มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไขหนทางแก้จนยั่งยืน ‘การปลูกป่า ปลูกคน’ ค้นโอกาสกู้วิกฤตโลก

by ESGuniverse, 18 กันยายน 2567

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ชี้ ‘การปลูกป่า ปลูกคน’ เป็นทางออกของไทยที่จะบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส ร่วมแรงร่วมใจดูแลป่า ชุมชนคือทัพหน้า เอกชนคือผู้สนับสนุน สร้างมาตรฐานของคาร์บอนเครดิตที่น่าเชื่อถือป้องกันฟอกเขียว

 

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ในการ ‘ปลูกป่า’ ปลูกคนมาเป็นระยะเวลากว่า 36 ปี ด้วยแนวคิดการพัฒนาคนร่วมกับการปลูกป่า ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนความเชื่อที่ว่า หากสร้างหนทางให้คนหลุดพ้นจากวงจร ‘ความเจ็บป่วย ความยากจน และความไม่รู้’ ได้ ปัญหาสังคมและการทำลายธรรมชาติเพื่อความอยู่รอดก็จะหมดไปในที่สุด

พระราชปณิธานดังกล่าวของสมเด็จย่าเริ่มจากพื้นที่ดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ในอดีตเป็นเพียงผืนดินสีน้ำตาลแดงทอดยาวสุดลูกหูลูกตา ดินแดนที่ผู้คนเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานและขาดความรู้ด้านการเกษตร มีชีวิตที่แร้นแค้นและตกอยู่ในวังวนของปัญหา นำมาซึ่งการประกอบอาชีพผิดกฎหมาย ปลูกและค้าสิ่งเสพติดขายให้กองกำลังชนกลุ่มน้อย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการขายและเสพยาเสพติด รวมถึงการค้าประเวณีเพื่อหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนนำมาสู่การสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ สมเด็จย่า ทรงตระหนักว่ารากเหง้าของปัญหา คือ ความยากจนและขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงเมื่อพระชนมายุ 87 พรรษา (ปี 2530)

ปัจจุบันการพัฒนาดอยตุง ได้ปลูกป่าคืนความสมบูรณ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ กำลังพัฒนาสู่ป่าสมบูรณ์ และป่ายั่งยืนต่อไป ซึ่งต้องเริ่มจากการขจัดความอดอยากยากจนของคน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุ ‘คนหิว ป่าหาย’ ซ้ำเดิมอีก และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้นำตำรามาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและของโลกไปในคราวเดียวกัน

โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า
เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี 2564 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และภาคีภาครัฐและเอกชน ได้ริเริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน รวมทั้งไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ และฝุ่นควันจากไฟป่า เพราะแนวคิดเรื่อง ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ในภาคการเกษตรและป่าไม้ ต้นไม้สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และในประเทศไทยมีชุมชนที่ดูแลป่าดีอยู่แล้ว และในอีกทางหนึ่ง มีภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตน ดังนั้น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงเชื่อมให้ชุมชนต้นน้ำและปลายน้ำได้สนับสนุนกัน และเกิด win-win situation หรือสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เป็นการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

 

 

ปลูกป่า ปลูกคน สานต่อพระราชปณิธาน

ล่าสุด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯได้วางเป้าหมายสานต่อพระราชปณิธาน ‘ปลูกป่า ปลูกคน’ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส ที่ประเทศไทยร่วมลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้ไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตันเทียบเท่าภายในปี พ.ศ.2580

นอกจากนี้ไทยก็ได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) เพื่อที่จะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ 30 % ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 – หรือเป้าหมาย 30x30

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หัวใจของความสำเร็จที่ประเทศไทยจะบรรลุตามข้อตกลงประกอบด้วยการใช้กระบวนการทางธรรมชาติ (nature-based solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนมาจากการปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี

“การมีป่าเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และนอกจากนั้นป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน ดังนั้นในการเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ จะแยกจากกันไม่ได้”

 

 

 

แม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ 9 หมื่นไร่ ไฟป่าลดลง

หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ภาคีต่าง ๆ ในระยะยาว นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่ โดยมีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน
​​
“ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM2.5 แต่เราพบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกัน ลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม สอดคล้องกับการ ‘ปลูกป่า ปลูกคน’ นี่จึงทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มพื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต”

 

  

 

