TU สนับสนุนโครงการ “รักษ์ทะเล” จับมือมูลนิธิ Earth Agenda
สร้างบ้านปะการังหลังใหม่ด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution โดยเอสซีจี ฟื้นฟูปะการัง ชุบชีวิตใต้ท้องทะเล
CPAC Green Solution โดยเอสซีจี นำนวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution มาต่อยอดเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรของประเทศ สอดคล้องวิสัยทัศน์ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป SeaChange® 2030 หนุนโครงการ “รักษ์ทะเล” วางบ้านปะการังจำนวน 88 ชิ้น ที่เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต มุ่งพลิกฟื้นคืนความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์สู่โลกใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน
ท้องทะเล ความสวยงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสีฟ้าครามที่จรดท้องฟ้า ถือเป็นความงามที่ช่วยฟื้นฟูเยียวยาชีวิตชีวามนุษย์ได้มาพักผ่อนท่องเที่ยว ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญที่ใหญ่ที่สุด ทว่าการบริโภคที่เกินพอดี เพื่อตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการทำประมงจับสัตว์น้ำในปริมาณมากเกินกว่าจำนวนประชากรที่เกิดขึ้นใหม่ และยังเกิดการรุกล้ำน่านน้ำ ปล่อยของเสียจากอุตสาหกรรมและการเกษตรลงทะเลคือปลายทาง ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล เกิดตะกอนทับถมแนวปะการังจนตาย สัตว์น้ำใต้ท้องทะเลจึงขาดบ้าน แหล่งอาหาร ในการสร้างการเติบโต
ความสมบูรณ์ของแนวปะการัง เป็นเครื่องมือชี้วัดความสมดุลของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล โครงการสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ด้วย “ปะการังเทียม” จึงถูกพัฒนาขึ้นมาทดแทนแนวหินหรือแนวปะการังธรรมชาติ ดึงดูดพืชมาเกาะ เป็นแหล่งอาหาร วางไข่ และที่อยู่อาศัยพักพิง ให้กับชีวิตใต้ท้องทะเล
ที่ผ่านมามีแนวคิดโครงการพัฒนาวัสดุจำลองปะการังเทียมไปวางใต้ท้องทะเล เช่น นำก้อนหิน กิ่งไม้ ทางมะพร้าว ยางรถยนต์ ตู้รถไฟ เรือรบ เรือสินค้า เครื่องบิน รถถัง ฐานขุดเจาะน้ำมัน หล่อคอนกรีตก้อน หรือแท่ง หย่อนไปในท้องทะเล แม้จะมีข้อดีในการพัฒนาบ้านที่อยู่อาศัย แต่ก็มีข้อเสียของการหย่อนไม่ถูกที่หรือวัสดุผิดรูป ก็ส่งผลกระทบทำลายปะการังเดิมได้รับความเสียหาย ไม่ตอบโจทย์และยังสร้างขยะในท้องทะเลอีกด้วย
จึงเป็นที่มาของ “โครงการรักษ์ทะเล” จากความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอสซีจี และมูลนิธิ Earth Agenda ในการพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง หรือบ้านปะการัง ที่ขึ้นรูปจากเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution และผลิตจากปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ จำนวน 88 ชิ้น ไปวาง ณ เกาะราชาใหญ่ จ. ภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังและระบบนิเวศใต้ท้องทะเลไทย
นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี เปิดเผยถึงการจัดโครงการพร้อมกับมีกิจกรรมการวางวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง (บ้านปะการัง) ด้วยนวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงในโครงการ “รักษ์ทะเล”
ซึ่งพันธมิตรทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงมีพันธมิตรธุรกิจเข้ามาร่วมมือ อย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) องค์กรที่ผลิตอาหารทะเลส่งออก ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทะเล ร่วมสนับสนุนจัดกิจกรรมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังให้กับท้องทะเลไทย
สำหรับนวัตกรรมวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง หรือบ้านปะการัง ถูกพัฒนาขึ้นให้เหมาะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ ผลิตจากปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล มีโครงสร้างสลับซับซ้อน รูปทรงสวยงามกลมกลืนอย่างเป็นธรรมชาติ จึงเหมาะกับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลที่ช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรท้องทะเลไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของ CPAC 3D Printing Solution มีประโยชน์ตรงที่สามารถออกแบบได้อย่างหลากหลาย รวดเร็ว ประหยัดแรงงาน ใช้เศษวัสดุจากไซต์งานก่อสร้างได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประยุกต์ใช้ได้กับงานหลากหลาย มีความแม่นยำ คงทน ที่สำคัญ เปลี่ยนเศษวัสดุมาเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
