‘Pride Month’ ผู้ประกอบการไทยระดมสมอง รองรับนักท่องเที่ยว กลุ่มหลากหลายทางเพศ ‘LGBTQIA+’ จากทั่วทุกมุมโลก

by ESGuniverse, 21 พฤษภาคม 2567

เทศกาล Pride Month ปี 2024 กำลังสร้างความคึกคัก ให้กับบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ในเขตเศรษฐกิจเมืองพัทยา จากการรวมตัวกัน มาช่วยกันแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจ ให้กับคนทำงานในภาคบริการ ให้เข้าใจถ่องแท้ ถึงความเท่าเทียม การไม่แบ่งแยกชนชั้น และเปิดรับการมาของ LGBTQIA+ ที่จะมาท่องเที่ยว สร้างรอยยิ้มให้คนไทย และเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับเศรษฐกิจไทย

 

 

ณ วันนี้ ‘จังหวัดชลบุรี’ หรือแม้แต่ทั้งประเทศ ต่างก็ต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งในไทยและต่างประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สนับสนุนการท่องเที่ยวรับนักท่องเที่ยวทุกประเภท ทุกเชื้อชาติ โดยไม่มีการแบ่งแยกทางเพศ

เพื่อขานรับวิสัยทัศน์ ‘GNITE THAILAND’ ของรัฐบาล ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการให้ความสำคัญกับ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ มุ่งผลักดันประเทศไทย ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ครองพื้นที่กว่า 20% ของ GDP ประเทศไทย

‘มิถุนายน’ เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ของชาว LGBTQIA+ ในฐานะที่ จังหวัดชลบุรี เป็น เมืองท่องเที่ยว ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผสมผสานอยู่มากที่สุด เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพัทยา เป็นอีกเวทีใหญ่ของงานเดินขบวนเฉลิมฉลอง ‘International Pride Parade’ และงาน ‘Pattaya Festival Parade’ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม จากบรรดา LGBTQIA+ นับพันคน ที่พร้อมใจกันมา กิน ดื่ม เที่ยว และเป็นสายเปย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา

 

 

มาอัพเดท สัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ของคนกลุ่มนี้กันบ้าง ว่าเขาแบ่ง LGBTQIA+ segmentation กันอย่างไร?

L: Lesbian กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง
G: Gay กลุ่มชายรักชาย
B: Bisexual กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
T: Transgender กลุ่มคนข้ามเพศ ทั้งจากเพศชายเป็นเพศหญิง และเพศหญิงเป็นเพศชาย
Q: Queer กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่งโดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศหรือความรัก
I: Intersex ภาวะเพศกำกวม
A: asexual เพศที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเพศ

ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ประกอบการภายในพื้นที่ จึงได้เตรียมการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ กำลังซื้อสูง ที่จะเข้ามาท่องเที่ยว และร่วมเดินขบวนในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ จากความเข้าใจ ในความแตกต่าง และอยู่อย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่านักท่องเที่ยวจะเป็นเพศอะไร? เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข และยั่งยืน

 

 

 

ภายในงานเวทีเสวนา ‘สานต่อความเท่าเทียมทางเพศจากพัทยาสู่สากล’ KTC ตอกย้ำองค์กรแห่งความเท่าเทียม ได้มีการระดมความเห็นจาก หอการค้า สมาคมโรงแรมไทย และผู้ประกอบการภาคเอกชน ผลักดันพื้นที่เศรษฐกิจพัทยา เป็นหนึ่งในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ

ทุกเพศ ทุกสีผิว คือโอกาสทำเงิน

นายธิรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าชลบุรี กล่าวว่า ในวันนี้เราทุกคนต้องช่วยกัน ทุกเพศ ทุกสีผิว ทุกคนที่เข้ามาท่องเที่ยวนั้น ถือเป็นโอกาส วันนี้ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าบ้านของจังหวัดชลบุรี หรือเมืองพัทยา ก็ต้องให้ความรู้ ให้ทุกคนเข้าใจ คุณค่าของความแตกต่าง และสามารถอยู่ร่วมกันได้ อย่างเท่าเทียม

”เราไม่สามารถเลือกนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่ง หรือสองกลุ่ม หรือสามกลุ่มได้ วันนี้เราควรจะต้องเปิดตัวเองออกไปแล้ว ก็ยอมรับความแตกต่าง และจงมองทุกอย่างให้เท่าเทียม“

 

 

 

เรียนรู้บริการที่เท่าเทียม

นางสาวมรกต กุลดิลก นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า ส่วนใหญ่ภายในเว็บจองโรงแรม (Online Travel Agent: OTA) มักจะมีให้ระบุว่าเป็น LGBTQ+ ซึ่งในส่วนนี้ผู้บริการก็ต้องเข้าใจ และเรียนรู้ในการให้บริการที่เท่าเทียม ให้พนักงานมองว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เป็นลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ที่มีความต้องการแตกต่างกันไป

การบริการต้องมีพื้นฐาน อยู่บนความเข้าใจต่อลูกค้า และเรียนรู้ในการบริการที่เท่าเทียม หลายครั้งที่การท่องเที่ยวถูกแบ่งชนชั้น ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการ ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกัน ในการให้ความสบายใจแก่นักท่องเที่ยวทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศที่แตกต่าง เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ และยั่งยืนได้ต่อไป

“ความยั่งยืนของการบริการ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ลูกค้าเข้าพักแล้วพึงพอใจ จึงกลับมาใช้บริการซ้ำ ไม่ใช่แค่ในพื้นที่พัทยา แต่เป็นการมาใช้บริการซ้ำ ในพื้นที่ของเรา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ในการให้บริการ“

นางสาวมรกต ยังได้เสนอความคิดเห็น ในประเด็นการสนับสนุนจากภาครัฐว่า การที่ภาครัฐจะทำความเข้าใจกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่มีความหลากหลายทางเพศได้นั้น ต้องปรับตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ต้องเตรียมพร้อมทั้งความเท่าเทียม ความไม่แปลกแยกในการใช้ชีวิต โดยเสนอให้มีการส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็ก สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้สามารถอยู่ในสังคม ที่มีความหลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

 

 

‘CPN’ หลากหลาย เท่าเทียม มีส่วนร่วม

นายปรมะ องค์กิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ขับเคลื่อนจากภายในสู่ภายนอก ขับเคลื่อนด้วยใจที่รักการบริการ ในขณะเดียวกัน เซ็นทรัล ในฐานะองค์กรที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งของประเทศ ก็พยายามสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึง ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม เป็นหัวใจหลัก

“จากการสังเกตุพบว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นกลุ่มที่มีความสามารถสูง มีกำลังซื้อสูง และแฝงตัวอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ความแข็งแกร่งของกลุ่มคนเหล่านี้ คือความคิดสร้างสรรค์ จึงสรรค์สร้างออกมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ”

 

 

 

‘ครอส โฮเตลส์ฯ’ ทำตลาด ไม่ต้องแบ่งเพศสภาพ

นางสาวพุทธชาด แปงใจ รองประธานฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ครอส โฮเตลส์ แอนด์ รีสอร์ทส์ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจที่เติบโตอยู่ประมาณ 2.7% ในฐานะโรงแรมก็ได้มีการคิดว่า การที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับกลุ่มต่าง ๆ อาจจะต้องแบ่งแยก โดยใช้ไลฟ์สไตล์เป็นหลัก เช่น มีแพ็กเกจ หรือทำอะไรที่สามารถเพิ่มมูลค่าในการเข้าพักได้ แล้วก็จะทำให้เศรษฐกิจของโรงแรม และจังหวัดขยายตัวมากขึ้น

ในหลาย ๆ ครั้ง โรงแรมไม่ได้แบ่งแยกผู้เข้าพัก ตามเพศสภาพ แต่โรงแรมสามารถทำเป็นแพ็คเกจ Romantic Dinner มีกิจกรรมคู่รัก หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทุกอย่างสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้หมด โดยไม่ต้องแบ่งแยกเพศสภาพ

นางสาวพุทธชาด มองว่า ในส่วนของภาคเอกชน หรือโรงแรม การกระตุ้นการใช้จ่ายจากคนกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศอะไร เชื่อชาติไหน เข้ามาใช้บริการในพื้นที่ ก็จะทำให้เศรษฐกิจ และธุรกิจเติบโตด่อไปได้