ลำดับสถานการณ์ภัยแล้ง ‘สุรินทร์’ น้ำดิบหมดอ่างกักเก็บ

ลำดับสถานการณ์ภัยแล้ง ‘สุรินทร์’ น้ำดิบหมดอ่างกักเก็บ


วิฤติภัยแล้ง!!! จับตาสถานการณ์ลำดับภัยแล้งในจังหวัดสุรินทร์ เหตุน้ำดิบหมดอ่างกักเก็บ ประชาชนต้องซื้อน้ำใช้

นับเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ ที่พื้นที่ จ.สุรินทร์ หนึ่งในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ได้รับผลกระทบที่นับวันจะยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน จนถึงปัจจุบัน ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ส่งผลมาอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นต่างๆ ในแฟนเพจการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ วันที่ 27 มิถุนายน แฟนเพจการประปาฯ ตั้งภาพปกหรือ cover เพจ ว่า

‘น้ำดิบมีเหลือน้อย ใช้สอยต้องประหยัด ‘ พร้อมข้อความประกาศครั้งแรกว่า ‘กปภ.สาขาสุรินทร์ขอชี้แจงปัญหาน้ำขุ่นเกิดจากปรับแรงดันน้ำเนื่องจากสภาวะภัยแล้ง ปริมาณน้ำดิบเหลือน้อยจึงจำเป็นต้องลดแรงดันน้ำลง ทำให้เกิดปัญหาน้ำขุ่นในบางพื้นที่ การประปาส่วนภูมิภาคต้องขออภัยในความไม่สะดวก’

9 ก.ค. มีการประกาศเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และขอให้ประชาชนเตรียมสำรองน้ำและทำการประหยัดน้ำ ซึ่ง 2 วันก่อนมีการประกาศนั้น ประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว และต้องมีการซื้อน้ำถัง เพื่อใช้ในบ้านเรือน

12 ก.ค. กปภ.สุรินทร์ ออกประกาศ ลดแรงดันน้ำในระบบประปา ส่งผลให้หลายส่วนของจังหวัด น้ำไม่ไหล นอกจากนี้ ยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและต่อท่อไปยังจุดที่มีน้ำของพื้นที่ๆ เป็นแอ่งในห้วยเสนงเพื่อสูบมาผลิตน้ำ เนื่องจากบริเวณหัวสูบน้ำแห้ง

15 ก.ค. กปภ.ฯประกาศหยุดจ่ายน้ำในเวลา 23.00 น. เป็นต้นไปและจ่ายน้ำอีกครั้งในเวลา 05.00น. วันถัดไป เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ

18 ก.ค. กปภ.สุรินทร์ ส่งรถน้ำให้บริการผู้ใช้น้ำในพื้นที่ๆประสบปัญหาน้ำไม่ไหล ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน และประสานขอความร่วมมือจากมลฑลทหารบกที่ 25 ชลประทานสุรินทร์และอบต.สลักได ซึ่งได้ร่วมสนับสนุนรถน้ำเพื่อบริการผู้ที่เดือดร้อน จากการลดแรงดันน้ำและส่งผลกระทบให้พื้นที่รอบนอกน้ำไม่ไหล

21 ก.ค. กปภ.สุรินทร์ ได้แจ้งข้อมูลต่อที่ประชุมแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แก่ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กรมชลประทาน พร้อมตัวแทนภาคประชาชน โดยมีข้อมูล ได้แก่

1.ปัจจุบันน้ำในอ่างฯ จะสามารถผลิตประปาได้ถึงปลายเดือนสิงหาคม (อ่างห้วยเสนงและอ่างเก็บน้ำอำปึล จุได้รวม 50ล้านลบ.ม. เหลืออยู่รวม1.5 ล้าน ลบ.ม) กปภ.สาขาสุรินทร์ใช้ประมาณ 1.0 ล้าน ลบ.ม/เดือน

2.กปภ.สาขาสุรินทร์ โดยปกติใช้น้ำดิบวันละ 33,000 ลบ.ม. ปัจจุบันจ่ายวันละ 28,000 ลบ.ม. มีลดปริมาณการจ่ายตามแผนฯ เพื่อยืดระยะเวลาให้มากที่สุด

3.ชลประทานจะผันน้ำจากบ่อน้ำเอกชน (บ่อหินเก่าของโรงโม่) ซึ่งไกลจากตัวเมืองประมาณ 20 กม. โดยมีบ่อ จ.น.หลายขนาด และหลายพื้นที่คาดว่าจะมีน้ำรวมกว่า10 ล้าน ลบ.ม.

โดยระยะแรกจะสูบผันจากบ่อที่ใกล้คลองธรรมชาติ (ประมาณ 3 บ่อ มีน้ำประมาณ 3-5 ล้านลบ.ม) ให้ลงคลองฯไปที่อ่างห้วยเสนง ระยะทางที่ใกล้สุดประมาณ 12 กม. ซึ่งในระยะทางผันน้ำดังกล่าว จะมีช่วงกลางทางประมาณ 3 กม.ที่ไม่มีคลองฯ ได้ให้ กปภ.ดำเนินการวางท่อช่วงนี้

4.ให้ กปภ.เร่งวางท่อดังกล่าวให้ทันก่อนน้ำในอ่างหมด (ประมาณสิ้นเดือนสิงหาคม)

5. ชลประทานจะจัดหาติดตั้งเครื่องสูบน้ำฯ แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยระหว่างที่ กปภ.จัดหาและวางท่อยังไม่แล้วเสร็จ จะให้ ปภ.นำรถสูบน้ำระยะไกลมาใช้ก่อน (ได้ 5,000 ลบ.ม/วัน คาดว่าจะหาได้ 2 คัน)

6.สำหรับแผนระยะยาว ชลประทานจะได้เสนอขอแผนขุดลอกทั้ง 2 อ่างเพื่อเพิ่มความจุให้ได้รวม 100 ล้าน ลบ.ม.ทั้งนี้ กปภ.ข.8 กำลังสำรวจพื้นที่แนวท่อและออกแบบฯ และสำรวจบริเวณจะเจาะบ่อบาดาลบริเวณโรงผลิตน้ำ จ.น. 3 บ่อ เพื่อขอจัดสรรเร่งด่วนต่อไป

26 ก.ค. มีการออกประกาศลดแรงดันน้ำพื้นที่จ่ายน้ำ อ.ลำดวน และ อ.จอมพระ

28 ก.ค. ออกประกาศหยุดจ่ายน้ำประปา ตั้งแต่ช่วงเวลา 13.27 น. และจะเปิดการจ่ายน้ำอีกครั้งเวลา 17.00 น.

3 ส.ค. กปภ.สุรินทร์ ใช้น้ำจากอ่างน้ำตา ในมหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ มาผลิตน้ำประปาและสูบน้ำจากแหล่งน้ำเหมืองหินเอกชน เพื่อมาผลิตน้ำประปาอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ในแฟนเพจ กปภ.ฯ ระบุว่า โดยคาดว่าจะเดินท่อสูบน้ำและสามารถใช้ผลิตน้ำประปาได้ประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็ยังมีพื้นที่ที่น้ำประปาไหลและบางพื้นที่น้ำไม่ไหลเลย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดรถส่งน้ำไปบริการยังบ้านเรือนผู้ที่ขาดแคลนน้ำใช้ ตามที่ได้รับแจ้งขอน้ำจากช่องทางต่างๆ

เวลา 14.03 น. มีการประกาศหยุดจ่ายน้ำอีกครั้ง

4 ส.ค. กปภ.สุรินทร์ แจ้งผ่านแฟนเพจ ระบุข้อความว่า

“มีความจำเป็นต้องหยุดจ่ายน้ำ เนื่องจาก คุณภาพน้ำดิบเปลี่ยน ปัจจุบันเราใช้น้ำจากแหล่งน้ำ 2 แหล่ง คือ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง 2.อ่างน้ำตา และอนาคตจะใช้น้ำที่ส่งมาจากบ่อหินเอกชน

แต่ในปัจจุบันน้ำจากห้วยเสนงมีค่าความขุ่นสูงมาก เนื่องจากน้ำเหลือก้นอ่าง เมื่อสูบมาผลิต เกิดมีตะกอนเจอปนสูงมาก ทำให้น้ำในกระบวนการผลิตมีความเสียหาย กปภ.สาขาสุรินทร์จึงต้องหยุดผลิตน้ำเพื่อปรับสารเคมีในคุณภาพน้ำ เพื่อไม่ให้ตะกอนแผ่ขยายไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ดี มีการแจ้งประกาศเพิ่มเติมในการจ่ายน้ำในเวลา 17.00 น.”

8 ส.ค. ประกาศจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ฉบับล่าสุด ได้แจ้งให้ประชาชนที่จะขอซื้อน้ำใช้ ทำการซื้อได้ 3 จุด ได้แก่

1.หน่วยบริการจอมพระ อ.จอมพระ

2.กปภ.สาขาศีขรภูมิ อ.ศีขรภูมิ

3.กปภ.สาขาสังขะ อ.สังขะ

 

รวมทั้งถ้ามีความต้องการขอใช้น้ำในปริมาณไม่มากนั้น ให้มารับน้ำได้ที่ กปภ.สาขาสุรินทร์ ในขณะน้ำที่มีการแจกจ่าย จากหน่วยงานที่ร่วมแก้ปัญหานั้น มีการระบุในประกาศว่า ต้องให้น้ำดังกล่าวกับโรงพยาบาลในพื้นที่ก่อน และขอรับได้ที่โรงกรองน้ำ กปภ.สาขาสุรินทร์

ล่าสุด ( 9 ส.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง มีมาตรการบริหารจัดการน้ำ

อาทิ แผนจัดหาและสำรองน้ำ มาตรการประหยัดน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการประชาชน หากกรณีน้ำสำรองไม่เพียงพอ ให้ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขอรับการสนับสนุน

สำหรับโรงพยาบาลสุรินทร์ อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โรงพยาบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข

กรณีภัยแล้งเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำประจำวัน ได้มีมาตรการรองรับภัยแล้งดังนี้

1.จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น เช่น ขุดเจาะน้ำบาดาล รวมทั้งขอรับการสนับสนุนน้ำจากหน่วยงานอื่น

2.ปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อลดการใช้น้ำ แต่ยังคงมาตรฐานทางการแพทย์ เช่น การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือแทนน้ำ ใช้อุปกรณ์ เสื้อผ่าตัด ผ้าคลุมผ่าตัด ถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

3.มาตรการประหยัดน้ำ เช่น ปิดห้องน้ำ ห้องสุขา ที่ไม่จำเป็น ประกาศขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการถึงมาตรการประหยัดน้ำของโรงพยาบาล

“ขอยืนยันว่าโรงพยาบาลสุรินทร์ ยังให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ไม่ต้องวิตกกังวล ข่าวที่ออกไปน่าจะเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ได้สั่งการให้รายงานสถานการณ์วันต่อวัน ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขตามแผนที่วางไว้ และส่วนกลางได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือตลอด ไม่กระทบกับผู้มารับการบริการแน่นอน” นายอนุทินกล่าว

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสุรินทร์มีความต้องการใช้น้ำ 800,000 – 1,000,000 ลิตรต่อวัน มีระบบสำรองน้ำ 1.4 ล้านลิตร ได้ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันละ 80,000 ลิตร ซึ่งยังสามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ภายใต้มาตรการประหยัดน้ำ

นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวthaiquoteเพิ่มเติมว่า การใช้น้ำนั้นจะใช้ในส่วนของห้องผ่าตัด การเตรียมยา รวมทั้งการฟอกไตของผู้ป่วยและด้วยความเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ในปัจจุบันรพ.สุรินทร์มีมาตรการประหยัดน้ำ 3 ระยะ ได้แก่

ระยะสั้น ขอการสนับสนุนรถขนน้ำเพื่อส่งมายังโรงพยาบาล ซึ่งสามารถนำน้ำมาใช้ได้ในจำนวนวันละ 8 หมื่นลิตรต่อวัน โดยความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบริการทางการแพทย์ต่างๆ นั้น ยังมีการบริการตามปกติ เพื่อไม่ให้กระทบกับคนไข้ และการรักษาพยาบาล เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพในการบริการ


‘เคสผ่าตัดทุกอย่าง รวมทั้งเคสผ่าตัดฉุกเฉิน ก็ยังทำการรักษาผ่าตัดตามขั้นตอนตามปกติ แม้จะมีกระแสข่าวสร้างความสับสนต่อประชาชนในเรื่องการงดการผ่าตัด ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงต่างอย่างใด ในทางปฏิบัติ วันที่ 6ส.ค.ถึงวันนี้ การผ่าตัดของเรา ยังทำการอย่างปกติ’
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้ในวันนี้มีปริมาณน้ำใช้ในโรงพยาบาลประมาณ 3 แสนลิตร ต่อวัน ผนวกกับแผนการประหยัดน้ำของโรงพยาบาลลดการใช้น้ำลง เหลือวันละ 5 แสนลิตรต่อวัน ทำให้สถานการณ์กลับมาใกล้เคียงกับภาวะปกติ

ในส่วนของระยะกลางนั้น โรงพยาบาลสุรินทร์ ทำการขุดบ่อบาดาล โดยการสนับสนุนจากภาคเอกชน ในเบื้องต้นนั้น ทำการขุดบ่อน้ำบาลสำเร็จแล้ว 2 บ่อด้วยกัน ซึ่งเป้าหมายของแผนระยะกลางนั้นจะต้องขุดบ่อน้ำบาดาลทั้งสิ้นจำนวน 8 บ่อ

สำหรับการซักล้างเครื่องใช้อย่างผ้าปูเตียง หรือชุดคนไข้ จะใช้ในส่วนของน้ำบาดาล ขณะที่น้ำประปาจะใช้เฉพาะการบริการทางการแพทย์

ขณะที่แผนระยะยาว ทางโรงพยาบาลได้หารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์และการประปาจังหวัด เร่งดำเนินการส่งน้ำให้กับทางโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก

ขณะเดียวกันในสังคมโซเชียล อย่าง ทวิตเตอร์ มีการส่งข้อมูลสู่โลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องตลอด เช่น ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ @StkFifty โพสต์ภาพและข้อความว่า

‘เมืองสุรินทร์ ร้านกาแฟหลายร้านงดเมนูปั่น เพราะไม่มีน้ำพอจะล้างเครื่องปั่น ร้านอาหารหลายร้านปิด เพราะไม่คุ้มกับการต้องซื้อน้ำเข้าร้าน’

ด้านบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @maisapoievenger โพสต์ว่า

‘เราก็อยู่สุรินทร์ค่ะ แต่อยู่นอกตัวเมืองเลยพอมีหนองน้ำใช้บ้าง น้าที่อยู่ในเมืองคือต้องเอาเสื้อผ้ามาซักในหมู่บ้านแทนเลยค่ะ วิกฤตจริงๆ’

รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในแฟนเพจ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ มีการระบุข้อความถึงความเดือดร้อนในการไม่มีน้ำใช้จำนวนมาก อีกทั้งยังมีการโพสต์รูปผ่านน้ำ ที่ถูกส่งผ่านระบบประปา มีสีเหลืองขุ่น จนประชาชนไม่สามารถใช้ได้ รวมทั้งปัญหาการที่ประชาชนต้องซื้อน้ำใช้

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ภัยแล้งกระทบโรงพยาบาล “หมอหนู” สั่งรับมือด่วน