโตรเคมีลงปีนึงแล้ว ปกติจะกลับมา แต่ในรอบนี้ต่างออกไปลงลึกไปอีกสักพัก"

โรงงานปิโตรเคมิคอลล์ที่เวียดนาม จึงต้องปรับสูตรการผลิตใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาด ที่ลดคาร์บอนและยังช่วยลดต้นทุน โดยการนำเข้า Ethylene หรือ ก๊าซอีเทน เข้ามาผสมกับโพรเพน และแนฟทา แทนสูตรเดิมที่มีโพรเพน และแนฟทา เพียงอย่างเดียว จะช่วยลดต้นทุน ซึ่งมีราคาเฉลี่ยเพียง 200-400 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อเทียบกับนาฟทา ที่มีราคาสูงถึง 650 เหรียญดอลาร์สหรัฐต่อตัน และลดคาร์บอนได้มากกว่า 50% เพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์ที่ลดคาร์บอนและราคาต้นทุนต่ำ อีกทั้งก๊าซอีเทน ยังมีความผันผวนต่ำกว่านาฟทา

 

 

ลงทุน 2 แสนล้านบาทใน 5 ปี

จันทนิดา สาริกภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนของเอสซีจีนภายใน 5 ปีข้างหน้า(ตั้งแต่ปี 2568-2573) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไปประมาณ 2แสนล้านบาท หรือ เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยมีหลักสำคัญในการลงทุนที่เน้นความมั่นคง เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจ

“หลังจากที่ลงทุนสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลงทุนเฉลี่ยมูลค่า6.5หมื่นล้านบาท ต่อปี เพราะมีโรงงานขนาดใหญ่ในเวียดนาม ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ทำให้ขนาดการลงทุนกลับมาอยู่ในจุดมั่นคงเพื่อวางแผนการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมกันกับรักษากระแสเงินสดไว้เพื่อรองรับความท้าทายที่ไม่คาดคิด ”