กาดข่วงเมืองน่าน กับแนวคิดจัดการขยะจนได้รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก

by ESGuniverse, 2 กันยายน 2567

ถอดบทเรียนกาดข่วงเมืองน่าน จัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคม เริ่มจากวัด-โรงเรียน-บ้าน จนได้รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Green Destinations Top 100 Stories)

 

 

พื้นที่ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน (Nan Old City) เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับการจัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Green Destinations Top 100 Stories 2023) โดยได้นำเสนอในประเด็นต้นแบบการจัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคม (Social-function based waste management)

ถือเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในการส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการบริหารจัดการและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC)

จัดการขยะท่องเที่ยวด้วยกระบวนการทางสังคม

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรี เมืองน่าน เล่าว่า การแยกขยะของเทศบาลในเขตข่วงเมืองมีปริมาณ 600-1,000 กิโลกรัม แต่ในปัจจุบันไม่มีขยะเหลือทิ้ง โดยได้แบ่งขยะออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ช้อนส้อม ไม้เสียบ หลอดดูด แก้วพลาสติก กระดาษห่อ(ใบตอง ทิชชู) จานชาม(ชานอ้อย) เศษอาหาร และถุงพลาสติก

 

 

 

ทั้งนี้ ถ้วยพลาสติกจะทำความสะอาด แล้วนำไปเป็นเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย,กระดาษ จานชามที่ได้ขอความร่วมมือให้เปลี่ยนมาใช้กระดาษชานอ้อยในพื้นที่ จะนำไปย่อยสลาย ไม้เสียบลูกชิ้นก็นำไปเป็นฟืนไฟ เศษอาหารจะถูกนำไปเลี้ยงปศุสัตว์ ในส่วนของพลาสติกที่ถูกทิ้งแบบแยกประเภทแล้วก็จะนำไปขาย เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ทั้งจังหวัดมีขยะราว ๆ 30 ตันต่อวัน แต่ภายหลังจากการแยกขยะทั้ง 31 ชุมชนพบว่า มีปริมาณขยะเหลือเพียง 20 ตันต่อวัน ผ่านการแยกขยะที่ต้นทาง ด้วยพื้นที่ของบ่อขยะที่มีไม่มากจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการจัดการขยะจากต้นทางอย่างเร่งด่วน ขณะนี้หลังจากการแยกขยะ สามารถลดปริมาณขยะในบ่อไปได้มากถึง 95%

“เราพยายามทำพื้นที่ต้นแบบเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ต้องการสร้างพลเมืองคุณภาพผ่านองค์ความรู้ ผ่านเมือง ขยะในครัวเรือนประชาชนก็รู้จักแยกขยะ และมีการทำขยะออมบุญ คือนำมาแลกเงินเป็นสวัสดิการ กองทุน สร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

ลดขยะจากการทำบุญ

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. เล่าว่า อพท.ใช้ระยะเวลานานกว่า 5 ปีในการริเริ่มโครงการจัดการขยะในพื้นที่เมืองน่าน เริ่มจากโครงการ Green Temple เริ่มจาก วัด-บ้าน-โรงเรียน ลดขยะจากธูป เทียน และขยะจากการไหว้พระ

“ยอมรับว่าสิ่งที่ยากคือเรื่องความเชื่อ เนื่องจากชาวบ้านกลัวว่าบุญจะส่งไปไม่ถึง”

น่านเป็นเมืองเก่าที่มีวัฒนธรรมหยั่งรากลึก มีโครงการแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทางออกสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นจากวัสดุ อุปกรณ์ เก้าอี้ในวัดที่เริ่มปรับใช้เป็นวัสดุจากธรรมชาติ แล้วจึงค่อยเริ่มในส่วนต่อมา ขณะที่วัดกว่า 10 แห่งในจังหวัดน่านเลิกจุดธูปไหว้พระ ลดขยะและมลพิษจากควัน

ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน
จุดเริ่มต้นของความยั่งยืน

ดร.ชุมพล บอกเล่าต่อว่า ในอดีต พื้นที่ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่านยังไม่มีการแยกขยะชัดเจน เป็นจุดสำคัญที่ได้ปรับเปลี่ยนสู่การแยกขยะได้อย่างครบถ้วน แม้ว่าตอนนี้ยังคงเป็นการดำเนินการในระดับเมือง แต่จากการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วพบว่าโครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์ ก็จะสั่งการลงไปยังหน่วยงานอื่นๆให้เกิดการสานต่อในอนาคต

“การเริ่มต้นในพื้นที่ระดับเมืองเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการเริ่มต้นจากระดับรากหญ้า เป็นความต้องการของประชาชนจริงๆ เป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง การทำงานจากระดับล่างขึ้นบนเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดได้มาเดินดูงานก็ได้เห็นผลลัพธ์แล้วว่าเป็นเรื่องที่ดี และคาดว่าจะมีการสานต่อไป”

 

 

 

สำหรับรางวัล Green Destinations Top 100 Stories เป็นสิ่งที่ขยายผลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากได้รางวัลมาแล้วต้องขยายต่อ โดยรางวัลนี้มี Commission Period ไปอีก 4 ปี จึงต้องรายงานผลอยู่ตลอดว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ไม่เช่นนั้นจะถูกถอดรางวัลออกได้

น่าน เมืองสร้างสรรค์ ถูกพัฒนามาจาก SDGs 17 ข้อ การท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงความยั่งยืน หลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนก็ได้มีการนำเกณฑ์นี้มาปรับใช้ด้วยเช่นกัน

เล็งนำเทคโนโลยี CiCLO มาใช้
เพิ่มอัตราการย่อยสลายขยะ

ดร.ชุมพล ยังเล่าอีกว่า ในอนาคตคาดว่าจะนำเทคโนโลยี CiCLO เข้ามาใช้ในการจัดการขยะ เพื่อแยกโมเลกุลขยะ ให้แบคทีเรียสามารถแทรกตัวเข้าไปได้ เพื่อเร่งอัตราการย่อยสลาย

โดยเทคโนโลยีนี้ เป็นสารเติมแต่ง biophilic ที่เพิ่มในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการทําเส้นใย ข้อได้เปรียบคือการที่สามารถแตกตัวได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม และเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของการใช้งาน เทคโนโลยี CiCLO จะเป็นการใช้ในสภาพสามารถเกิดการย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ในตอนนี้ยังมีราคาที่สูงอยู่ สำหรับในอนาคต อพท. จะนำสารตัวนี้เข้ามาใช้อย่างแน่นอนเมื่อมีราคาที่ถูกลง