งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญแก้วิกฤต “สิ่งแวดล้อม-สภาพภูมิอากาศ”

งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญแก้วิกฤต “สิ่งแวดล้อม-สภาพภูมิอากาศ”


วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ซึ่งงานวิจัยและการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนงานนวัตกรรมจะเป็นหัวใจสำคัญของประเทศนับจากนี้ไป

 

 

บอร์ด กสว. เคาะปรับแผน ววน. ปี 2566-2570 โดยมีวาระสำคัญด้านการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และเป็นผู้นำอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยถึงการศึกษาข้อมูลทางวิชาการร่วมกับทีมวิจัยและทีมวิชาการของคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. หน่วยบริหารและจัดการทุน และสำนักงานสภาโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เสนอคณะอนุกรรมการจัดทำแผน ววน. ก่อนนำเสนอ กสว. โดยภาพรวมยุทธศาสตร์ได้ปรับปรุงวัตถุประสงค์ แผนงาน แผนงานย่อย และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (OKRs) ให้เหมาะสม ซึ่งจะมุ่งเน้นผลลัพธ์ผลกระทบจากการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มากขึ้น

โดยมุ่งให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็น ได้แก่ 1. อาหารมูลค่าสูงและคุณค่าสูง 2. เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ระดับสูง 3. ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปัญญาประดิษฐ์ 4. พลังงาน 5. ระบบบริหารจัดการภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

ทั้งนี้ ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะต้องสอดคล้องกับถ้อยแถลงและเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 รวมทั้งป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม และสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก