หาคำตอบว่าทำไม “สหรัฐฯ” ยักษ์ใหญ่ที่เป็นเต้ยในวงการการแพทย์ของโลก แต่เหตุใด “พวกเขา” ถึงมีคนติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เป็นที่หนึ่งของโลกในเวลานี้ที่ไวรัสร้ายกำลังคืบคลานอย่างหนัก
ที่สหรัฐอเมริกา ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 25263 ที่ผ่านมา โลกก็ยังได้เห็นรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ได้รับการยืนยันผลแล้วมากกว่า 142,000 ราย โดยสหรัฐฯ ยังขึ้นแท่นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวสูงสุดในโลก และยังมีสถิติการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อยู่ที่เฉลี่ยมากกว่า 10,000 รายต่อวัน ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ กล่าวไว้เมื่อบ่ายวันที่ 26 มีนาคม ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้เป็นผลมาจาก “การทดสอบการติดเชื้อของผู้คนเป็นจำนวนมหาศาลของเรา”
ไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายงานสถิติเมื่อนับถึงช่วงเช้าวันพฤหัสบดีว่าสหรัฐฯ ได้ดำเนินการทดสอบการติดเชื้อกับผู้คนเสร็จสิ้นแล้ว 552,000 ราย
เพื่อยับยั้งกระแสการระบาดของโควิด-19 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) จึงได้อนุมัติชุดทดสอบวินิจฉัยโรคโควิด-19 แบบเร็วชุดแรก ที่วิเคราะห์ผลลัพธ์ได้โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที
เพนซ์ยังระบุถึง ชุดทดสอบการติดเชื้อนอกห้องปฏิบัติการของ ‘แอบบอต แลบบอราทอรี่ส์’ (Abbott Laboratories) บริษัทผลิตอุปกรณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสหรัฐฯ ที่กำลังรอการอนุมัติจากเอฟดีเอ ซึ่งจะช่วยให้ทราบผลลัพธ์จากการตรวจภายในเวลาไม่ถึง 15 นาที
ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสระบุว่าผู้คนในสหรัฐฯ กำลังได้รับการตรวจสอบเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญกลับชี้ว่าความล่าช้าในการกำหนดนโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม และมาตรการป้องกันและควบคุมของสถาบันต่างๆ ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง
“เรายังเตรียมการไม่ดีพอสำหรับรับมือกับโควิด-19 ทั้งในแง่ของการทดสอบ การเว้นระยะห่างทางสังคม และการดูแลผู้ติดเชื้อ” สแตนลีย์ เพิร์ลแมน ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยไอโอวา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
โรเบิร์ต สคูลลีย์ ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า หลายเมืองในสหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงนิวยอร์กซิตี้ นิวออร์ลีนส์ และแอตแลนตา
“แต่แม้ตัวเลขบางส่วนที่เพิ่มขึ้นจะเป็นผลจากการทดสอบที่มากขึ้น เราก็ยังถือว่าทำงานล่าช้า ด้านการวางนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับสถานที่หลายแห่งอยู่ดี” เขากล่าว
สำหรับรัฐวอชิงตันที่เริ่มมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเร็วกว่ารัฐอื่นๆ ทำให้ยอดผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลง สคูลลีย์กล่าวด้วยความหวังว่าผู้ว่าการรัฐอื่นๆ จะดำเนินนโยบายที่คล้ายคลึงกัน เพื่อนำมาซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าว
เขายังชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุผลลัพธ์สูงสุด “ถ้าเรารอจนกว่าโรงพยาบาลจะรับผู้ป่วยไม่ไหว แล้วค่อยดำเนินมาตรการรักษาระยะห่าง ถึงตอนนั้นก็คงยากที่จะช่วยชะลอภาวะโรคระบาด เพราะมาตรการนี้ยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดี”
“เควิน ฟอลโคเนอร์ นายกเทศมนตรีของเราแห่งเมืองซานดิเอโก เป็นหนึ่งในนายกเทศมนตรีคนแรกๆ ของประเทศที่ปิดโรงเรียนและออกคำสั่งให้อยู่ที่บ้าน ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะได้ประโยชน์จากคำสั่งดังกล่าว เพราะในตอนนี้เรายังคงมีจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่ากับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว” เขากล่าว
แม้สหรัฐฯ จะกลายเป็นอันดับ 1 ของโลกด้านจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดยังอยู่ที่ 2,479 ราย เป็นรองหลายประเทศ เช่น อิตาลี สเปน จีน และฝรั่งเศส
“สาเหตุของยอดผู้เสียชีวิตที่น้อยกว่า เป็นเพราะผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐฯ มีอายุน้อยกว่าประเทศอื่นๆ” จางจั้วเฟิง ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและรองคณบดีฝ่ายวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าว
รายงานล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ ซึ่งศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 4,226 ราย ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. – 16 มี.ค. ระบุว่าประมาณร้อยละ 69 ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย, ร้อยละ 55 ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และร้อยละ 47 ของผู้ป่วยแผนกไอซียู ล้วนมีอายุน้อยกว่า 65 ปี
ผู้เชี่ยวชาญยังระบุถึงปัญหาใหญ่ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ อันได้แก่ การทดสอบหาผู้ติดเชื้อ การบรรเทาการติดเชื้อ การดูแลผู้ป่วย และการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส
“ระบบการแพทย์ของสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาล ตราบเท่าที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ” จางกล่าว
“การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์แนวหน้าต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนเตียงในโรงพยาบาล พื้นที่ในแผนกผู้ป่วยหนัก และเครื่องช่วยหายใจ จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น” เขากล่าวทิ้งท้าย
แปลจากบทความของ ถานจิงจิง จากสำนักข่าวซินหัว
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