จริงหรือไม่ คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น จากวิกฤตโควิด19

จริงหรือไม่ คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น จากวิกฤตโควิด19


จากกรณีที่โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เผยแพร่ผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนเกิดขึ้น เป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มี.ค.63 เป็นต้นมา โดยได้มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เม.ย.63 เป็นต้นมา

  

 

 

งานวิจัยดังกล่าวให้เหตุผลของการฆ่าตัวตาย ในช่วงระยะเวลานั้น ว่า เกิดจากกระทบจากมาตรการปิดเมือง สะท้อนรัฐบาลล้มเหลว ควบคุมเข้มงวด แต่ไม่มีมาตรการเยียวยาทันท่วงที โดยเฉพาะความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยมีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต

ทั้งนี้ข้อมูลที่เผยแพร่นั้น พบว่า ผู้ที่ทำการฆ่าตัวตาย เป็น เพศชาย จำนวน 27 ราย เพศหญิง จำนวน 11 ราย โดย 35 รายเป็นผู้มีอาชีพ ลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่น พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม เป็นต้น และอีก 3 ราย เป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจรายย่อย โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี

หากย้อนดูข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เดือน เม.ย.- พ.ค. เป็นเดือนที่มีสถิติการฆ่าตัวตายมากที่สุดในรอบปี โดยมีสมมติฐานว่า อากาศที่ร้อนขึ้นอาจมีส่วนต่อภาวะจิตใจของผู้คน

 

 

สำหรับสถิติภาพรวมอัตราการ “ฆ่าตัวตาย” ในประเทศไทย พบว่าปี 2561 อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากร 100,000 คน มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน โดยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 4 เท่า และพบว่าวัยแรงงานช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด ที่ร้อยละ 74.7 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1

 

 

ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงติดอันดับที่ 32 ของโลก ในปี 2562 รอบ 6 เดือนแรก อยู่ที่ 3.08% ต่อประชากร 1 แสนคน โดยเฉลี่ยประมาณ 11-12 รายต่อวัน และส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ปี โดยเป็นเพศชาย 80.4% ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย ในปี 2561-2562 โดยมีผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน

สาเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7 ความรัก หึงหวง ร้อยละ 22.9 ต้องการคนใส่ใจ ดูแล ร้อยละ 8.36

ปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า มีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง ร้อยละ 6

ปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ ร้อยละ 12 และ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 19

แน่นอนว่า สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยที่สูงขึ้นนั้น จึงไม่อาจด่วนสรุปอย่างชัดเจนได้ว่า เกิดขึ้นเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของโควิด-19 หากเทียบกับสถิติและสาเหตุการฆ่าตัวตายในรอบปีที่ผ่านมา

 

ข่าวที่น่าสนใจ

มหาดไทย สั่ง ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เร่งช่วยคนเร่ร่อน-ตกงาน

เทศบาลปากพนัง แจก 2,000 สู้โควิด19 ได้เงิน “เราไม่ทิ้งกัน” แล้วรับเพิ่มได้อีก