EXIM Bank บุกตลาดสินเชื่อเศรษฐกิจสีเขียว วางอัตลักษณ์ ผู้นำ SMEs สร้างสังคมธุรกิจสะอาด ปั้นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นSMEs ปรับตัวยั่งยืน พร้อมถอดรหัสเชื่อมปลั๊กซัพพลายเชนธุรกิจแบรนด์ใหญ่ หวังสร้างระบบนิเวศธุรกิจสีเขียวครบวงจร
ในยุคที่ทุกภาคคส่วนพัฒนาองค์กรและกิจการไปสู่ “ความยั่งยืน (Sustainability)” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อน แก่นสำคัญของเป้าหมาย SDGs คือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยประเทศไทยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ธนาคารจึงเป็นต้นน้ำสำคัญในการขับเคลื่อนเงินทุนเพื่อให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เป้าหมายและพันธกิจของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มุ่งสู่บทบาท “Green Development Bank” รวมถึงการพัฒนาคนตัวเล็กหรือ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และแข่งขันได้ในเวทีโลก EXIM BANK พร้อมใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่เสริมสร้างการพัฒนาระบบนิเวศการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยโดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนกระบวนการผลิตสินค้าและให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หลังจากขับเคลื่นอการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2537 EXIM BANK ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ ( Lead Bank) พาผู้ประกอบการไทยไปสู่พลังงานสะอาด ในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ จำนวนกว่า 400 โครงการ กำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน สนับสนุนทางการเงิน(สินค้า) มูลค่ากว่า 68,600 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท
หลังจากนัั้น จึงมีการขยายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหักับภาคธุรกิจทุกกลุ่ม รวมถึง SMEs ให้ปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อก้าวขึ้นสู่การแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลก ดังนั้นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน ในปี 2567 EXIM BANK จึงพัฒนาการบริการทางการเงินใหม่ ๆ ในหลายมิติ อาทิ สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสำหรับดำเนินธุรกิจที่คำนึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี ESG (Environmental, Social and Governance : ESG) การระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ (Blue Bond) เช่น พาณิชย์นาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อัตลักษณ์ธนาคารสีเขียว
สู่การขับเคลื่อนธุรกิจสะอาด
สำหรับทิศทาง การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวครอบคลุม Scope ที่ 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และช่องทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร) เพื่อบรรลุเป้าหมาย EXIM BANK จะเพิ่มสัดส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ( Green Portfolio) จาก 37%ในปัจจุบันให้เป็น 50%ของสินค้าทั้งหมดของ ภายในปี 2571 เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและธุรกิจไทยไปสู่พื้นฐานของความยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“เราเร่งเติมเต็มการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสีเขียวใหักับผู้ประกอบการ ตั้งแต่ เติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน เพื่อให้ SMEs ไทยมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ รวมถึงกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้มีองค์ความรู้และพื้นฐานอาชีพที่มั่นคงก่อนจะขยายไปสู่ตลาดโลก ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี”
3 กลยุทธ์ปั้นEcosystem
ห่วงโซ่ธุรกิจสะอาด ปราศจากคาร์บอน
สำหรับกลยุทธ์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสังคม และสื่งแวดล้อมสะอาด จากกลยุทธ์ของธนาคาร มี 3 แนวทาง ประกอบด้วย
1.การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นธนาคารสีเขียว (Green Identity) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดธุรกิจสีเขียวให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสร้างการเติบโตมากกว่าธุรกิจทั่วไปถึง 20% จึงสามารถสร้างการแข่งขันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคหน้า รวมถึงสร้างผลตอบแทนด้านกำไรที่สุูงและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
2.พัฒนาการบริการทางการเงิน โดยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับตัวเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียว เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อกิจการทั่วไป อยู่ที่ 8% % แต่สินเชื่อเพื่อธุรกิจสีเขียวจะอยู่ที่ 4-6 %
3.สร้างระบบนิเวศสีเขียว (Ecosystem) เพื่อสร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มองเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว หลังจากปรับตัว หาโอกาส ตลาด ลูกค้า เชื่อมต่อกับซัพพลายเชนรายใหญ่ เช่น บริษัทเจ้าสัวระดับใหญ่ของประเทศ หรือ เป็นแบรนด์ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีซัพพลายเชนหลากหลาย ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว อาหาร และธุรกิจยานยนต์
“เราจะทำหน้าที่เชื่อมโยง Connect the dot หลังจากให้สิทธิประโยชน์ สินเชื่อสีเขียวดอกเบี้ยต่ำกว่าธุรกิจทั่วไป ให้ผู้ประกอบการSMEs ให้มีโอกาสปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียว และจิ๊กซอว์ เป็นผู้ผลิตในกลุ่มซัพพลายเชน ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงื่อนไข ต้องการซัพพลายเชน ในธุรกิจสีเขียว100% สิ่งเหล่านี้จะต่อเติมทำให้เกิดการพัฒนา ทั้งระบบนิเวศ สะอาด ลดคาร์บอนทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำ คาดว่าภายในปีหน้าจะเข้าไปถอดรหัสการเข้าเชื่อมต่อกับ ซัพพลายเชนธุรกิจสีเขียว ”
สินเชื่อยังเติบโตท่ามกลางส่งออก-เศรษฐกิจโลกอ่อนแรง
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% ขณะที่มูลค่าส่งออกทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัว 1-2% อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ปี 2566 ช่วงโค้งสุดท้ายของปี เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัว โดย EXIM BANK ยังคงเดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้าง 164,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,161 ล้านบาท หรือเติบโต 3.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายใต้บทบาทการเป็น Green Development Bank อันเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน โลจิสติกส์ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มียอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 60,298ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นถึง 37.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผู้ประกอบการ SMEs 14,122 ล้านบาท คิดเป็น 23.42% จากสินเชื่อของ EXIM BANK ที่ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายจะขยายเป็น 50% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ EXIM BANK ยังเร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 148,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านสินเชื่อและประกันของ EXIM BANK ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนลูกค้า 6,138 ราย เพิ่มขึ้น 6.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน Penetration Rate ต่อผู้ส่งออกทั้งประเทศ 18% ในจำนวนนี้ มีลูกค้า SMEs มากถึงกว่า 83% สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่ไม่ทิ้งคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางทางสังคม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 27,800 ราย วงเงินรวมประมาณ 91,400 บาท
EXIM BANK ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยในระบบที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มีกำไรก่อนสำรอง 2,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 18.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและความเสี่ยงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566EXIM BANK มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans : NPLs) จำนวน 6,665 ล้านบาท NPL Ratio เท่ากับ 4.04% อย่างไรก็ตาม EXIM BANK มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในอัตราส่วน (Coverage Ratio) เท่ากับ 213.15% อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 246 ล้านบาท และคงได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระดับ AAA (tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18และคงอันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ เท่ากับประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 11
EXIM BANK มุ่งมั่นสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา Prime Rate 6.75% ต่อปีจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและภาคธุรกิจเร่งปรับตัวสู่ทิศทางโลกการค้ายุคใหม่ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ กลไกสำคัญอย่างภาคส่งออกจะกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรส่งออกที่ปรับสูงขึ้น ปัญหา Supply Chain Disruption ที่คลี่คลาย สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารยังเป็นที่ต้องการอีกมาก ขณะที่การลงทุนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการภาครัฐยังคงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง EXIM BANK ซึ่งจะเปิดดำเนินการครบ 30 ปีในปี2567 ยังพร้อมทำหน้าที่ “มากกว่าธนาคาร”สนับสนุนให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น สามารถเติบโตในเวทีการค้าโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางโอกาสและปัจจัยท้าทายรอบด้าน รวมถึงปรับตัวรับมือมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีจำนวนราว 17,000 มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ระยะข้างหน้าสินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2569 และกฎระเบียบสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Products Regulation : EUDR) ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7กลุ่มคือ โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ไม้และกระดาษ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง ต้องลงทะเบียนแจ้งข้อมูลการผลิตทั้งระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าได้มีการตัดไม้ทำลายป่าในระบบการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์หรือไม่ ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2567เหล่านี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการทุกระดับต้องปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ตลอดปี 2566 EXIM BANK ยังเดินหน้าสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงรุก แม้ในสภาวะที่เศรษฐกิจและภาคการส่งออกยังไม่กลับมาฟื้นตัว โดยในช่วงต้นปีถึงกลางปี มียอดคงค้างสินเชื่อค่อนข้างคงที่ สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของไทยที่หดตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่า EXIM BANK จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายปี 2566 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 175,000 ล้านบาท สอดรับกับทิศทางการส่งออกและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ EXIM BANK ยังจะสานพลังหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการ เดินหน้าพัฒนาประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็กหรือ SMEs ไทยไว้ข้างหลัง พร้อมรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี2567 ที่จะมาถึง บริหารจัดการความเสี่ยงและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกสะอาด ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล” ดร.รักษ์ กล่าว