สันติ อาภากาศ ซีอีโอผู้ก่อตั้ง Tastebud Lab ขับเคลื่อนวงการอาหารไทย สู่อาหารแห่งอนาคต

by บุษกร สัตนาโค, 4 สิงหาคม 2567

คุยกับ สันติ อาภากาศ ซีอีโอ Tastebud Lab ผู้มีฝันอยากขับเคลื่อนอาหารไทย สู่อาหารแห่งอนาคต เป็นบัดดี้คู่คิด สะพานเชื่อม หน่วยงานรัฐ-เอกชน-ผู้ประกอบการ-เกษตรกร-นักลงทุนเข้าหากัน

 

เทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เขย่าวงการอาหารมานาน โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีการพัฒนาและเติบโตเร็วมาก เมื่อเทียบกับประเทศไทย เหตุผลหนึ่งอาจเเป็นเพราะไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีอาหารหลากหลาย ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มักเลือกทานอาหารจากความอร่อย จนอาจหลงลืมเหตุผลด้านสุขภาพ

แม้ว่าในช่วงหลัง เทรนด์รักสุขภาพจะมาแรง แต่คนอาจยังไม่เข้าใจว่า แท้จริงแล้วอาหารแห่งอนาคตคืออะไรกันแน่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘ยี้ - สันติ อาภากาศ’ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Tastebud Lab และ Bio Buddy พยายามจะสร้างความเข้าใจให้ผู้คนในวงกว้าง เห็นถึงคุณค่าอาหารแห่งอนาคต ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มร่วมกับเพื่อนที่มีแพสชั่นเดียวกัน และทีมงานกว่า 30 ชีวิต

เริ่มต้นจากการให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการรับรู้ ต่ออาหารแห่งอนาคต ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ รัฐ-เอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการ นักลงทุน เรื่อยไปถึงเกษตรกร ครอบคลุม ดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระบบนิเวศทางอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตอบรับโอกาสที่เกิดขึ้นจากศักยภาพของอาหารแห่งอนาคตร่วมกัน

-นิยามอาหารอนาคต

เฉลยคำถามที่ว่า อาหารแห่งอนาคต คืออะไร สันติ พูดติดตลกว่า ไม่ใช่อาหารเม็ดแบบแคปซูลในโลกไซไฟ แต่คือการสร้างสรรค์วัตถุดิบทดแทนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารสร้างความยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน นิยามสั้นๆคือ 3 ดี ประกอบไปด้วย 1.ดีต่อใจ คือ อร่อย ราคาเหมาะสม ปลอดภัยต่อการบริโภค 2.ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และ 3.ดีต่อโลก คือกระบวนการผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

 

 

จากเทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่มาแรงในต่างประเทศ ทำให้เขามองเห็นโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ โดยมองว่าเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารไทย ในการยกระดับสู่ธุรกิจอาหารแห่งอนาคต จึงได้ก่อตั้งบริษัท Tastebud Lab และบริษัท Bio Buddy ขึ้นมา โดยก่อนหน้า ได้มีโอกาสในการคําปรึกษาด้านกลยุทย์และการสร้างแบรนด์ทําการตลาด ให้กับผู้ประกอบการอาหาร ตลาดในและต่างประเทศ

“ต้องบอกว่าผมไม่เคยเรียน หรือทำงานเกี่ยวกับด้านอาหารมาก่อน ผมจบปริญญาตรี บริหารและการตลาด ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และได้เรียนปริญญาโท MBA บริหารธุรกิจที่ Johnson & Wales University, USA ซึ่งจะเกี่ยวกับบริหารหมดเลย ส่วนประสบการณ์การทำงานก็เป็นพนักงานบริษัทที่ลอรีอัล ประเทศไทย และแอมเวย์ สำนักงานใหญ่ ทำให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางทำธุรกิจ และกลยุทธ์ตลาด”

-พูดคุยเกษตรกร ทำให้มองเห็นโอกาสธุรกิจ

การเชื่อมโยงเขาสู่ธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ยังเกิดขึ้น เมื่อ 10 กว่าปีผ่านมา เมื่ออาจารย์ที่รู้จักพาเขาลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้พูดคุยกับเกษตรกร จนเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาสินค้าชุมชน ให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น บวกกับเทรนด์อาหารแห่งอนาคตกำลังเข้ามา จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจเกษตรและอาหาร ศึกษาข้อมูลความรู้ จากหลาย ๆ แห่ง ซึ่งพบว่าขณะนั้นยังไม่มีหน่วยงานไหนในไทยที่สร้างการรับรู้ หรือต่อยอดอาหารแห่งอนาคต

 

 

“ผมจำได้ว่าเกษตรกรที่นั่นเขาทำกล้วยเบรกแตก เป็นวิธีถนอมอาหารเก็บกล้วยให้นานขึ้น เขาลงทุนทำด้วยตัวเอง ไม่ได้รับการสนับสนุนจากใครเลย ลองผิดลองถูก ซื้ออุปกรณ์ที่เป็นเทคโนโลยี เครื่องจักรมาใช้ ก็ไม่ได้ใช้ เอาเก็บไว้ใต้ถุนบ้าน กลายเป็นว่าก็ยังเป็นหนี้เป็นสิน การแปรรูปไม่ได้สร้างรายได้ และกำไรเท่าที่ควร ทั้งๆที่ในมุมของคนทำธุรกิจมีโอกาสมหาศาล มูลค่าธุรกิจอาหารแห่งอนาคต มีสูงกว่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านเกษตรและอาหารอยู่แล้ว”

-อาหารแห่งอนาคต ไม่ใช่แค่ธุรกิจ
คิดครบมิติเพื่อกอบกู้โลกยั่งยืน

สันติ ยังให้มุมมองว่า นอกจากในมุมศักยภาพธุรกิจแล้ว อาหารแห่งอนาคต ยังตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และความยั่งยืน (Sustainability) ได้อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่และท้าทายสำหรับประเทศไทย

“เรื่องอาหารมีหลายมิติมาก เป็นทั้งเรื่องความยั่งยืน เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่ยกระดับมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร แต่เป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรที่ผลิตอาหารที่ดีมีคุณค่า สู่การบริโภคยั่งยืน”

-Kitchen Lab โมเดลธุรกิจบ่มเพาะผู้ประกอบการ
ทรานส์ฟอร์มธุรกิจอาหาร

สันติ เล่าถึงโมเดลธุรกิจของบริษัทว่า เป็น Kitchen Lab หรือแลปที่จะพัฒนาผู้ประกอบการสู่ธุรกิจอาหารแห่งอนาคต เป็นแหล่งบ่มเพาะ (Incubation) และเร่งให้เกิดการพัฒนา (Acceleration) ในที่เดียวกันอย่างครบวงจร โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำในทุกกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความสำเร็จ

 

 

“เราทำโครงการพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบการ ผ่านโครงการอบรม บ่มเพาะ พัฒนา เร่งรัด มีการประกวดแข่งขัน จัดบูธ รวมถึงเรื่องของการเข้าถึงเงินทุน  TED FUND ของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพสูงสุด 1.5 ล้านบาททุก ๆ ปี ทุกอย่างรวมอยู่ในโมเดลธุรกิจนี้”

-สะพานเชื่อม นำสตาร์ทอัพ พบคู่ค้า นักลงทุน

อีกบทบาทหนึ่งของแพลตฟอร์ม Venture Builder คือเป็นบัดดี้ช่วยในการระดมทุนและร่วมทุน และเป็นสะพานเชื่อมให้กับ สตาร์ทอัพ และคู่ค้านักลงทุนได้มาเจอกันผ่านฟอร์รั่มต่าง ๆ

“การเป็นสะพานเชื่อม ทำให้เรามีเครือข่ายรวมผู้ประกอบการ และคนที่สนใจด้านนี้ เป็นชุมชน คนทำธุรกิจในวงการเดียวกัน”

 

 

-ภาพรวมอาหารแห่งอนาคตในไทย

สันติ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสตาร์ทอัพด้านอาหารแห่งอนาคต จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเรียกว่า Agri-Food Tech Startup คือกลุ่มคนที่ทำเทคโนโลยี ที่สามารถใช้เทคโนโลยีขึ้นเป็นโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพได้ในเมืองไทย จากที่มีการศึกษากับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ พบว่าน่าจะมีประมาณ 57-59 ราย

ส่วนกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่ผลิตสินค้าออกมา เป็นวัตถุดิบ หรืออาหาร จะเป็น SMEs ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากกว่ากลุ่มแรก จากการอัพเดทกับสมาคมการค้าล่าสุดพบว่ามีมากกว่า 60 ราย ยังไม่รวมนอกสมาคม ขณะที่บริษัทใหญ่ ๆ ด้านอาหาร ก็มีการแตกไลน์ธุรกิจออกมาทำเรื่องอาหารอนาคตโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น แพลนต์ เบส ฟู้ด (Plant Based Food) เรื่องเนื้อเทียมต่าง ๆ โดยรวมในเมืองไทยตอนนี้น่าจะมีคนทำเรื่องอาหารอนาคตเกือบ 200 ราย และจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เติมเข้ามาทุก ๆ ปี

 

 

อาหารแห่งอนาคต 4 ประเภท ที่ส่งออกในตลาด

สำหรับประเภทของอาหารแห่งอนาคต โดยหมวดหมู่ที่เกิดตัวเลขในการค้าขายส่งออกที่หน่วยงานรัฐจับตัวเลขได้มีอยู่ 4 หมวดหมู่หลัก ๆ

     1.อาหารโปรตีนทางเลือก (Alternative protein) ก็จะเป็นโปรตีนจากพืช จากแมลง เชื้อเห็ดรา ไมโครโปรตีน หรือในอนาคตที่เรากำลังจะพูดเรื่อง Cultured Meat หรือเนื้อแห่งอนาคต ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ของสัตว์

     2.อาหารฟังก์ชัน (Functional food) และสารประกอบเชิงฟังก์ชัน (Functional ingredients) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือพวกเครื่องดื่มที่เติมวิตามิน เครื่องดื่มเติมคอลลาเจน หรือเริ่มเป็นอาหารที่แอดวานซ์มากขึ้น หรืออาหารที่เริ่มมีการกล่าวเคลมบางอย่างได้ สมุนไพรก็อยู่ในหมวดหมู่นี้

     3.อาหารทางการแพทย์ (Medical food) และอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized food) หมวดนี้ยังเล็กอยู่ แต่มีการเติบโตสูง และมูลค่าสูงมาก ตอบโจทย์สังคมสูงวัย ตอบโจทย์คนกินอาหารแทนยา ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะยากในการขึ้นทะเบียนและการรองรับ และการบริโภคต้องให้สถานพยาบาล หรือศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย แพทย์นักโภชนาการแนะนำให้ทาน

     4.อาหารอินทรีย์ (Organic) เป็นอาหารที่มาจากระบบการผลิตที่ยั่งยืนและปลอดภัย ตอนนี้มีคนทำเกษตรยั่งยืนหลายศาสตร์มาก

-รุกธุรกิจ 7 ปี เป็นบัดดี้ทุกภาคส่วน

สันติ ย้ำว่า Tastebud Lab ดำเนินการมาแล้ว 7 ปี เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่ออยากจะเป็นเพื่อนกับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ เกษตรกร และคนในวงการอาหารแห่งอนาคต เพื่อช่วยกันพัฒนาธุรกิจนี้ให้เติบโต

 

 

“การทำงานของเราจึงเหมือนบัดดี้ เพื่อนคู่คิด คู่พัฒนา เพื่อไม่ให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารที่อยากจะเปลี่ยนผ่านสู่อาหารแห่งอนาคต ต้องหลงทาง ตอนนี้องค์กรของเรามีความเชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ ทั้งเชฟ คนที่มีประสบการณ์ด้านร้านอาหาร มีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องวิทยาศาสตร์อาหาร (Food Science) พร้อมทีมงาน ที่พร้อมจะสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง”

องค์กรมีสโลแกนว่า Future Food and Food Buddy for Bioeconomy ดังนั้นความฝัน และเป้าหมายขององค์กร อยากเห็นผู้ประกอบการ ที่เราเป็นบัดดี้ ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำ และเมื่อเขาทำได้สำเร็จ เขาจะกลายเป็นผู้บุกเบิก และกลายเป็นผู้นำในระบบอาหารแห่งอนาคต นั่นคือเป้าหมาย และความฝันของเรา ‘สันติ’ ทิ้งท้าย