เอ็กซิมแบงก์ ปฏิวัติเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยจีพีดี ติดกับดักเพิ่มความเปราะบางให้ SMEs และสังคมเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ไขรหัสธุรกิจโตยั่งยืนด้วย ESG ธุรกิจแข่งทำดีฟื้นฟูโลกโอกาสเติบโต 2.2 เท่า มูลค่าธุรกิจสีเขียวทั่วโลกราว 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ประกาศหนุนเงินกู้ เสริมตลาดส่งออก 3 เทรนด์โลก
เมื่อภาคธุรกิจกลับด้านหันมาขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อฟื้นฟูโลก มุ่งตอบโจทย์ความยั่งยืน ส่งต่อโลกใบเดิมให้กับคนรุ่นต่อไป สถาบันการเงินทั่วโลกต้องปรับทิศทางการเงิน ธนาคารในประเทศไทยจึงต้องมีวิสัยทัศน์วางนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศให้ตอบโจทย์เทรนด์โลก เป็นผู้แก้ไขวิกฤติให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีสัดส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับเป็นกลุ่มผู้เปราะบางอ่อนแรงในการขับเคลื่อนจีดีพี
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) มองภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โลกใช้ทฤษฎีมุ่งเน้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพราะเชื่อกันว่ายิ่งตัวเลขสูงยิ่งดี ยิ่งรวยยิ่งดี จึงเน้นทำธุรกิจเพิ่มยอดขาย แต่สิ่งเหล่านี้ตามมาด้วยความเครียดและกดดัน กับการต้องเพิ่มการเติบโตทางตัวเลขทุกปี จนนำมาสู่การเพิ่มอุณหภูมิโลก จากการอัดฉีดเพิ่มตัวเลขจีดีพี ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียง 1.5 องศา จากอุณหภูมิเฉลี่ยในปัจจุบัน 15 องศา เพิ่มเป็น 17 องศา พร้อมกันกับก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้ทำลายสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตสูญพันธ์ุ อาทิ หมีขั้วโลก แนวปะการัง และนกเพนกวิน นี่คือความมั่งคั่งที่มาพร้อมกับความเสียหายของสิ่งมีชีวิต
แนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจดังกล่าวที่ผ่านมา ได้สร้างปัญหาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูงขึ้น ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งครองความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น แต่กลับมีประชากรโลกสัดส่วน 1 ใน 4 กำลังเผชิญกับปัญหาความหิวโหย ขาดความมั่นคงทางอาหาร ส่วนประเทศไทย ติด 1 ใน 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไทย เข้าไม่ถึงเแหล่งเงินทุนในระบบถึง 2 ใน 3 อีกทั้งคนไทยจำนวน 25 ล้านคน (สัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรไทย) มีหนี้นอกระบบ
SMEs รากฐานใหญ่ของเศรษฐกิจแต่เป็นกลุ่มเปราะบาง
ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อ SMEs ไทย ที่มีจำนวน 3.18 ล้านราย หรือ 99% จากผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ 3.5 ล้านราย แต่กลับมีสัดส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียง 40% น้อยกว่าจำนวนรายใหญ่ที่มี 1% และในช่วงวิกฤติโควิด -19 SMEs มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลงมาเหลือเพียง 34% หรือ 1 ใน 3 ของจีดีพี และยังมีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดย NPL ในระบบมูลค่า 5 แสนล้านบาท ครึ่งหนึ่งมาจาก SMEs อีกทั้ง SMEs สัดส่วน 1 ใน 3 ยังขาดความรู้ทางการเงิน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคารได้ ทำให้เลี่ยงหาทางออกในการลงทุนทำธุรกิจโดยการไปใช้เงินกู้นอกระบบคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3
“พี่น้อง SMEsคือคน ตัวเล็ก แต่เราสามารถสร้างพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศได้น้อย เพราะเป็น “กลุ่มคนเปราะบาง” โดยรายได้มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของจีดีพี หล่นลงเหลือแค่ประมาณ 33% หรือ 34 % ในช่วงโควิด เหมือนว่ายิ่งทำไปมากๆกลายเป็นว่ายิ่งถอยหลัง”
นี่คือผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตด้วยจีดีพี จึงเป็นที่มาของการหันหัวเรือปรับเปลีย่นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ESG ( เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความสมดุล สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) เทรนด์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสมดุล ไม่เน้นตัวเลขการเติบโตแต่เน้นความยั่งยืน สมดุลทุกภาคส่วน เปลี่ยนแนวคิดจากการ “ อวดรวย” เป็น “อวดดี”
“โลกวันนี้ การเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนเก่งและคนดี ซึ่ง ESG คือ เกณฑ์การเป็นคนดี ในมาตรฐานโลก วางกรอบสร้างระบบนิเวศของธุรกิจที่สมดุลอยู่ร่วมกัน เปรียบเสมือนดาวเหนือ นำทางไปสู่การขับเคลื่อนจักรวาลแห่งน่าอยู่ หรือ ธุรกิจยุคใหม่ ที่ต้องเป็นคนเก่งและคนดี รายได้เติบโตไปพร้อมกับสังคม มีสุข และไม่ทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม ”
ESG ความปังด้านรายได้ก้าวกระโดด
การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ ESG ตามเทรนด์โลก เมื่อตลาดกำลังเติบโตไปพร้อมกับพฤติกรรมและความต้องการ นำไปสู่การสร้างโอกาสและเพิ่มรายได้มากมาย ทั้งรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.7% ต่อปี เติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.2 เท่า มีกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.1%ต่อปี หรือมากกว่า 2.5 เท่า ต้นทุนการเงินลดลง มากกว่า 10% เพราะมีโอกาสได้รับสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงิน ซึ่งทุกธนาคารให้ความสำคัญกับการสนับสนุนธุรกิจสีเขียวที่มีESG อีกทั้งยังได้รับความสนใจ ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาร่วมทุน ตลอดจนเมื่อบริษัทมีชื่อเสียงเติบโต จะมีกลุ่มคนอยากร่วมงาน จึงดึงดูดตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น 9.9% หรือ มากกว่า 2 เท่า
ESG เปิดประตู 3 โอกาสธุรกิจ
นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาส 3 แนวทางคือ
1. เข้าถึงซัพพลายเชนผู้ผลิตรายใหญ่
การถูกกดดันให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องดึงSMEs ที่ปรับตัวด้านเศรษฐกิจสีเขียวเช้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน เนื่องมาจาก การตั้งกติกาใหม่ผ่านมาตรการและข้อบังคับทางกฎหมายเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อมในประเทศคู่ค้าต่างประเทศ ราว 1.7หมื่นฉบับที่เป็นกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ต่างชาติต้องการธุรกิจสะอาด ปล่อยคาร์บอนต่ำเข้าตลาด อาทิ CBAM (มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป), Plastic Tax (ภาษีพลาสติก) และ EU Deforestation Free Regulation (EUDR) หรือ กฏระเบียบที่ปราศจาคการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป สิ่งเหล่านี้ บีบบังคับทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องมองหาซัพพลายเชน ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจสะอาดมาเป็นพันธมิตรในเครือข่ายการผลิต ดังนั้น หากผู้ประกอบการSMEs ที่มีการทำESG อยู่แล้ว หรือมีการปรับตัว จะสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดได้อีกมหาศาล เติบโตไปพร้อมกันกับรายใหญ่
2.การเข้าถึงตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตมหาศาล
สัดส่วนราว 44% ของผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เจเนเรชั่น Z และ C ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเลือกบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มูลค่าธุรกิจสีเขียวราว 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถือเป็นตลาดที่ใหญ่เทียบเท่ากับขนาดของตลาดมูลค่าของผลิตภัณฑ์กรีน เท่ากับมูลค่าจีดีพีของประเทศอินเดีย
3. โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน
สถาบันการเงินทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับเม็ดเงินที่เข้าไปสนับสนุนการลงทุน ปล่อยกู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางโลก เช่น การให้สินเชื่อในกิจการด้านพลังงานสะอาด ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนโอกาสดึงการลงทุนในผู้ประกอบที่สนใจเข้าร่วมลงทุนเพราะเห็นโอกาสธุรกิจในอนาคต และการทำรายได้เพิ่มจากธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนติดลบ มีโอกาสขายคาร์บอนเครดิตได้
“ตอนนี้แหล่งเงินทุนของทุกสถาบันการเงิน ก็กำลังมุ่งเน้นผู้ประกอบการสะอาด ใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดลดการปล่อยคาร์บอน หรือทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”
เพราะฉะนั้น SMEs ไทยก็ต้องปรับตัวให้ได้ ใน 2 ด้าน คือ
1. ไม่ว่าจะขายของเอง หรือจะขายผ่านคนตัวใหญ่
2. หรือแม้กระทั่งจะเดินไปกู้แบงก์คุณก็ต้องสะอาด
นี่คือการยกตัวอย่างว่าทำไมถึงต้องโกกรีน
EXIM 3 เติม เสริมจุดแข็งSMEsไทย
สำหรับธนาคาร EXIM Bank มีบริการด้านการเงิน ที่สนับสนุนธุรกิจที่สร้างโลกสีเขียว ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการขยายสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่พัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จาก 30% ในปัจจุบันเพิ่มเป็น 70% ในปี 2571 พร้อมกันกับมีการออกพันธบัตรการลงทุนสีเขียว (Green Bond) 5,000 ล้านบาท และยังมีสินเชื่อเพื่อธุรกิจSMEs ที่ต้องการลงทุนด้านธุรกิจสีเขียวมูลค่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมของธนาคารEXIM ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutrality) ในปี 2573
ส่วนวิธีการสนับสนุนการบริการให้SMEs ให้ปรับตัวและเติบโต มีขีดความสามารถการแข่งขันได้ในเวทีโลก ที่ไม่เฉพาะสนับสนุนด้านการเงิน หรือให้สินเชื่อเพียงอย่างเดียว โดยมี 3 วิธีการเติมเต็มความแข็งแกร่งให้ SMEs คือ เติมความรู้, เติมโอกาส นำลูกค้าและคู่ค้ามาทำการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และสุดท้าย เติมเงิน มีทั้งการลดดอกเบี้ย 25 สตางค์ในธุรกิจที่สะอาด และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่เรียกว่า สินเชื่อ Green Start วงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 200 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน หรือ แพงกว่าสินเชื่อ Soft Loan เล็กน้อย
“ เราจะเป็นโค้ชทำธุรกิจSMEs และ แนะนำว่าต้องไปด้านธุรกิจสีเขียวอย่างไร พร้อมกับสนับสนุนเงินทุนราคาถูก ดังนั้น มีโอกาสมากมาย ถ้าคุณเป็นธุรกิจสะอาดเราลดดอดเบี้ยให้ 25 สตางค์ จากเดิมที่เคยจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 6% หากพิสูจน์ได้ว่ารักษ์โลก กำจัดขยะในโรงงาน ไม่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง สามารถลดดอกเบี้ยได้เลย 25 สตางค์ หากวงเงินสินเชื่อ100 ล้านบาท ก็เท่ากับประหยัดได้ถึง 2.5 แสนบาทต่อปี”
แก่นแท้ESG เติบโตได้ด้วย Mindset ของSMEs หัวใจกรีน
ถึงเวลาที่ธุรกิจต้องกลับมาทบทวน ดูว่าโลกถูกทำร้ายมายาวนาน จนทำให้สภาพอากาศแปรปรวนได้ชัดเจนจากสิ่งรอบตัว อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียง 1% หรือ 1 องศา นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกต้องสูญพันธ์ุ เช่น หมีขั้วโลก นกเพนกวิน และ ประการัง ตลอดปลา อีกทั้งยังมีหมอกควันPM2.5 เกินมาตรฐาน ไม่สามารถออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะได้ ธุรกิจที่สะอาดจึงต้องเริ่มต้นจากตัวเอง มีMindset ห่วงใย รักษ์โลก
“สิ่งเหล่านี้มันเริ่มต้นที่เราต้องรักษ์โลกที่เราอยู่อาศัยก่อน คุณนับเงินพร้อมกับคุณกลั้นหายใจได้ไหม คุณมีเงินมากมายมหาศาลเป็นพันล้านแต่คุณต้องกลั้นหายใจ ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ผมว่าเป็นชีวิตที่ไม่มีความสุข เมื่อคุณมีความตระหนักรู้ในมุมที่อยากได้โลกที่สวยงามกว่าเดิม ที่สะอาดกว่าเดิม คุณก็เริ่มกลับมาธุรกิจและตัวเองใช้ถุงพลาสติกใส่สินค้า ขายของให้ลูกค้าคุณอยู่หรือเปล่า หาวิธีใช้ไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้หรือเปล่า รวมถึงคิดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ผักตบชวาได้หรือไม่ เริ่มต้นง่ายๆใกล้ตัวเราเองก่อน จากนั้นปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตพลังงานสะอาด ติดSolar Rooftopเป็นต้น”
เริ่มต้นจากการตระหนักรู้ใกล้ๆตัว นำไปสู่การปรับฺโมเดลธุรกิจ (Business Model) จึงจะมองหาโอกาสเปิดประตูไปสู่ธุรกิจในตลาดสีเขียว เติบโตมากกว่า 23% ปี ถือว่ามีทั้งโอกาสใหม่มีความต้องการสูง และมีความยั่งยืน เพราะจะอยู่คู่โลกไปอีกยาวนานขอเพียงแค่ SMEs ไทยต้องสามารถปรับตัวเองให้ได้
กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank ยังแนะนำให้ภาคธุรกิจเรียนรู้ที่จะออกไปทำตลาดต่างประเทศ เป็นตลาดแห่งโอกาสกว้างใหญ่เพราะขายของให้คนทั้งโลกกว่า 8,000 ล้านคน ไม่จำกัดแค่เพียงในไทย 70 ล้านคน จึงมีโอกาสมากกว่าตลาดในประเทศถึง 4 เท่าตัว ทำกำไรได้มากกว่าในประเทศ 1.5-2 เท่า
“ออกไปต่างประเทศทำรายได้มากกว่า มีโอกาสปังกว่า รวยกว่า รายได้สูงกว่า SMEsที่ส่งออกสูงกว่า SMEs ในประเทศถึง 4 เท่าตัว และยังมีกำไรสุทธิ มากกว่า ในประเทศ 1.5 -2 เท่า และยังคืนทุน (Return on Asset) ได้มากกว่า 1.5 เท่า จึงต้องการให้เริ่มต้นจากส่งออก ไม่ต้องถึงกับส่งออก100% ในช่วงแรกควรเริ่มต้นสักประมาณ 10%ของมูลค่าการค้า จาก100%พึ่งตลาดในไทย ลดมาเหลือ 90%ในประเทศไทยและเริ่มส่งออกสัก 10% ได้ไหม”