จาก รักษ์ทะเล
สู่ SeaChange เปลี่ยนวิกฤตมหาสมุทร
พลิกฟื้นคุณค่าชีวิตใต้ท้องทะเลส่งต่อโลกยั่งยืน
ด้านนายชู ชง ชาน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านกิจการกลุ่มบริษัท บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TUกล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จึงตระหนักดีว่าสถานการณ์วิกฤตท้องทะเล เป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงวางกลยุทธ์ธุรกิจ ประกาศนโยบายสร้างความยั่งยืน “SeaChange” ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อคืนความงดงาม ความหลากหลายทางชีวภาพ สู่มหาสมุทร ภายในปี 2573 มีเป้าหมายที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ฝ่าวิกฤตความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climatch Change) ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร ประชากรกว่า 600 ล้านคน ต้องพึ่งพามหาสมุทรเป็นแหล่งอาหารและประกอบอาชีพ จึงต้องเข้าไปฟื้นฟูคืนชีวิตให้คนและโลกอยู่ร่วมกันมีอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
สำหรับพันธกิจที่ไทยยูเนี่ยนฯ จะเข้าไปขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มีทั้งสิ้น 11 ข้อ เพื่อจะช่วยระดับอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้ดีขึ้น ควบคู่กับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงโลกใบนี้
สำหรับโครงการรักษ์ทะเล โดยการสนับสนุนงบประมาณมูลค่า 3 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อตอบโจทย์ SDGs ในการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นสิ่งสำคัญหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน เพราะการมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จะนำไปสู่การอยู่อาศัย ขยายพันธุ์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล เริ่มต้นจากการทยอยวางวัสดุฐานที่ขึ้นรูปแล้ว (บ้านปะการัง) ซึ่งพัฒนาจากนวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution ไปวางให้ตัวอ่อนปะการังได้เกาะ ที่เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต
“บริษัทฯ เชื่อมั่นความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูแนวปะการังอย่างเป็นรูปธรรมและปกป้องทรัพยากรทางทะเล ถือเป็นหน้าที่ของเราในการปกป้องทรัพยากรทางทะเลด้วยความรับผิดชอบ ในการดูแลแหล่งอาหารและการสร้างอาชีพให้กับประชากรโลกในรุ่นต่อไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่จะก้าวไปสู่ “บริษัทอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกเชื่อถือมากที่สุด” SeaChange® 2030 การสร้างความร่วมมือจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงเกิดประโยชน์กับธุรกิจ แต่ยังสร้างความยั่งยืนกับทุกคนบนโลก ได้มีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ สร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและสังคม”
มากกว่าบ้านปะการัง
ฟื้นชีวิตใต้ท้องทะเลไทย
ศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda กล่าวว่า มูลนิธิ Earth Agenda ก่อตั้งขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความตระหนักรู้ เพื่อฟื้นฟูท้องทะเลไทยให้ดีขึ้น เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมมือส่งเสริมการทำงานของมูลนิธิฯ ขณะที่เอสซีจีได้นำเทคโนโลยี 3D Printing ของ CPAC Green Solution เข้ามาใช้ในการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ โครงการรักษ์ทะเล จึงเกิดประโยชน์ในการสร้างปะการังเทียมที่ได้ทั้งมิติการออกแบบที่มีความสวยงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์น้ำสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ตามระบบนิเวศทางธรรมชาติได้จริง
“นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนโลกที่กำลังวิกฤติใต้ท้องทะเล ให้เป็นโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในทะเล ถือเป็นระบบนิเวศสำคัญ ในการเป็นแหล่งกำเนิดของหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์”
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมสนับสนุนโครงการ “รักษ์ทะเล” รวมพลังฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลด้วยบ้านปะการัง ให้ท้องทะเลไทยกลับมาสวยงามดังเดิม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.lovethesea.net