จากผ้าขาวไปสู่แฟลชม็อบ “การเมืองไทยจะลงถนน” ได้หรือไม่?

จากผ้าขาวไปสู่แฟลชม็อบ “การเมืองไทยจะลงถนน” ได้หรือไม่?


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย กับความร้อนแรงของการเมืองในเมืองไทยที่ดูเหมือนว่าจะมีดีกรีความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากการที่ อดีตแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ ออกมาขยับการเคลื่อนไหวภายนอกสภา เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยุบพรรคจากปมเงินกู้ 191.2 ล้านบาทไปแล้ว ภาพของเหล่าคนรุ่นใหม่ทั้งนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นฐานพลังหลักของพรรคอนาคตใหม่ ก็เริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงออกให้เห็นถึงพลังทางการเมืองของพวกเขา

และการแสดงออกซึ่งพลังทางการเมืองของคนรุ่นใหม่นี้เอง ที่ทำให้เกิดคำถามในสังคมว่า “การเมืองบนท้องถนน” สำหรับเมืองไทย มันจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่?

การรวมพลัง หรือที่ระยะนี้คนที่ติดตามการเมืองจะได้ยินคำนี้อยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ “แฟลชม็อบ” หรือการรวมตัวกันสักครู่และสลายไป กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ก็รวมกันทำแฟลชม็อบกันในหลายพื้นที่ หลายสถาบันศึกษา

หลายคนมองว่า เด็กถึงอย่างไรก็เหมือนผ้าขาว การที่มารวมตัวกันทำแฟลชม็อบและแสดงออกทางการเมืองนั้น มันมี “ผู้ใหญ่” อยู่เบื้องหลัง คอยยุยงให้พวกเขาทำ

จะจริงเท็จหรือไม่ยังเป็นคำตอบที่ยังไม่มีใครกล้าออกมาพูดในเรื่องนี้ แต่จากคำถามที่ทิ้งไว้ในข้างต้น แฟลชม็อบจากกลุ่มนักศึกษา จะถูกพัฒนาไปมากกว่านี้ได้หรือไม่ หรือกลายเป็นการเคลื่อนขบวนลงสู่ท้องถนนอีกครั้งของการเมืองไทยหรือเปล่า

เพื่อหาคำตอบ เราหยิบโยงไปเรื่องทฤษฎี “ผ้าขาว” สำหรับเด็กเยาวชนของชาติ หากมีคนพูดถึงเรื่องนี้ในสังคมไทยกับประเด็นนี้จะมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือคนที่พูดแบบนักการเมือง ซึ่งมันก็มีความหมายในทำนองที่อยากจะ “ด่า” เด็ก อยากจะวิจารณ์เด็ก แต่กลัวว่าเด็กจะไปโกรธ เลยกระทบชิ่งไปหาผู้ใหญ่แทน มันจึงกลายเป็นเรื่องที่ว่าเด็กไปถูกยุยง และเด็กเหล่านี้คิดเองคงไม่ได้

ส่วนผู้ใหญ่คือใคร ก็คงไม่ยากเกินกว่าที่ผู้อ่านจะจินตนาการถึงได้

 

 

กลุ่มที่สองที่มองเด็กเป็น “ผ้าขาว” เป็นพวกไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมือง แต่มองว่าเด็กก็ถูกปลุกปั่นยุยง เพียงแต่อยากแสดงความเห็นออกมาเท่านั้น แต่การพูดแบบตีวัวกระทบคราด ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ การพูดวิจารณ์แบบนี้จะเหมือนกับการเพิ่ม “เชื้อเพลิง” ให้กับกลุ่มเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ได้ฟัง ซึ่งกลุ่มนี้ค่อนข้างจะอันตรายอย่างมาก

เด็กๆ ที่ไปจัดแฟลชม็อบ อย่าลืมว่า พวกเขาคือฐานคะแนนของอนาคตใหม่ พวกเขามองว่าตัวเองคือหุ้นส่วนของพรรคเหมือนกัน ที่พวกเขาเลือกเข้าไปทำงานจนได้รับความนิยมมากถึง 6 ล้านเสียงในการเลือกตั้ง เรื่องที่ปลุกปั่นกัน มันอาจพูดได้ทางการเมือง แต่อีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ “อนาคตใหม่” ก็คือของรักของกลุ่มฐานเสียงที่เป็นคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ที่ออกมาเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม หากมองว่าการพัฒนาแฟลชม็อบให้นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้มีผู้นำไปเทียบเคียงอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับการมองบรรยากาศการเคลื่อนไหว รูปการว่าจะคล้ายคลึงกับเหตุที่ผ่านมาหลายสิบปีก่อน

เพราะมันเกิดจากกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่เริ่มขยายตัวไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ โรงเรียนอื่นๆ สิ่งต่างๆ ที่ถูกทับถมเอาไว้ และภาพของอดีตก็อาจจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน

แต่ที่จะแตกต่างคือเหตุผลในการเคลื่อนไหว ที่หลายคนมองว่ากับสถานการณ์ปัจจุบัน มันเพียงพอแล้วหรือยังกับการนำไปสู่ “จุดนั้น” ที่หลายคนกำลังเป็นกังวล เพราะในยุคเดือนตุลาห้วงเวลาที่ผ่านมาเกิดเหตุสะสมหลายสิ่งประการจากรัฐบาลชุดนั้นที่นำไปสู่การแสดงออกเป็นพลังขึ้นมา แต่สำหรับเหตุผลในขณะนี้อาจจะยังไต่ไปไม่ถึง

อีกทั้งมันมีปัจจัยอื่นๆ ที่ประกอบกันซึ่งต้องนำมาพิจารณาด้วย เพราะเดือนตุลาประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพังจากการตื่นตัวเพียงประการเดียว มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ทางด้านภาวะวิสัยที่ประกอบเป็นรูปร่างขึ้นมา เช่น ภาวะเศรษฐกิจ เรื่องน้ำมัน-สิ่งของราคาที่พุ่งสูงขึ้น ข้าวยากหมากแพง คนไทยใช้ชีวิตลำบาก

ดังนั้น จะเห็นภาพได้ว่ากำลังของนักศึกษาเพียงกลุ่มเดียวในช่วงเวลานั้น ไม่ได้เป็นพลังที่จะพาการเมืองไทยลงบนท้องถนนได้ แต่มันมีความเจ็บช้ำจากในภาคส่วนของประชาชนเข้าร่วมผสมเข้าไป มันจึงก่อเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขึ้นมา

ย้อนมาในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีใครบ้างที่เอากับเรื่องนี้ คงยากที่จะตอบได้ในชั่วยามนี้ แต่ที่แน่นอนคือการเมืองในท้องถนนจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หากแต่คำถามต่อมาคือมันจะยกระดับไปได้ถึงขั้นไหน ล้มรัฐบาลได้หรือไม่ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้หรือไม่ คงไปมองแค่พลังนักศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่ได้

มันจำต้องมีพลังอื่นๆ ของประชานที่เข้ามาร่วม และมีอารมณ์ร่วมกันกับปัญหาต่างๆ ที่จะเป็นวิสัยให้ก่อเกิดขึ้นมา

 

ข่าวที่น่าสนใจ