อ.รัฐศาสตร์ ชี้ “คนนอก” นั่ง รมว.คลังคนใหม่ รับคำสั่งตรงนายกฯคนเดียว

อ.รัฐศาสตร์ ชี้ “คนนอก” นั่ง รมว.คลังคนใหม่ รับคำสั่งตรงนายกฯคนเดียว


การลาออกของ “ปรีดี ดาวฉาย” หลังเข้ารับตำแหน่ง “ขุนคลัง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นับตั้งแต่วันถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 ส.ค.63 จนวานนี้ (1 ก.ย.63) เพียงแค่ 20 วัน ด้วยเหตุผลที่ใครต่างก็รู้ว่า คนดีมีฝีมือ แต่แพ้พิษการเมืองเข้าแทรกนั้นอยู่ยาก

ไล่ตั้งแต่เหตุการณ์ที่ยังไม่พิจารณาข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ยืดจากสัญญาเดิมที่จากสิ้นสุดสัญญาปี 2572 ไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 จะทำให้บีทีเอสได้รับสัมปทานรวม 60 ปี เพื่อแลกกับภาระหนี้ของกรุงเทพมหานคร ร่วม 70,000 ล้านบาท รวมทั้งกำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ที่ “ปรีดี” บอกว่า เพิ่งเข้ารับตำแหน่งและขอกลับไปดูรายละเอียดชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนจะเผชิญคลื่นการเมืองซัดอย่างจัง ด้วยการรื้อโผโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการคลังกลางโต๊ะวงประชุมครม. ที่ถือเป็นการลองของ รัฐมนตรีน้องใหม่ ที่เสนอชื่ออีกคนเป็นอธิบดี แต่กลับมีการประกาศอีกรายชื่อหนึ่งแทน จน “วิษณุ เครืองาม” ต้องบอกให้กลับไปเคลียร์โผมาใหม่

จนกระทั่งวานนี้ (1 ก.ย.63) แม้โผรายชื่อข้าราชการ จะเป็นไปตามสิ่งที่ “ปรีดี” ต้องการ แต่ก็ยังไม่วายขอโบกมือลา ตำแหน่ง เพราะขืนอยู่ไปคงทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ นอกจากเป็น “หนังหน้าไฟ” ที่ต่อให้ตั้งใจทำงานแค่ไหน ก็ไม่สามารถควบคุมสั่งการอะไรได้ คนในกระทรวงการคลังเองก็เข้าใจดีและเห็นใจนายใหม่ที่เข้ามาทำงานได้เพียง 20 วัน ว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง เพราะแค่ใช้ลิฟท์ร่วมกับเจ้าพ่อกระทรวงฯ อายุงาน 1 ปีก็ถือเป็นปัญหาใหญ่แล้ว

แต่ทิศทางต่อจากนี้น่าจับตามองเป็นพิเศษ ว่าจะมีใครหน้าไหนอาจหาญเข้ามาต่อกรทำงานฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมกับคอยรบทัพจับศึกกับนักการเมืองเจ้าของกระทรวง โดย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับ ThaiQuote ถึงทิศทางของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า การลาออกของนายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.คลัง ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจ สังคมตั้งคำถามมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ที่กลุ่ม 4 กุมารได้ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล ในขณะที่เมื่อได้ นายปรีดี เข้ามานั่ง และก็ปรากฏดังที่เป็นข่าวก็ยิ่งสะท้อนเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะการทำงานที่ขัดแย้งระหว่างคนนอก กับนักการเมือง ปัญหาการทำงานระหว่าง รัฐมนตรีว่าการ กับ รัฐมนตรีช่วย

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามว่า นายปรีดี เกิดความกังวลด้วยหรือไม่กับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล รวมทั้งยังมีปัจจัยภายนอกอย่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

“ตำแหน่งรมว.คลัง ผมยังคิดว่า ควรต้องเป็นคนนอกอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้วยการคัดเลือกโดยนายกฯเอง หรือการหารือในคณะทำงานของรัฐบาล เนื่องจากว่าตำแหน่ง รมว.คลังจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และ รมว.คลัง เป็นกลไกหลักในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.กู้เงิน พ.ร.ก ตราสารหนี้ และ พ.ร.กที่เกี่ยวข้องกับSMEs ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องบริหารงานผ่านกลไกของ รมว.คลังในการขับเคลื่อน ซึ่งหากนักการเมืองได้รับตำแหน่งนี้ก็จะเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของความโปร่งใส โดยเฉพาะกฎหมายที่ว่าด้วยการกู้เงิน” อ.ยุทธพร ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงคุณลักษณะบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลังคนใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องความกังวลที่จะย้ำปัญหาเดิม ซึ่งเกิดขึ้นกับ “ปรีดี ดาวฉาย” คือการถูกภาคการเมืองแทรกแซง อ.ยุทธพร ได้ให้คำตอบว่า ตรงจุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องให้ความมั่นใจกับ รมว.คลังคนใหม่ที่จะเข้ามาว่า จะต้องมีความเป็นเอกภาพในการทำงาน โดยจะต้องรับคำสั่งและรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยรับประกันว่าจะต้องไม่มีปัญหาทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง รวมทั้ง รมว.คลังคนใหม่ จะต้องเขี้ยวและเชี่ยวกรากรู้จักการเมืองเป็นอย่างดี และสามารถรับแรงกดดันจากการเมืองได้

“มันไม่ง่ายที่จะหาคนซึ่งตรงสเป็กดังที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ต้องเข้ามว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งมีพรรคแกนนำอย่าง พลังประชารัฐ ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มก๊วนทางการเมืองเข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่งมีทัศนคติ และมุมมองทางการเมืองเข้มข้น ดังนั้นถ้าเป็นคนนอก จะต้องมีภูมิต้านทานที่หากมาเจอการเมืองอย่างนี้ แล้วไม่ใส่ใจเก็บมาคิด เดินหน้าทำงานเต็มที่ก็อาจทำได้” อ.ยุทธพร กล่าว

ด้านกระแสข่าวที่อาจมองว่า กลุ่ม 4 กุมาร ซึ่งมีคุณลักษณะที่มีส่วนผสมระหว่างการเมือง และนักวิชาการ จะมีโอกาสย้อนกลับมารับงานดูแลด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่นั้น อ.ยุทธพร มองว่า เป็นไปได้ยาก เนื่องจากกลุ่ม 4 กุมารเองไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำงานการเมืองกับรัฐบาลชุดนี้ต่อ เช่นกันที่พรรคพลังประชารัฐเองก็ได้แสดงภาพออกมาชัดเจนว่า ไม่สนับสนุน หรือมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่ม 4 กุมารต่อไป

ขณะเดียวกันการที่จะให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รีเทิร์นกลับมาช่วยงานด้านเศรษฐกิจโดยเป็นทีมงานของนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน

“จะเห็นได้ว่าในช่วงท้ายของการร่วมรัฐบาลของ อ.สมคิด นั้น ท่านได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังอยู่หลายประการ และยอมรับว่าเกิดปัญหาที่ทำให้ท่านถอดใจมาหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ อ.สมคิดจะกลับมา มีโอกาสที่เป็นไปได้ยาก” อ.ยุทธพรให้ความเห็น

สุดท้าย อ.ยุทธพร ได้สรุปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นั้น จะต้องมีภูมิต้านทานทางการเมือง และจะต้องได้รับการการันตี จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า จะต้องทำงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว โดยคนอื่นจะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานได้

เรื่องดังกล่าวถือเป็นโจทย์หิน และน่าหนักใจแทนรัฐบาลชุดนี้ไม่น้อย ที่หากได้คนใหม่มารับงานแต่ต้องเผชิญกับการเมืองแทรกแซง ก็มีหวังว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้ คงขยับกระชั้นสั้นเข้ามาเต็มทีแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง