เปิดโมเดลต้นแบบ”ดงผาปูน”จ.น่าน บทเรียน เผาป่า เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ป่าพัง 7ปี แห่งกระบวนการเรียนรู้ พลิกเขาหัวโล้น ดินแล้ง ผ่านการสร้างฝาย คืนน้ำสู่ดิน คืนผืนป่าสู่ภูเขา คืนวิถีชีวิตเกษตรประณีตผลผลิต เศรษฐกิจยั่งยืนสู่ชุมชน
หากยังจำกันได้ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว พื้นที่จ.น่าน เกิดวิกฤติภูเขาหัวโล้น เต็มภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ผืนป่าสีเขียวถูกทำลาย เพราะวิถีชีวิตเกษตรดั้งเดิม ปลูกพืชเชิงเดียว เคยชินกับการทำเกษตรที่ต้องเผาที่รุกล้ำผืนป่าจนเสื่อมโทรม เหลือเพียงแต่ภูเขาสีแดง หัวโล้น
ในยุคนั้นมีการระดมสรรพกำลังหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยฟื้นฟูป่า
“เริ่มต้นฟื้นฟูป่า ต้องทำจากพื้นที่ที่ยากที่สุด”
คำมอบหมายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น (ปี 2561) ได้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ จึงทำให้เลือกพื้นที่ป่าต้นน้ำ บ้านดงผาปูน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” เข้ามาสนับสนุนภารกิจฟื้นฟูป่า โดยร่วมมือกับ “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” และ “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)” หรือ สสน. ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ประชาชนสามารถพัฒนาหรือบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง พร้อมส่งต่อสู่ชุมชนใกล้เคียงเพื่อพัฒนาต่อไป ถือเป็นพื้นที่ “ปราบเซียน” เต็มไปด้วยความท้าทายจากภูเขาหัวโล้น ทั้งชุมชนบ้านดงผาปูน และชุมชนบ้านนาบง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ที่กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยได้ร่วมดำเนินงานเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งประสบปัญหาการจัดการน้ำในผืนป่า
“ขุนน่าน” 1 ใน 25 แหล่งป่าต้นน้ำ
เผชิญวิกฤติทรัพยากรพัง
ต้นน้ำน่านในอุทยานแห่งชาติขุนน่านและพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ ถูกบุกรุก ตัดไม้ และทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว มุ่งหวังเพียงผลผลิตจำนวนมาก เพื่อป้อนอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร จนเกิดเขาหัวโล้นถึง 8 แสนไร่ หรือคิดเป็น 11% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด 7.6 ล้านไร่ ผลกระทบที่ตามมา ฤดูฝนน้ำท่วม ดินพังทลาย หน้าแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จนถึงการทำเกษตร
จัดการน้ำ มีผลผลิต รายได้เพิ่ม 10 เท่า
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่ามูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ด้านการนำประสบการณ์จัดการน้ำและพัฒนาน้ำในชุมชนที่ประสบความสำเร็จมาขยายผลการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนไปยังชุมชนอื่น จนเกิดการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้ามาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ณ พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน จนเป็นชุมชนต้นน้ำ ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จจากการร่วมกันของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจากเดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้กลับมาเป็นป่าต้นน้ำ มีความมั่นคงทางน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร
“เริ่มต้นนำร่อง 2,000 ไร่ จากการทำฝายชะลอน้ำ ดูดซับน้ำจนสามารถฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยความร่วมมือของคนในชุมชน ตระหนักรู้การฟื้นฟูป่า เกิดการเรียนรู้วิธีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ป่าค่อยๆ คืนความเขียวชัดเจนใน 3 ปีแรก และประสบความสำเร็จ พื้นที่ป่าคืนกลับมาชัดเจนในปีที่ 6-7 ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 10 เท่า”
บทเรียนที่ได้จากโครงการที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จากการทำฝาย คือ เข้าใจธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า มีวิธีการวางแผนบริหารจัดการรองรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบหรือบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง หรือ น้ำท่วม เช่น ปัญหาเอลนีโญ่ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบเล็กน้อย ยังมีผลผลิตทางการเกษตร เพราะฟื้นฟูป่าทัน
สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ แนวทางการพัฒนา คือ ชุมชนที่ร่วมโครงการบริหารจัดการน้ำกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มีเพียง 5 % เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเรื่องน้ำ จากที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 1,800 หมู่บ้าน
ปลูกไมด์เซ็ท “คิดแมคโคร ทำไมโคร”
เรียนรู้จัดการธรรมชาติแบบองค์รวม
สิ่งเหล่านี้เกิดจากการสร้างกระบวนการเรียนรู้ วิธีคิดแบบองค์รวม (Holistic) มองเห็นภาพรวมทุกภาคส่วน และด้านสุดท้าย คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเอกชน ที่เก่งทางด้านรูปแบบการทำธุรกิจ การวางแผนการบริหารจัดการที่ถ่ายทอดให้กับชุมชน ขยายสู่การพัฒนาเชิงท่องทางการเกษตร ที่ช่วยเชื่อมโยงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในชุมชนเป็นรายได้หลัก เช่นเดียวกันกับหมู่บ้านในสวิตเซอร์แลนด์
“สิ่งที่ได้คือการเรียนรู้ความคิดแบบแมคโคร แต่ทำไมโคร เริ่มจากจุดเล็กๆ สร้างฝายจุดเล็กๆ ในหลายจุด 3 ปีป่าก็เกิดขึ้นแล้ว มีการปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หรือ ปุ๋ย เหลือทำไร่ข้าวโพดเพียง 1,000 กว่าไร่”
ฮอนด้า ธุรกิจ ปลายน้ำ
หนุนต้นน้ำ แนวคิด คนอยู่กับป่า
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้าง กล่าวว่า กองทุนฮอนด้า เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ จึงต้องเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ เพราะมองว่าปัญหาต้นน้ำก็ส่งผลกระทบมาสู่คนกลางน้ำ และปลายน้ำ กทม. ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม จึงเข้าไปร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ
“น้ำคือสิ่งสำคัญมีทั้งโทษและประโยชน์ หากบริหารจัดการไม่ดีก็ได้ร้บผลกระทบกันหมด เราเห็นปัญหาภูเขาหัวโล้น ชาวบ้านปลูกข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยว ถ้าปล่อยไปเขาก็รุกล้ำป่าไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะไม่เหลืออะไรเลย จึงเข้าไปสนับสนุนโครงการสร้างฝาย ฟื้นฟูป่า เพราะให้ชุมชนได้เกิดการเรียนรู้การอนุรักษ์กักเก็บน้ำ ช่วยในการฟื้นฟูป่า จนทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะชาวบ้านเกิดความหวงแหน มีความเป็นเจ้าของพื้นที่ สอดคล้องกับแนวคิด คนอยู่อาศัยกับป่า”
ร่วมใจ..ฟื้นฟูวิถีเกษตรคนอยู่กับป่า
นายกษิดิ์เดช ปันสม ปลัดอาวุโสอำเภอบ่อเกลือ ผู้แทนรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จากการสนับสนุนของกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ได้สร้างความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ถ่ายทอดองค์ความรู้และการบริการจัดการน้ำสู่ชุมชน มีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านดงผาปูน เทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ จนเกิดความร่วมมือร่วมใจกันดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และการดำเนินชีวิตที่ช่วยให้ประชาชนมีรายได้จากการทำเกษตรแบบอยู่ร่วมกับป่าได้ รวมทั้งเป็นตัวอย่างให้ชุมชนพื้นที่อื่นได้เห็นความสำคัญในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
7 ปี บทเรียนฟื้นฟูป่า
ขยายสู่ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
ตลอดระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2566 รวมระยะเวลา 7 ปี ที่เกิดความร่วมมือการฟื้นฟูป่า และการบริหารจัดการน้ำ สามารถช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ฟื้นฟูป่าจนเขียวขจี จนนำไปสู่การเป็นต้นแบบชุมชนจัดการน้ำ จึงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ใน 10 พื้นที่ บริเวณโดยรอบที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็น 1 ใน 28 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ (ลำดับที่ 27) ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา
สามารถเป็นต้นแบบในการทำเกษตร ในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวและทำไร่เลื่อนลอย มาปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และทำวนเกษตร จนเกิดความมั่นคงทางน้ำ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ มีผลผลิตจากป่าเป็นอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ จนเป็นตัวอย่างความสำเร็จและขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียงและในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ประกอบด้วย
1. ชุมชนบ้านดงผาปูน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน)
2. ชุมชนร้องแง อำเภอปัว จังหวัดน่าน (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน)
3. ชุมชนเวียงสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
4. ชุมชนป่าแพะ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
5. ชุมชนนครป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
6. ชุมชนตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา
7. ชุมชนป่าเลา อำเภอสอง จังหวัดแพร่
8. ชุมชนแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่
9. ชุมชนตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
10. ชุมชนดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง