ป่าดิบชื้นอเมซอน ที่เคยมีระบบนิเวศอันสมบูรณ์ กำลังป่วยอ่อนแอขั้นสุด ป่าเสื่อมโทรม เพราะน้ำมือมนุษย์ รุกล้ำผืนป่า เกิดไฟป่ายาวนาน โลกร้อนขึ้น อากาศรวน ภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ นักวิทยาศาสตร์ เตือนก่อนถึง “จุดแตกดับ” ปี พ.ศ. 2593 ต้องเร่ง ฟื้นฟู เยียวยา รักษาระบบนิเวศ ก่อนล่มสลาย กอบกู้ผืนป่า คืนความหลากหลายชีวิตให้ยืดหยุ่นรับกับสภาวะการเปลี่ยนแปลง
ป่าอเมซอน ป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ ผืนป่ามหัศจรรย์ อันกว้างใหญ่ ระบบนิเวศที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ บ่งชี้สภาวะอากาศความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นแหล่งพึ่งพิงของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เป็นเวลากว่า 65 ล้านปี ที่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอเมซอนทนทานต่อความแปรปรวนของภูมิอากาศ ต้นไม้ใหญ่ที่รวมกันหลากหลายกลายก่อเป็นผืนป่าอันเขียวขจีขนาดใหญ่ ได้ทำหน้าที่เป็น”ปอดของโลก” แหล่งผลิตออกซิเจน และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ช่วยควบคุมสภาพอากาศ ด้วยการสังเคราะห์แสงให้พืชพรรณคายไอน้ำเพื่อสร้างเมฆและฝน จึงเป็นต้นน้ำ เป็นแหล่งอาหารและยาสมุนไพร
ที่สำคัญ ผืนป่ารูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กินพื้นที่ครอบคลุม 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ คือ บราซิล เปรู โคลอมเบีย เวเนซุเอลา เอกวาดอร์ โบลิเวีย กายอานา ซูรินาม และเฟรนช์เกียนา
ป่าอเมซอนจึงถือเป็นมรดกทางทรัพยากร เป็นที่พึ่งพาไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตพืชและสัตว์ แต่ยังรวมถึงชุมชนท้องถิ่นชาติพันธุ์กว่า 300 กลุ่ม เป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมอันหลากหลาย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย
เมื่อป่าอเมซอน ได้รับผลกระทบเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงนำไปสู่การสูญพันธ์ุของพืชและสัตว์ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสังคมมนุษย์ทั่วโลก
รายงานการศึกษาเผยแพร่ใน เดอะ เจอร์นัล เนเจอร์ (The journal Nature ) พบว่าวิกฤติอุณหภูมิโลกที่พุ่งสูงขึ้น จนเกิดภัยแล้ง ผืนป่าถูกรุกล้ำ และเกิดไฟป่าทำให้สัดส่วนผืนป่าอเมซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จาก 10% ค่อยเพิ่มขึ้นถึง 47% ซึ่งเมื่อป่าถูกทำลายจนถึงระดับดังกล่าวผืนป่าได้รับความเสียหายเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ นี่คือความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับผืนป่าจนปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
ผืนป่าอเมซอนนั้นได้รับผลกระทบในระดับรุนแรงมากขึ้น ป่าอเมซอนได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากสภาวะอากาศแปรปรวนและเกิดภัยพิบัติรุนแรงและถี่ขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง อุณหภูมิความร้อนสูงขึ้น ไฟป่าไหม้ จนถึงการแผ้วถางที่ดิน ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณใจกลางป่าลึกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพพิ้นที่เสียหาย
สิ่งที่พบความเปลี่ยนแปลงป่าไม้ใน อเมซอน คือ การเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ป่าไม้ไม่สามารถเกิดการสังเคราะห์แสงเพื่อคายน้ำ จนเกิดเมฆหมอก ก่อตัวเป็นฝน ทำให้ฝนตกน้อยลงกว่าเดิม และแทนที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน กลับกลายเป็นตัวปล่อยคาร์บอนเสียเอง
ป่าอเมซอน อยู่ในจุดวิกฤติ หากเป็นคนไข้ถือว่า อยู่ในระดับป่วยหนัก จึงต้องหาทางเร่งฟื้นฟูสภาพความเสื่อมโทรมในพื้นที่ กอบกู้ความแข็งแรงของระบบนิเวศเป็นป่าดิบชื้นดังเดิม เพื่อให้พร้อมมีความยืดหยุ่นรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของโลกได้
อะไรจะเกิดขึ้นหากป่าอเมซอนป่วยไข้
เบอร์นาร์โด ฟลอเรส นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐซานตาคาตารินา ประเทศบราซิล กล่าวว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ รายงานการศึกษาพบว่า พื้นที่ป่าอเมซอนเกินครึ่งมีแนวโน้ม เข้าสู่จุดเปลี่ยนในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ. 2593) นั่นคือผืนป่าถูกทำลาย 47% พื้นที่สำคัญหัวใจของป่าได้เพิ่มความร้อนของอุณหภูมิ แล้งสุดขั้ว การทำลายป่า และไฟป่า การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ตามมาอาจนำไปสู่กระบวนการเพิ่มความร้อนไปสู่ชั้นบรรยากาศของอย่างรวดเร็ว เพราะป่าจะระเบิดการปล่อยคาร์บอนที่เก็บไว้
“นี่ก็คือจุดสิ้นสุดของของดาวเคราะห์ของเราจะจัดระเบียบตัวเอง ค้นหาสมดุลใหม่ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จะต้องปรับตัวใหม่กับเงื่อนไขที่ไม่เป็นมิตรมากมาย จากกิจกรรมทำให้อุณหภูมิที่สูงขึ้นจนเกิดภัยแล้ง” เขากล่าว
ความสามารถของป่าอเมซอนในการทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันภัยธรรมชาติ ลดการพังทลายระดับโลกได้เริ่มลดลงเรื่อย ๆ จากที่มีการเก็บกักคาร์บอนมากถึง 200 ล้านตันเมตริกต่อตัน, เทียบเท่ากับประมาณ 15 ถึง 20 ปีของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลก ทั้งหมดเกิดจากการทำลายป่าจนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เกิดภัยแล้งรุนแรง จนถึงไฟป่า จนในที่สุดคายคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มความร้อนระอุให้กับโลก
“เมื่อป่าถึงจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง มันก็จะยากมากขึ้น หรือไม่ง่ายแล้ว ที่จะควบคุมตัวแปรที่ทำให้มันเปลี่ยนไป นี่เป็นผลลัพธ์การกระทำของมนุษย์ จนนำไปสู่ระบบนิเวศที่ถูกทำลาย ทรัพยากรน้อยลงสำหรับประชากรท้องถิ่น น้ำฝนน้อยลง ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น มนุษย์ต้องลดโลกร้อนและยุติการทำลายป่าอเมซอนเพื่อป้องกันการเกิดเหตุนี้” เขากล่าว
หยุดรุกล้ำ ปลูกป่า ลดอุณหภูมิ
หนทางกู้ชีพอเมซอน ก่อนภัยพิบัติมาเยือน
สำหรับการประมาณการว่าภายในปี พ.ศ. 2593 เมื่อพื้นที่ป่าอเมซอนสัดส่วนหายไปจาก 10% เพิ่มเป็น 47% สิ่งที่ตามมาคือภัยพิบัติทางธรรมชาติรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ดังนั้นเพื่อปกป้องผืนป่านี้ นักวิทยาศาสตร์จึงทำการศึกษาวิธีการป้องกัน โดยวางขอบเขตกันแนวแยกพื้นที่ปลอดภัยให้ป่า รวมถึงแบ่งเขตกันชน เพื่อรักษาการตัดไม้ทำลายป่า 10% ของภูมิภาคอเมซอน และเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 C เมื่อเทียบกับยุคอุตสาหกรรม
รายงานได้ระบุถึงปัจจัยที่จะรักษาความชุ่มชื้นของป่าอเมซอน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศสมบูรณ์ดังเดิม คือ การรักษาความร้อนของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเปรียบเทียบกับระดับก่อนอุตสาหกรรม สอดคล้องกันกับ เป้าหมายข้อตกลงปารีส ปี 2015 (พ.ศ.2558), การรักษาปริมาณฝนตกประจำปีในป่าอเมซอนให้มากกว่า 1,000 มิลลิเมตร, การควบคุมการรุกล้ำทำลายป่าให้ไม่เกิน 20 %, วางขอบเขตรักษาเซฟโซน พื้นที่หัวใจของอเมซอน ต้องควบคุมอุณหภุมิสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (2.7 องศาฟาเรนไฮต์) เพื่อให้เกิดปริมาณน้ำฝนสูงขึ้นเกินกว่า1,800 มิลลิเมตรต่อปี และห้ามรุกล้ำทำลายให้น้อยกว่า 10 % ก่อนจะถึงจุดแตกดับ ในปี พ.ศ. 2593 ที่พื้นที่ป่าอเมซอน ความเสียหายคืบคลานไปสู่จุดที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบนิเวศ
จับตาทุ่งหญ้าสะวันนาทรายขาว หลุมดำแผ่วงกว้าง
รายงานระบุว่าเมื่อถึงปี พ.ศ. 2593 คาดว่าจะมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ของป่าที่คาดว่าจะมีจุดสำคัญสำหรับการเพิ่มความร้อนของอุณหภูมิ แล้งสุดขั้ว การทำลายป่า และไฟป่า การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ตามมา นำไปสู่ป่าแตก ปล่อยคาร์บอนที่เก็บไว้ในบรรยากาศ
จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ป่าอเมซอนถูกทำลายไปแล้วสัดส่วน 15% และอีก 17% เป็นพื้นที่เสื่อมโทรมลง จากคน เป็นต้นเหตุ เริ่มต้นรุกล้ำ ตัดไม้ เผาป่า มีผืนป่าสัดส่วน 38% อ่อนแอจากภัยแล้งที่ยืดเยื้อในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลล่าสุดมีดัชนีชี้วัด ที่มาจากข้อมูลการคาดการณ์ในอดีต พร้อมกันกับประมวลผลสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ที่รวบรวมแนวโน้มสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศมีแนวโน้มเกิดขึ้น 3 สมมติฐาน ได้แก่
-ทุ่งหญ้าสะวันนาทรายขาว ท้องฟ้าบริเวณนั้นเกิดเป็นช่องว่าง ไม่มีเมฆหมอก ไอน้ำ สะท้อนถึงการเกิดหลุมดำ ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้น บ่งชี้ถึงความเสื่อมโทรมของป่าบริเวณนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความแห้งแล้ง และต้นตอของการเกิดไฟป่า
-คาดอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิจะสูงขึ้น โดยเฉพาะในฤดูร้อน จะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง มีโอกาสอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 40 ปีที่แล้วถึง 2 องศาเซลเซียส
-ในพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของป่าอเมซอน จะเกิดภัยแล้งยาวนานต่อเนื่อง 10 – 30 วัน และอุณหภูมิสูงสุดจะเพิ่มขึ้น 2- 4 องศาเซลเซียสทุกปี ความร้อนระอุทำให้ผืนป่าและประชาชนในท้องถิ่นได้รับผลกระทบ อย่างหนัก ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงแหล่งอาหารหายไปจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
ปริมาณน้ำฝน ขาดสมดุล
รายงานจาก เดอะ โพสต์ พบว่า ป่าอเมซอนได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นทุกปี จากภัยแล้ง เฉลี่ยทุก 20 ปี จะเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ เริ่มต้นจาก ปี ค.ศ. 2005(พ.ศ.2548), ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553), ค.ศ. 2015 (พ.ศ.2558), ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559), ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) และในปีที่ผ่านมา ค.ศ.2023 (พ ศ.2566) เกิดไฟป่ารุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี
นับตั้งแต่ช่วงต้นยุค คริสต์ศตวรรษที่ 1980 (ปี พ.ศ. 2523) เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงความสมดุลของปริมาณน้ำฝนในป่าอเมซอน พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคกลางและตอนของป่า พื้นที่ชายฝั่ง มีปริมาณฝนตกลดลง จนกลายเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะป่าอเมซอนทางภาคใต้ของบอลิเวีย ปริมาณน้ำฝนประจำปีการลดลงมากถึง 20 มิลลิเมตร ในทางกลับกัน ป่าอมาซอนฝั่งภาคตะวันตกและตะวันออกของประเทศกำลังมีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น
นักวิจัยเตือนว่าหากแนวโน้มขาดความสมดุลปริมาณน้ำเป็นเช่นนี้ต่อไป จะเกิดปัญหาความซับซ้อนพบทั้งภัยน้ำท่วมและน้ำแห้ง เพราะขาดผืนป่าดูดซับ นำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่น ป่าที่เคยทำหน้าที่มีบทบาทเป็นผู้สร้างความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและกักเก็บคาร์บอน อาจจะเป็นผู้ป่วยที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
จากอเมซอน ภัยธรรมชาติ คืบคลายต่อวิถีชุมชน และสังคมโลก
การเสื่อมโทรมของป่าอะเมซอนจะมีผลกระทบหนักต่อชุมชนท้องถิ่น ขยายวงกว้างทั่วทั้งภูมิภาคในปัญหาหลากหลาย
-ป่าอเมซอนมากกว่า 10% เป็นที่อยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพบนผิวดินของโลก
-ป่าเก็บกัก CO2 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ไว้เป็นเวลา 15-20 ปี
-ป่าผลิตปริมาณน้ำฝนในภูมิภาคเพิ่มขึ้นถึง 50%
-ตัวช่วยสำคัญในการปลดปล่อยความชื้นไปยังทวีปอเมริกาใต้ เพิ่มความเย็นให้ชั้นบรรยากาศของโลก
วิจัยไม่ครอบคลุมภัยพิบัติ จากน้ำมือมนุษย์
เอกสารการวิจัย ระบุว่าแบบจำลองสภาพอากาศคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายที่เกิดจาก ภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟไหม้ ความแห้งแล้ง และการรุกล้ำที่ดิน รวมไปถึงผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ และการก่อสร้าง เช่น แผนการสร้างถนนใหม่ เช่น ถนน BR319 ที่เสนอจะเปิดพื้นที่ใหญ่ให้กับการทำเหมืองผิดกฎหมายและการยึดครองที่ดิน หรือความเสื่อมโทรมของป่า
นักวิจัยผิดหวัง ขาดการตระหนักรู้
มหันตภัยซับซ้อนรุนแรง
ฟลอเรส กล่าวทิ้งท้ายว่า ความขาดการตระหนักรู้ ไม่ใส่ใจ เพิกเฉย ต่อปัญหาอันซับซ้อนในระบบนิเวศที่กำลังเกิดขึ้นกับป่าอเมซอน เป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง เพราะนำไปสู่ปัญหาภัยพิบัติขนาดใหญ่ตามมา เช่น ภัยแล้งที่รุนแรง หรือ เอลนีโญ (El Nino) ในปีที่ผ่านมา เป็นบทสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่คิด
“เราต้องคาดการณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดเร็วกว่าที่เราคิด จึงต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีการที่ระมัดระวังมากที่สุด จึงต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหยุดการทำลายป่าให้หมดไปโดยเร็วที่สุด และสิ่งสำคัญต้องทำในเวเลานี้ ก่อนที่จะสูญเสียป่าอเมซอน มันจะเป็นปัญหาต่อมวลมนุษยชาติ”
ที่มา: https://www.theguardian.com/environment/2024/feb/14/amazon-rainforest-could-reach-tipping-point-by-2050-scientists-warn