กกร.ชง 3 เรื่อง วางอุตสาหกรรมยั่งยืน EEC-จัดการน้ำ-คาร์บอนเครดิต พบต.ค.น้ำลดเหลือ55%หวั่นเกิดวิกฤติน้ำขาด เร่งรัฐรับมือจัดการน้ำยั่งยืน

กกร.ชง 3 เรื่อง วางอุตสาหกรรมยั่งยืน EEC-จัดการน้ำ-คาร์บอนเครดิต พบต.ค.น้ำลดเหลือ55%หวั่นเกิดวิกฤติน้ำขาด เร่งรัฐรับมือจัดการน้ำยั่งยืน


กกร.เผยข้อมูลภัยแล้งเริ่มต้นแล้ว ระดับน้ำเดือนต.ค.54% ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 66% หวั่นภัยแล้งทวีความรุนแรงวงกว้าง แนะรัฐเร่งบูรณาการบริหารจัดหารภัยล่วงหน้าเร่งด่วน วางแผนระยะยาว ผลักดันเตรียมพร้อมผู้ประกอบการปรับเกณฑ์มาตรฐานคาร์บอนเครดิต

 

 

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการประจำเดือนตุลาคม 2566ว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษกิจโลกชะลอตัว จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แนวโน้มโน้มเศรษฐกิจของไทยจึงขยายตัวได้ในกรอบ 2.5 – 3.0%

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงานในประเทศหลังจากช่วงการลดราคาตามนโยบายของรัฐสิ้นสุดลง

ดังนั้นข้อเรียกร้องสำคัญของกกร. ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ คือ

ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ตามร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ระยะที่ 2 บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อ EEC การจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระหว่างปี 2566 – 2570 ตาม 5 แนวทาง ประกอบด้วย

1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต

2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค

3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม

4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ

5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้มีความเพียงพอต่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความมั่นใจถึงความพร้อมกับนักลงทุนต่างชาติ

เร่งรัดแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ในปี 2566 ปริมาณน้ำใช้ได้จริง ณ เดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 54 % ซึ่งต่ำกว่าระดับในช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่อยู่ที่ระดับ 66 % หากภาวะเอลนีโญ่มีความรุนแรง ปริมาณฝนที่ตกจะยิ่งต่ำกว่าค่าปกติ จะส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ยิ่งน้อยลงและทำให้ความเสียหายจากภัยแล้งทวีความรุนแรงและจะกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น ภาคเอกชน จึงขอให้รัฐบาลบูรณาการการดำเนินงานของกลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายสำคัญ เช่น EEC และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ เพื่อกักเก็บสำรองให้กับพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC รวมถึงทบทวนแผนทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

โดยสรุปภาคเอกชนเห็นพ้องว่าประเด็นการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยอาจพิจารณาใช้งบประมาณบางส่วนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่หยุดชะงักและเป็นไปตามเป้าหมาย

ผลักดันแนวทางการทำ Carbon credit

เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล และสามารถทำการค้ากับต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการกำหนดบทบาทของภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อม โดยสภาหอการค้าฯ เน้นภาคการค้า เกษตรและบริการ สภาอุตสาหกรรมฯ เน้นภาคการผลิต และสมาคมธนาคารไทยจะเข้ามาสนับสนุนภาคการเงิน เพื่อให้เกิดรูปแบบที่ชัดเจนและสามารถขับเคลื่อนมาตรการ Carbon credit และสามารถแก้ปัญหามาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปได้ตรงจุด ลดผลกระทบให้กับผู้ส่งออกไป EU