วิเคราะห์เจาะลึก คนไทยตกงานจุดไหน

วิเคราะห์เจาะลึก คนไทยตกงานจุดไหน


ที่ผ่านมามีข่าวว่าหลายกิจการ หลายอุตสาหกรรมได้ปิดกิจการ ปลดพนักงาน หรือลดกำลังการผลิต ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเป็นอย่างมาก แล้วตลาดแรงงานไทย ส่วนไหนที่กระทบและต้องปรับตัว

นายไพศาล มังกรไชยา ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้ ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก Thaiquote เรื่อง “ทำไมคนไทยตกงาน” โดยได้กล่าวถึงภาพรวม และแยกเป็นรายอุตสาหกรรมว่าสาเหตุของคนไทยตกงานเกิดจากอะไร(สามารถติดตามการไลฟ์สด มุมมองประเด็นดังของ คุณไพศาล มังกรไชยา ได้เป็นประจำที่ Thaiquote) 

ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตกงาน ซึ่งมีความโน้มเองไปในทางวิตกกังวลว่าจะเป็นสถานการณ์ใหญ่ และจะเชื่อมโยงไปทางเศรษฐกิจ ให้บริษัทต่างๆ ต้องปิดกิจการ หรือถ้ายังทำกิจการอยู่ก็ต้องลดกำลังแรงงานลง มีการพูดถึงบัณฑิตจบใหม่ที่ต้องตกงานนับแสนคน ว่ากันถึง 4 แสนคน โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ว่ากันถึงหลักแสนคน ซึ่งทราบว่ากระทรวงอุดมศึกษาจะมีมาตรการออกมารองรับ มาทำงานชั่วคราวเป็นงานด้านช่วยเหลือสังคมประมาณ 1 ปี ประคับประคองกันไปก่อน เป็นการพยุงภาวะตกงานในกลุ่มบัณฑิตจบใหม่

แต่ทางกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตอบโต้ว่าข่าวนั้นเป็นข่าวเก่า นำมาเสนอเพื่อต้องการดิสเครดิตารัฐบาลและทีมเศรษฐกิจที่บริหารเศรษฐกิจไม่ดีพอ โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาชี้แจงว่าปริมาณโรงงานเปิดใหม่มากกว่าปิด มีปริมาณโรงงานเปิดใหม่มากกว่า 107 % ปิดประมาณ 40,000 โรง เปิดประมาณกว่า 80,000 โรง มีการนำตัวเลขมายันกันว่าตัวเลขตกงานน้อยกว่าตัวเลขที่มีงานทำ อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการตกงานต้องพูดลงไปในมิติที่ว่าที่ตกกงานนั้นมันอยู่ในสัดส่วนไหน ภาคการผลิตส่วนไหน เรื่องการตกงานเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงภาวะเศษฐกิขมีปัญหาการตกงานย่อมมีมาก เพราะอยู่ในเงื่อนไขของสงครามการค้า ผลิตออกมาก็ไม่รู้ว่าจะส่งออกไปที่ไหน ย่อมต้องเกิดเหตุการณ์นี้แน่นอน เพราะกำลังการผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ แน่นอนแรงงานย่อมได้รับผลกระทบ อย่างน้อยๆ ที่สุดถึงไม่ออก แต่โอทีไม่ได้ มันมีผลกระทบถึงรายได้ในกระเป๋า แล้วก็ไปเชื่อมถึงการจับจ่ายใช้สอย มันก็เชื่อมกันเป็นวงจร

สิ่งสำคัญคือเราต้องมองภาพใหญ่แรงงานของเรา ถ้าพูดถึงความต้องการแรงงานทุกภาคส่วน กับจำนวนประชากรแรงงานของไทย จบการศึกษาต่างๆ นำมาประกบดูกัน ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน ประชากรไทย 67 ล้านคนอยู่ในวัยทำงานประมาณครึ่งหนึ่งประมาณ 30 ล้าน แต่ความต้องการแรงงานของเรามากขึ้นไปกว่าจำนวนประชากรแรงงาน จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าว และขณะนี้แรงงานต่างด้าวต้องมีไม่น้อยกว่า 3-4 ล้าน ซึ่งแรงงานจำนวนนี้ไม่นำเข้า แรงงานของไทยเข้าไปทดแทนแรงงานส่วนนี้อาจจะไม่พอ แต่ปัญหามีอยู่ว่าแรงที่มีความต้องการแต่แรงงานไทยไม่ทำ ตัวอย่างเช่น แรงงานประมง คนไทยไม่ทำเพราะเห็นว่าอันตราย สภาพแวดล้อมไม่ดี ถือเป็นงานสกปรก หรือการเป็นแม่บ้านคนไทยไม่ทำ เป็นต้น จึงเป็นที่มาว่าคนไทยต้องการได้ค่าแรงงานที่สูง แห่กันไปเรียนสายสังคมศาสตร์ แต่ความต้องการของแรงงานสายสังคมศาสตร์มีน้อย จึงทำให้แรงงานตกงานกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนี้เสียมาก

โครงสร้างแรงงานไทย คนไทยปฏิเสธค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ คนไทยต้องการการทำงานในรายได้ที่สูงขึ้นมา มีหน้าที่มีความสบายมากขึ้น จึงขนขวายไปเรียนกัน ก็ไปในกลุ่มตลาดที่ไม่มีการจ้างงานที่มาก ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับให้แรงงานส่วนนี้เข้าไปสู่การจ้างงานจริง หรือจะพัฒนาเป็นผู้ประกอบการก็ต้องไปฝึกไปเรียนด้านนั้นมาโดยตรง ซึ่งคิดว่าได้มีการปรับตัวมาแล้วในระดับหนึ่ง เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนค่านิยม ทัศนคติต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งก็ต้องค่อยๆ ปรับไป

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ งานที่คนไทยประสงค์จะทำ จำนวนงานนั้นมีน้อยจำนวนคนที่จะทำ มันแตกต่างกัน ความต้องการแรงงานในภาพรวม กับแรงงานที่มีอยู่ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศขาดแคลนแรงงาน แต่ว่ากลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน ความต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานจะกระจุกอยู่บางกลุ่ม ซึ่งตรงนั้นมันล้นเกิน ทำให้นักศึกษาจบใหม่จึงต้องตกงาน หรือว่ารองาน เพราะตลาดไม่รองรับพอ

ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงตามห้วงเวลา เราเคยเจอภาวะโรงงานปิดงาน คนงานตกงาน กำลังการผลิตตกฮวบเลย ในปี 2554 เพราะเกิดน้ำท่วมใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมหลายพันโรงงานต้องหยุดนานหลายเดือนกว่าจะฟื้นฟูกิจการ ช่วงที่ปิดงานแต่ละโรงงานก็ใช้วิธีเจรจากับแรงงาน บ้างก็จ่ายน้อย และมีจำนวนไม่น้อยที่จะต้องหยุดงานโดยโรงงานไม่จ่ายเงินให้ จนกว่าจะฟื้นฟูโรงงานได้ จึงจะรับเข้ามาทำงาน นอกจากนี้ในช่วงอื่นๆที่เรามีปัญหาเช่น ช่วงวิกฤติแฮมเบเกอร์ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นที่สหรัฐ แต่กระทบถึงยุโรป ซึ่ง 2 ภูมิภาคนี้ถือว่ามีการบริโภคสูง เมื่อมีรายได้น้อยลง จึงซื้อจากไทยและจีนน้อยลง ตอนนั้นกำลังการผลิตต่ำกว่า 65% ถือว่าวิกฤติ ไม่สามารถขยายงานหรือลงทุนได้ แต่ก็ใช้เวลาไม่นานประมาณ 2 ปี ก็คลี่คลายไปได้ทำไมคนไทยตกงาน

เที่ยวนี้มีปัญหาเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน 2 ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจทะเลาะกันทำให้ปิดตลาดกัน เพราะฉะนั้นในห่วงโซ่อุปทานที่ร้อยรัดไปทั่วโลก เราก็เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ ได้รับผลกระทบกับภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมของไทย ทำให้อุตสาหกรรมต้องลดการผลิต บางส่วนตัดโอที บางส่วนต้องลดจำนวนแรงงานลง บางส่วนก็ปิดกิจการ ภาวะเช่นนี้ย่อมได้รับผลกระทบโดยทั่วกันหมดอยู่แล้ว แต่จะกระทบกิจการตรงไหนอย่างไร มันไม่กระทบทั้งหมด ซึ่งมีบางกิจการที่ได้รับผลกระทบเสียหายมากๆ ก็ต้องส่องกล้องดู ซึ่งก็เพ่งเล็งไปที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมียอดการส่งออกไปทั้งสองประเทศสูง อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะฐานการผลิตครึ่งหนึ่งส่งออกไปต่างประเทศ ตลาดภายในพอประคับประคองได้ แต่ตลาดภายนอกได้รับผลกระทบแน่ อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ก็ต้องได้รับผลกระทบตาม ก็จะเห็นตามที่เป็นข่าวโรงงานชิ้นส่วนบางรายต้องปิดสายการผลิตบางสาย และถึงขั้นต้องเจรจาพนักงานลดเงินเดือน เพื่อที่รักษาให้อยู่รอดได้ เรื่องนี้ต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรมไป

ประการต่อมา เป็นเรื่องของ Disruption การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้ล้มหายตายจากของการผลิตในรูปแบบเดิมๆ ภาคบริการก็ได้รับผลกระทบ ตอนนี้ธนาคารก็ปิดสาขา คนทำงานธนาคารก็ต้องถูกเชิญให้ออก ก็ต้องหาอาชีพใหม่ เพราะคนต้องออกในหลักหมื่นหลักแสน ยิ่งถ้า AI มาคนไม่ต้องไปเจอกับผู้คนกันแล้ว มีมือถืออันเดียวก็ทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีสายการผลิตใช้พลังงานน้ำมันต้องค่อยๆ ลดกำลังการผลิตลง ก็ต้องขยับไปเป็นไฮบริดส์ เป็นการใช้พลังงานระหว่างน้ำมันกับไฟฟ้า ในที่สุดก็ต้องไปสู่พลังงานไฟฟ้า ฉะนั้นมันจึงมีระยะของการเปลี่ยนผ่าน ส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนกระบวนการผลิตในสายการผลิตนี้ ซึ่งแรงงานถ้าไปเรียนรู้ฝึกฝนกับสายการผลิตในรูปแบบใหม่ก็จะได้งานไป ซึ่งปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่จะต้องเผชิญหน้ากับ Disruptive นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเข้ามากระทบกับแรงงานไทย

องค์ประกอบมากมายที่ยกมานี่ จึงทำให้เราพูดถึงภาวะคนว่างงานหรือตกงานเราจึงต้องเจาะลึกและมองลงไปเป็นส่วนๆ ว่าของแต่ละส่วนอุตสาหกรรมคืออะไร เพราะบางอุตสาหกรรมอาจจะอยู่ในภาวะ Sun Set ก็มี ตัวอย่างเช่นโรงงานสิ่งทอถ้ายังอยู่ในประเทศไทยได้ ต้องถือว่ามีปัจจัยพิเศษมาสนับสนุน เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอตอนนี้ทำอย่างไรก็สู้จีนไม่ได้ ตัดเย็บเสื้อผ้าที่เป็นของโหลอย่างไรก็สู้จีนไม่ได้ เพราะมีค่าแรงที่ต่ำกว่าเราอย่างเทียบไม่ได้ ต่อไปก็เมียนมาต่อไปก็ต้องมีโรงงานด้านสิ่งทอด้วย เพราะฉะนั้นลำบาก ค่าแรงที่ขยับขึ้นมามันสู้ไม่ได อุตสาหกรรมประเภทนี้เป็น Sun Set แต่เรากำลังขยับไปสู่อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น จะเข้าเร็วได้แค่ไหน มันก็จะทำให้ปัญหาการเปลี่ยนผ่านแรงงานกลุ่มหนึ่งไปยังแรงงานอีกกลุ่มหนึ่ง เปลี่ยนจาก การจ้างงานที่เสียหายไปกลุ่มหนึ่งมาสู่การจ้างงานกลุ่มใหม่มันจะสามารถทดแทนได้มากน้อยแค่ไหน การเปลี่ยนผ่านด้วยความราบรื่นแค่ไหน นี่คือประเด็นที่น่าสนใจ มากกว่าการดูตัวเลขการตกงาน เลิกจ้าง การปิดกิจการโดยรวม ถ้ามีการอธิบายที่ชัดเจนก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้และในอนาคตที่จะตามมา

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

สวนดุสิตโพลชี้คนไทยห่วงปัญหาเศรษฐกิจ หวั่นของแพง-ตกงาน-รายได้ลด