เล็งโครงการดูแลป่าพื้นที่ราบ

หม่อมหลวงดิศปนัดดา เผยว่า ขณะเดียวกันมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯคิดว่า อยากทำโครงการในพื้นที่ราบบ้าง เพราะมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเกษตรที่เมื่อไม่ได้ใช้วัตถุดิบ ก็จะนำไปเผา ตอนนี้กำลังทดลองดูว่ามีโครงการอะไรบ้างที่จะสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เช่น ไบโอชาร์ (Biochar) หรือถ่านชีวภาพ กำลังทดลองทำสเกลพื้นที่ที่เรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งอยู่ หรือโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ พัฒนาคนในพื้นที่ให้บริหารจัดการขยะให้ดี ซึ่งหลัก ๆ ก็จะใช้ตำราของแม่ฟ้าหลวงฯ รวมถึงคาร์บอนเครดิต เข้าไปถึงคนที่อยากจะสะสมแต้มบุญ การทำ Neutrality token เป็นอีกเรื่องที่มองว่าน่าสนใจ ที่จะช่วยโปรโมทในเรื่องของการเทรด Neutrality token โดยใช้คาร์บอนเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อตั้งมาตรฐานในประเทศ ป้องกัน หรือช่วยให้กระบวนการทำฟอกเขียว (Greenwashing) ให้เกิดได้ยากยิ่งขึ้น

 

 

 

แนวโน้มมาตรฐานคาร์บอนเครดิต
เน้นความหลากลายทางชีวภาพ
​​
นอกจากนี้ ในขณะที่การแสวงหาคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยังตั้งข้อสังเกตว่าประชาคมโลกกำลังจัดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันใหม่ โดยมีแนวโน้มการพัฒนาคาร์บอนเครดิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า

“ผมคิดว่าคาร์บอนเครดิตเป็นผลมาจากการที่เราดูแลป่า และธรรมชาติให้เติบโตโดยไม่ทำลาย เปรียบเสมือนรางวัลหนึ่ง แต่แม่ฟ้าหลวงฯกำลังให้ความสำคัญกับคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงที่เป็นการดูแลหลายเรื่อง เช่น การช่วยชุมชนในการดูแลป่าให้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้มีกระบวนการในการสอบทานที่ชัดเจน โปร่งใส ทำให้รู้ที่มาที่ไป ไม่ได้มีการโอเวอร์เคลม หรือบอกว่าสะสมได้มากกว่าที่เป็นจริง และภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน โดยเป็นภาคเอกชนที่มีนโยบายในการก้าวเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วิกฤตสภาพอากาศที่รุนแรง ที่เรากำลังเผชิญ เป็นผลของการสะสมจากการที่มนุษย์ละเลยการดูแลธรรมชาติมาหลายปี พอธรรมชาติเริ่มไม่มีระบบพอที่จะจัดการตัวเอง ก็จะส่งผลให้เห็น พายุที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเรื่องของน้ำหลาก หิมะตก ผิดพื้นที่ ซึ่งคาร์บอนเครดิต จะเป็นรางวัลตอบแทนที่ทำให้คนเริ่มนึกถึงการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ แต่ความท้าทายจะไม่เกิดขึ้น ถ้าทำแค่คนบางคน แต่ทุกคนอาจต้องร่วมกัน”


ชุมชนคือทัพหน้าดูแลป่า-เอกชนเป็นผู้สนับสนุน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยังกล่าวว่า ความพร้อมของชุมชนที่จะเป็นทัพหน้าในการดูแล ทำอย่างไรที่เราจะยกระดับชุมชนให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าภาคเอกชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ชุมชนเอง เป็นเสมือนทัพหน้า ถ้าไม่มีความพร้อม แล้วไม่สามารถดำเนินโครงการได้เต็มที่ นี่คือความเสี่ยงต่อทุกคนที่อยู่ในกระบวนการต้องแบกรับ โดยเฉพาะเอกชนที่ต้องแบกรับงบประมาณ สุดท้ายถ้าเขาไม่สามารถทำโครงการที่มีความเสี่ยงน้อยได้ เขาจะให้การสนับสนุนน้อยลง ทำให้ความมุ่งมั่นที่เราจะทำงานนั้นชะลอตัวลง

“ทั้งหมดที่ผมได้พูดมา ที่แม่ฟ้าหลวงฯทำมา เป็นการนำตำราพัฒนาของสมเด็จย่าที่ทรงงานมาตลอดพระชนม์ชีพและนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับเวลา สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ภารกิจทุกคน ในการไปสู่เป้า Net Zero มีความท้าทายมาก ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมแม่ฟ้าหลวง ก็อยากเข้าไปเป็นตัวเสริมทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมาย” หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าวทิ้งท้าย