“โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” อีกโครงการที่การเคหะแห่งชาติดันออกมาช่วยกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มเปราะบาง กว่า 2.27 ล้านครัวเรือน
ค่าครองชีพในเมืองที่สูง สวนทางรายได้คงที่ กลายเป็นปัญหาคนเมืองที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางยังคงหาทางออกได้ยากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
“จากปัญหาที่พบ ผู้ที่ถูกสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อประมาณ 30-40% อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ไม่มีสลิปเงินเดือน อาทิ ฟรีแลนซ์ ไรเดอร์ ช่างเสริมสวย ค้าขาย และอาชีพบริการต่าง ๆ จึงทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่มีโอกาสได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง การนำเครื่องมือทางการเงินเข้ามาสนับสนุนมีส่วนช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานเป็นของตนเอง” นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าว
โดยระบบการเงินที่ยืดหยุ่นนี้ การเคหะฯ นำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่ต้องการซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติได้มีที่อยู่อาศัย เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2566 ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 1,389.015 ล้านบาท
ด้วยเม็ดเงินดังกล่าว สามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเข้าให้ถึงที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในระดับราคาที่รับภาระได้ จำนวน 2,132 ครัวเรือน แบ่งออกเป็น กลุ่มลูกค้าทั่วไป 1,865 ราย และกลุ่มเปราะบาง 267 ราย
สำหรับปีงบประมาณ 2567 การเคหะแห่งชาติได้พิจารณาอนุมัติการเช่าซื้อโครงการสินเชื่อฯ ให้กับลูกค้าจำนวน 34 ราย วงเงินรวมทั้งสิ้น 21,218,497.13 บาท โดยได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อภายใต้ “โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ดังนี้
· กลุ่มลูกค้าทั่วไป ผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ระยะเวลา 4 ปี
· กลุ่มเปราะบาง ผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยเพียง 1.5% ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นในปีที่ 6-8 ผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี และปีที่ 9-40 ผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี
คาดว่าจะได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางให้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติได้ง่ายขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2519 ถึงปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้พัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว จำนวน 751,061 หน่วย ควบคู่กับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มครัวเรือนเปราะบางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว การเคหะแห่งชาติยังดูแลคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ เพื่อสร้างคน และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข สามารถบริหารจัดการในชุมชนด้วยตัวเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน
โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยร่วมกันจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้ครอบคลุมในทุกมิติ รวมถึงการจัดอบรมสร้างอาชีพให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชน ได้แก่ เกษตรกรรม การประกอบอาหารจานเดียว งานฝีมือ และช่างฝีมือเฉพาะทาง เป็นต้น