“ขยะอินทรีย์อบแห้ง” ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เศรษฐกิจหมุนเวียน “สร้างมูลค่า-ลดรายจ่าย-ต่อยอดรายได้” ให้วิสาหกิจชุมชน

“ขยะอินทรีย์อบแห้ง” ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เศรษฐกิจหมุนเวียน “สร้างมูลค่า-ลดรายจ่าย-ต่อยอดรายได้” ให้วิสาหกิจชุมชน


เปิดแนวคิด ‘ขยะอินทรีย์อบแห้ง’ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ผลงาน 1 ปี นำขยะอาหารมาแปรรูปด้วยการอบแห้ง สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 10,000 กิโลกรัม ทำให้เกิดการหมุนเวียน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

 

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่จัดงานให้กับภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ กว่า 160 งาน ดึงผู้คนเข้าร่วมงานมากถึง 13 ล้านคนต่อปี แต่ในอีกด้านจากความคึกคักของกิจกรรมและผู้คนที่หลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ก็ทำให้มีปริมาณขยะเป็นจำนวนมากต่อปีเช่นกัน

ในประเด็นดังกล่าว ทาง ม.ร.ว.สวัสดิวุฒิ สวัสดิวัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จํากัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดเผยว่า ได้ริเริ่มแนวคิดนำขยะอาหารมาแปรรูปด้วยการอบแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าขยะอาหาร โดยทำข้อตกลงร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการขยะอาหารจากการจัดอีเวนต์

โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้สร้างคุณค่าให้กับเศษอาหาร ตั้งแต่ต้นทางด้วยการนำขยะอินทรีย์อบแห้งภายในพื้นที่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชน พร้อมกันนี้ก็ได้นำส่งให้ชุมชนในการนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย รวมทั้งทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ และพืชผัก ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้วยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อันเนื่องมาจากขยะ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม

“แนวคิดดังกล่าว ช่วยให้การลดของเสียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้กับวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ ยังช่วยลดขยะอาหารของศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้ถึง 55,797 กิโลกรัม เทียบเท่าการปลูกต้นไม้มากกว่า 15,686 ต้นต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 141,174 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี”

จากการดำเนินงาน ตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สิริกิติ์ นำขยะอาหารมาแปรรูปด้วยการอบแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับวิสาหกิจชุมชน โดยส่งต่อขยะอบแห้งให้กับ สส. และวิสาหกิจชุมชนกว่า 10,000 กิโลกรัม ซึ่งสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้านปัญญา วรเพชรายุทธ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายขององค์กรสหประชาชาติที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ว่าด้วยเรื่องของขยะอาหารที่ให้แต่ละประเทศร่วมกันลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 โดยทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้ดำเนินความร่วมมือสอดรับกับนโยบายของ UN ในการลดขยะอาหารเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานที่นำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน