แกะปม “อเมริกา-อิหร่าน” กับ “สงครามโลกครั้งที่ 3” มันไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น

แกะปม “อเมริกา-อิหร่าน” กับ “สงครามโลกครั้งที่ 3” มันไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น


กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ผลพวงจากการเผชิญหน้าระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” และ “อิหร่าน” ทำให้โลกต้องตกอยู่ในภาวะคุกรุ่นอีกครั้ง

หลังจากที่ พล.ต.คาเซม สุไลไมนี นายทหารผู้ทรงอิทธิพลระดับสูงของอิหร่าน ถูกโดรนสังหารโดยน้ำมือของกองทัพสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 ก็ทำให้โลกต้องเผชิญความหวาดกลัวต้อนรับศักราชใหม่ในทันที

 

เพราะคำสั่งสังหารครั้งนี้ ออกมาจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สั่งให้ปลิดชีพผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน บุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากต่อปฏิบัติการทางทหารของอิหร่าน และข้อหาแห่งคำสั่งฆ่ามาจากที่สหรัฐฯ บอกว่า นายพลผู้ทรงอิทธิพลผู้นี้ อยู่เบื้องหลังการสังหารทหารสหรัฐฯ หลายนายที่ปฏิบัติหน้าที่ในตะวันออกกลาง และการสังหารมาจากข้อมูลการข่าวของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า นายพลสุไลไมนี วางแผนเตรียมโจมตีและทำร้ายนักการทูต เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ในอิรักและในภูมิภาคของตะวันออกกลาง

 

 

แต่การปลิดชีพนายพลสุไลไมนี ก็ทำให้อิหร่านทั้งประเทศเดือดเป็นไฟ และนำไปสู่คำขู่ต่างๆ ของอิหร่านที่พุ่งโจมตีไปยังสหรัฐฯ พร้อมกับการตั้งค่าหัว “ทรัมป์” เป็นวงเงินสูงถึงกว่า 2 พันล้านบาท

กระทั่งเช้าตรู่วันที่ 8 มกราคมตามเวลาประเทศไทย มิสไซน์รวม 15 ลูกก็พุ่งออกจากอิหร่านไปโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตตามมา

บรรยากาศมันย่อมนำไปสู่คำถามที่ทั้งโลกเริ่มเป็นกังวล โดยเฉพาะที่ว่า “สงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นหรือเปล่า”

คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด หากนิยามว่าทั้งโลกจะต้องเดินเท้าเข้าสู่สงครามตามชาติพันธมิตร เห็นทีว่า “อาจเกิดขึ้นได้ยาก”

 

นั่นเพราะทุกวันนี้ในโลกต่างมีการ “คานอำนาจ” กันอย่างชัดเจน และยังมีกฎหมายระหว่างประเทศคอยกำกับไม่ให้แต่ละชาติเข้าห้ำหั่นกันได้ง่ายๆ เหมือนแต่เดิม

เพราะหากมาเผชิญหน้ากันสองฝ่ายแล้ว การจะเปิดศึกสงครามเข้าใส่กันย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้ง ชาติพันธมิตรที่หนุนหลังกันอยู่ก็อาจจะไม่เล่นด้วย เพราะมันเสี่ยงเหลือเกิน เสี่ยงอย่างมากที่โลกจะเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ยกตัวอย่างชาติมหาอำนาจแห่งยุโรปที่หนุนหลังสหรัฐฯ ทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่เยอรมัน ก็ส่ายหัวแน่นอนหากว่า “ทรัมป์” จะเปิดศึกครั้งนี้ และต้องการให้พวกเขาเข้าร่วมวงด้วย

และเด่นชัดขึ้นมาทันที เพราะบรรดาผู้นำสามชาติมหาอำนาจแห่งยุโรป ต่างปฏิเสธอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่ขอร่วมวงกับปฏิบัติการครั้งนี้ของสหรัฐฯ เพราะมันไม่ได้ก่อประโยชน์ใดให้กับพวกเขา หนำซ้ำยิ่งจะพาโลกเข้าไปสู่ความวุ่นวายมากขึ้น

แต่ใช่ว่าสงครามจะไม่มี แม้ว่ามันจะไม่ใช่สงครามโลกก็ตาม เพราะ “สงครามอ่าว” อาจจะเกิดขึ้นได้ในตะวันออกกลาง โดยมีสหรัฐฯ กระโดดเข้ามาร่วมวงในฐานะตัวหลักที่เป็นแกนของเรื่องที่เกิดขึ้นร่วมกันกับอิหร่าน ขณะเดียวกันก็ต้องดูชาติในเอเชียใดบ้างที่พร้อมจะเข้ามา “รักษาสันติภาพ” ในดินแดนตะวันออกกลางแห่งนี้ และน่าติดตามด้วยว่ากลไกใดที่จะถูกนำมาใช้

นับว่ายังพอมีความหวังในแสงสว่างของสันติภาพอยู่บ้าง ที่ชาติใหญ่ๆ ต่างก็ไม่เอาด้วยกับสงครามนี้ที่กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ หรือพร้อมจะหนุนให้เกิดการใช้หนทางที่ประนีประนอมกันมากที่สุดในการแสวงหาทางออก

 

แต่แน่นอนว่า โลกอาจจะเกิดความโกลาโหลขึ้นได้อย่างมากหากว่าสงครามโลกมันเกิดขึ้นจริง เพราะแต่ละชาติก็มีอาวุธในระดับที่ถูกพัฒนาขึ้นมาถึงขีดสุดแล้ว ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ผสมผสานเข้ามาในอาวุธ ซึ่งมันจะก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ซึ่งมันอาจจะทำให้โลกเราเป็น “จุณ” ได้ และอย่างง่ายดายด้วย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ครม.เศรษฐกิจ เตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน