นโยบายชิงเด่น จุดอันตรายของ “รัฐบาล”

นโยบายชิงเด่น จุดอันตรายของ “รัฐบาล”


โดย…กองบรรณาธิการ ThaiQuote

กลายเป็นเรื่องลับภายในพรรค “พลังประชารัฐ” ที่ชักจะร้อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนทำให้อุณหภูมิมันแผ่ซ่านออกมานอกพรรค และทำให้เกิดเสียงซุบซิบนินทาในวงการเมืองกันจ้าละหวั่น ว่าบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ที่หัวหอกอย่างพรรคพลังประชารัฐ กำลังจะ “เอาไม่อยู่” กับบรรดาพรรคร่วมบิ๊กเนมทั้งหลายแล้ว

คอการเมืองเริ่มจับสัญญาณความผิดปกติบางอย่างออกมาได้ เพราะทั้งพลังประชารัฐ ที่ควบรวมเอา “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” มาเซ็ตอัพทีมรัฐบาล เพื่อหวังให้มาร่วมกันสานงานบนเรือลำเดียวกันให้มันแน่นหนาเดินฝ่ามรสุมทางการเมืองให้ได้

แต่แล้วกลับดูเหมือนว่า “ต่างคนต่างทำงาน” ไม่ได้เป็นเนื้อแผ่นเดียวกัน และผลที่ว่านี่เอง ที่กำลังทำให้บรรดาบิ๊กๆ ทั้งหลายใน “พลังประชารัฐ” ต้องเริ่มกุมขมับ และร้องหายาแก้ปวดหัวกันแล้ว

ก็เพราะคำว่า “นโยบายของแต่ละพรรค” นี่เอง ที่ทำให้พลังประชารัฐต้องปวดหัว เพราะดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างก็จะเร่งทำผลงานของตัวเอง โดยไม่สนพวกพ้องร่วมบ้านหลังคาเดียวกัน และบ่อยครั้งทีเดียวที่เมื่อพรรคหนึ่งประกาศจะจัดมาตรการบางอย่างออกมา และแจ้งสู่สาธารณะประชาชนในทันที แต่แล้วกลับไปพันเกี่ยวกับอีกกระทรวงหน่วยงานหนึ่งที่พรรคตัวเองไม่ได้ดูแล ทำให้กระทรวงนั้น หรือโควต้าของอีกพรรคหนึ่ง ก็ต้องปรับกลยุทธ์ให้รับลูกตามกันไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ กรณีนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ พร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 อย่างการประกันราคาข้าว ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์เป็นผู้เสนอมาตรการ กระทบชิ่งกับนโยบายการอุดหนุนต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ของพรรคพลังประชารัฐในทันที

หรืออย่างเรื่องการประกันราคาปาล์มน้ำมัน 4 บาท/กิโลกรัม ทั้งที่ความจริงราคาปาล์มน้ำมัน ที่ 3-3.5 บาท เกษตรกรก็ได้เฮ และสามารถรับได้ อีกทั้งยังไม่ปั่นป่วนราคาการซื้อขายในตลาดเกินไป แต่มาตรการจากฝั่งการคุมเกมของประชาธิปัตย์ ก็ส่งผลกระทบต่อนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่มี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์เหมือนกัน เพราะมันเป็นตัวบีบทำให้ต้นทุนราคาน้ำมัน ดีเซล บี 20 ที่รัฐกำลังเหยียบคันเร่งให้มิดเพื่อเร่งให้คนไทยใช้กันมากขึ้น ถีบราคาให้น้ำมันชนิดนี้สูงขึ้นตาม ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบไปถึงมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันบี 20 รวมถึงภาระของผู้บริโภคอีกด้วย

นี่คือการเดินเกมของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคร่ำหวอดในวงการเมือง และกุมบังเหียนกระทรวงหัวใจหลักของเศรษฐกิจภายในประเทศทั้ง ก.พาณิชย์ และก.เกษตรฯ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าพวกเขาทำตามสัญญา ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ดึงคะแนนนิยมทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย

แต่อีกด้านก็ทำให้เกิดการกระทบชิ่งกับพรรคร่วมที่คุมกระทรวงอื่นๆ ที่พันเกี่ยวในรัฐบาลเช่นกัน

ด้านพรรคภูมิใจไทยเอง ก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกัน หลังจากที่นโยบายกัญชา ถูกผลักดันออกมาให้เป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน โดยนโยบายล่าสุดคือ ผลักดันเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ… เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯในการเปิดประชุมสมัยหน้า เพื่อปลดล็อคให้ชาวบ้านปลูกกัญชาได้ ครัวเรือนละ 6 ต้น แม้เมื่อเสนอแล้วจะไม่ได้รับความเห็นชอบก็ตาม แต่ก็ถือว่าภูมิใจไทยได้ทำตามที่สัญญาแล้ว เร้าให้ภูมิใจไทยทำแต้มโกยคะแนนได้อีกมากโข’

เช่นเดียวกับนโยบาย “Grab” ถูกกฎหมาย ที่ถูกกระหน่ำโจมตีจาก วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถแท็กซี่สาธารณะ ทำให้หลายคนแปลกใจว่า กลุ่มรถสาธารณะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกบางกลุ่ม ทำไมถึงไปตะโกนเรียกร้องกันหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่ความจริงนโยบายนี้เป็นของเจ้ากระทรวงคมนาคม อย่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ร้อนจน นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาฯพปชร. ต้องลงมาเคลียร์ใจ รับปากจะดำเนินการให้ หรือมีใครจัดตั้งม็อบแท็กซี่ดังกล่าวขึ้นมา เพราะเคลียร์จบเรื่อง “Grab” แต่เลขาฯพปชร.ยังต้องรับเคลียร์เรื่องหนี้นอกระบบ ของวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่ออีกทอดหนึ่ง

ประหนึ่งว่าพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะมี “เอกภาพ” กันมากจนเกินไป ทำให้ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องรอไฟเขียวจากใคร เพราะผลงานของตัวเองก็จะได้เครดิตตามมาจากภาคประชาชน ส่วนพรรคอื่นที่ทำงานจะเสียหายก็ไม่เห็นจะเกี่ยวข้อง

ประเด็นนี้ในระยะยาวจะเกิดปัญหาตามมาแน่นอน และพลังประชารัฐอาจจะเสียความนิยมเอาได้ง่ายๆ เพราะหากจะต้องมาคอยพะวงว่าบรรดาบิ๊กเนมของพรรคร่วม จะแทงเรื่องอะไรเป็นนโยบายเพื่อเล่นตามน้ำ การจะปูทางสานต่อคะแนนกับประชาชนตามนโยบายที่วางเอาไว้ก็กลัวจะเป็นเรื่องยาก

เพราะในโลกของประชาธิปไตยอันแท้จริงแล้ว มันแตกต่างจากครั้งที่เมื่อผู้ใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐเคยทำงานภายใต้ร่มเงาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ที่อะไรก็จะง่ายไปหมด แต่ปัจจุบันเมื่อมาเจอกับบรรดานักการเมืองที่เขี้ยวลากดิน ที่เมื่อเข้าสู่สนามที่ช่ำชองอยู่แล้ว การที่หน้าใหม่ในวงการเมืองอย่างพลังประชารัฐเข้ามาร่วมเล่นด้วย จึงกลายเป็นงานยากของตัวเองทันที

คนเดียวที่อาจจะมายุติปัญหาที่เกิดขึ้นในการวัดกำลังภายในของพรรคร่วมรัฐบาลได้ ชายผู้นั้นไม่อาจหนีพ้นจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องมาเบรกบรรดาขาใหญ่ในพรรคร่วมให้ได้ แต่ไม่ใช่การเบรกเรื่องนโยบาย หากแต่ต้องประสานการทำงานให้ทุกอย่างเป็นผลงานของรัฐบาลร่วมกัน

เพราะหากปล่อยให้ต่างคนต่างทำแล้วกระทบชิ่งกันแบบนี้ มันจะเดินทางไปทางไหนกับผลงานของรัฐบาล

และในระยะยาวมันไม่ใช่ผลดีแน่ๆ

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ครม.เศรษฐกิจไฟเขียว 7 ทีเด็ดดึงต่างชาติหนีสงครามการค้ามาลงทุนในไทย