2 นักวิชาการมองเลื่อนซื้อเรือดำน้ำ “ลดอุณหภูมิการเมือง และรัฐเริ่มฟังเสียงประชาชน”

2 นักวิชาการมองเลื่อนซื้อเรือดำน้ำ “ลดอุณหภูมิการเมือง และรัฐเริ่มฟังเสียงประชาชน”


โดย… กองบรรณาธิการ ThaiQuote

เป็นการเดินหมากของรัฐบาล กับประเด็น “เรือดำน้ำ” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเห็นอย่างฉับพลันในสังคมไทย เพราะล่าสุดรัฐบาลขอให้เลื่อนการชำระค่างวดให้กับทางการจีนเพื่อซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2- 3 ที่กองทัพเรือตั้งงบประมาณประจำปี 2564 เอาไว้ 3,375 ล้านบาทออกไปก่อน โดยเหตุผลคือต้องการเอาเงินส่วนนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

จากประเด็นนี้ ThaiQuote ยกหูหานักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อขอความเห็น ทั้งจากอาจารย์วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ปะจำภาควิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอาจารย์ อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง โดยเราขอเริ่มจากอาจารย์วันวิชิตก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเขามองว่าการเลื่อนการชำระครั้งนี้ เหตุผลใหญ่คือประเด็นทางการเมือง

—- การเมืองล้วนๆ เลื่อนชะลอซื้อเรือดำน้ำ —-

อาจารย์วันวิชิต เปิดฉากว่า หากเราย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ที่กองทัพเรือ ซื้อเรือดำน้ำลำแรกจากจีน ช่วงเวลานั้นกระแสการต่อต้านการจัดซื้อเรือดำน้ำยังไม่รุนแรงเหมือนในปัจจุบัน แต่ในชั่วโมงนี้รัฐบาลกำลังเจอปัญหาที่หลากหลาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ จากผลกระทบของโควิด-19 รวมไปถึงปัญหาทางด้านการเมืองที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวออกมา ดังนั้น การเบรกเรื่องเรือดำน้ำด้วยการเลื่อนการจ่ายเงินรายงวดให้กับทางจีน จึงเกิดขึ้น โดยมีปัญจัยด้านการเมืองเป็นสำคัญ

อีกทั้ง การใช้จ่ายเงินเพื่อลงทุนในด้านต่างๆ ขณะนี้ รัฐบาลต้องการการใช้จ่ายที่เกิดผลอย่างเป็น “รูปธรรม” มากที่สุด การเอาเม็ดเงินลงไปในจุดใดก็ต้องเห็นผลอย่างจริงจัง แต่กรณีของเรือดำน้ำ เป็นการจ่ายรายงวดจนกว่าจะได้รับสินค้า จึงไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันของทางการเมือง ที่รัฐบาลต้องการให้เห็นผลในทันที บวกกับในช่วงสัปดาห์ก่อนที่กองทัพเรือออกแถลงถึงประเด็นการจัดซื้อ ก็เป็นการเพลี่ยงพล้ำมากกว่าจะได้ประโยชน์จาการแถลงความชัดเจน เพราะดูเหมือนกว่ากองทัพเรือเลือกที่จะชนกับประเด็นทางการเมืองมากกว่าจะอธิบายให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ

“สิ่งที่กองทัพเรือแถลงก็มีผลต่อการตัดสินใจในทางการเมืองของรัฐบาล เพราะแทนที่กองทัพเรือจะได้แรงหนุนจากการแถลง แต่กลายเป็นว่าเป็นการชนกับการเมืองอย่างจัง รวมไปถึงการอธิบายต่างๆ ระหว่างการแถลงไม่อาจทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเล็งเห็นความสำคัญของเรือดำน้ำได้ คนที่เข้าใจมีเพียงแค่นักยุทธศาสตร์ที่เห็นว่าสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากมองในประเด็นข้อแถลงของกองทัพเรือ ก็เป็นเพียงเหตุผลนามธรรม และไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอถึงความจำเป็นของเรือดำน้ำ ที่สังคมจับต้องได้ ดังนั้น ประเด็นนี้รัฐบาลจึงเลือกให้ถอยออกไปก่อน” อาจารย์วันวิชิต วิเคราะห์

—- เบรกเรือดำน้ำ เท่ากับเบรกแรงเสียดทานของการชุมนุม —-

อีกประเด็นที่สำคัญสำหรับเรือดำน้ำที่พันเกี่ยวมายังรัฐบาล คือเรื่องของการเมือง ซึ่งอาจารย์วันวิชิต สะท้อนว่า เป็นเหตุผลโดยตรงกับรัฐบาลที่ต้องการชะลอการจ่ายเงินออกไปก่อน เพราะแรงเสียดทานจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลต้องการเบรกเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองออกไปก่อน และไม่ต้องการให้มีเรื่องอะไรที่จะจุดประเด็นให้กับสังคมจนออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และแน่นอนว่าเรือดำน้ำก็เป็นอีกปัจจัยที่หากว่าเบรกได้ก่อน ก็ต้องเบรกเอาไว้ เพื่อพยายามดับอารมณ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะหยิบเอาขึ้นมาเป็นประเด็นได้เหมือนกัน และเพื่อ ผลักระยะความขัดแย้งออกไปอีก” อาจารย์วันวิชิตสะท้อน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเช่นนั้น คำถามที่ตามมาคือ รัฐบาลเลือกจะทำให้กองทัพเรือไม่พอใจ และเลือกที่จะ “คูลดาวน์” ความร้อนแรงทางการเมืองไว้หรือเปล่า?

ปมนี้ อาจารย์วันวิชิตมองว่า กองทัพเรือน่าจะเข้าใจดีกับแนวทางการจัดการของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะอธิบายให้กับกองทัพเรือให้เข้าใจได้

“แน่นอนว่าการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ จะเพิ่มอำนาจการต่อรองในพื้นที่ได้เช่นกัน แต่ประเด็นที่โลกกำลังมอง รวมถึงสังคมในยุคปัจจุบัน การสะสมอาวุธจะมีประโยชน์ให้เกิดความสงบสุขกันจริงหรือเปล่า เรื่องนี้ก็ยังถกเถียงกัน เพราะหากมีบางประเทศมีอาวุธที่มากขึ้น มันรับประกันได้อย่างไรว่าจะไม่เกิดความตึงเครียดกับประเทศข้างเคียง”

จากมุมของอาจารย์วันวิชิต เขาเชื่ออย่างชัดแจ้งว่า การเลื่อนการชะลอเรือดำน้ำครั้งนี้ออกไป มีผลทางการเมืองเพียงประการเดียวที่รัฐบาลต้องการ แต่กับเรื่องของจีนที่เป็นคู่ค้าเรื่องนี้โดยตรงกับไทย เขามองว่าคงไม่มีปัญหากันในระยะยาว เพราะอย่างไรเสีย จีนเองก็ต้องการความร่วมมือจากไทย และจากประเด็นการเลื่อนชะลอชำระค่างวดเรือดำน้ำ เพราะเหตุผลว่ารัฐบาลต้องการเอาเงินไปช่วยภายในประเทศก่อนเนื่องจากปัญหาโควิด-19 มันเป็นเรื่องที่รับได้ และมีน้ำหนักเพียงพอแน่นอน

“จีนก็ยังหวังจะพึ่งไทยโดยเฉพาะในเส้นทางสายไหมที่จีนหมายมั่นอย่างมาก ดังนั้น การเลื่อนการจ่ายเพื่อเรือดำน้ำ จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาตามมาสำหรับไทย” อาจารย์วันวิชิต กล่าวทิ้งท้าย

—- รัฐบาลทำถูกแล้ว เปลี่ยนงบไปพัฒนากำลังพลจะดีกว่า —-

ฝั่งของอาจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง มีมุมมองที่เห็นด้วยเช่นกันกับการเลื่อนซื้อออกไปก่อน โดยย้ำว่าการตัดสินใจของรัฐบาลนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องดีแล้ว โดยรัฐบาลควรรักษาเม็ดเงินงบประมาณในส่วนนี้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดก่อน

อย่างไรก็ตาม หากมองว่า งบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำคืองบประมาณโดยตรงของกระทรวงกลาโหม ซึ่งหากไม่ใช้เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ ก็ควรนำไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อกำลังพล โดยการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังพลให้ดีขึ้น หรือ จัดสรรงบให้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการทำวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ในงานด้านความมั่นคงหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

“การนำงบประมาณมาใช้ในด้านของกำลังพลนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรง ทั้งเรื่องของการจ้างงานและกิจกรรมเศรษฐกิจภายใน มากกว่าการจัดซื้ออาวุธจากต่างชาติที่ทำให้เม็ดเงินไหลออกไป นอกจากนี้ การเลื่อนการจัดซื้ออาวุธ ผมได้เสนอให้เลื่อนการจัดซื้อ 100% ในปีนี้ เพราะไม่มีความเสี่ยงหรือภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงใดๆ ที่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างชาติแต่อย่างใด ” อาจารย์อนุสรณ์ วางข้อเสนอแนะ

ท้ายสุด อาจารย์อนุสรณ์ มองว่า ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอาจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นจากประเด็นนี้ เพราะการเลื่อนการจัดซื้อดังกล่าวเกิดจากกระแสสังคมต่อต้าน แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังฟังประชาชนอยู่บ้าง

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ยอมถอย! รัฐบาลชะลอสั่งซื้อ “เรือดำน้ำ”