ดึง “กลาโหม” มาอยู่ใกล้ เกราะกำบัง-เสริมพลัง “ประยุทธ์”

ดึง “กลาโหม” มาอยู่ใกล้ เกราะกำบัง-เสริมพลัง “ประยุทธ์”


ในที่สุด ประเทศไทยก็ได้เห็นโฉมหน้าของทั้ง 35 บุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ “รัฐมนตรี” ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่เข้ามากุมบังเหียนบังคับทิศทางในการบริหารประเทศต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า

กองบรรณาธิการ ThaiQuote

รายชื่อที่ปรากฏออกมาจะมีผิดโผไปบ้างก็คงเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย เพราะตำแหน่งเดิมที่คาดกันไว้สำหรับ “ผู้กองตุ๋ย” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐ น่าจะได้เข้าไปนั่งในกระทรวงแรงงาน แต่เมื่อรายชื่อที่ชัดเจนระบุออกมาว่า ร.อ.ธรรมนัสได้ไปคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แทนในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ

แต่ที่น่าสนใจอย่างมากคือยังมีชื่อของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม แต่ก็ถูกลดทอนตำแหน่งลงมาเพราะจากนี้ไปจะไม่ได้คุม “ทหาร” ในตำแหน่งรมว.กลาโหมอีกแล้ว เพราะตำแหน่งนี้ถูกพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาควบทำงานแทน 

ปมนี้สะท้อนได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ต้องการเอาทหารมาไว้ใกล้ตัวมากที่สุด ยิ่งในสถานการณ์ที่ตัวเองต้องคุมรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำ และการเข้ามาบริหารอย่างใกล้ชิดกับกองทัพทั้ง 3 ก็น่าจะทำให้พออุ่นใจได้บ้างในการบริหารประเทศนับจากนี้ที่จะต้องเจอครบทุกรูปแบบของการเมืองในระบอบรัฐสภา

แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การดึงเอาเก้าอี้ “กลาโหม” มาไว้กับตัวเอง เสมือนหนึ่งว่าเป็นการขัดแย้งอย่างเล็กๆ กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตรด้วยหรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในรัฐบาลของท็อปบู็ตตลอดห้วงเวลากว่า 5 ปีที่คสช.มีอำนาจ พล.อ.ประวิตร ก็ได้ทำงานอย่าเต็มที่และมีอำนาจเต็มในเก้าอี้รมว.กลาโหมตัวนี้มาอย่างช้านาน การดึงกลับมาอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์ สังคมและคอการเมืองจึงไม่อาจมองข้ามประเด็นความขัดแย้งไปได้

กระนั้นก็ตาม ก็ใช่ว่าจะเรื่องใหญ่อะไรมากนัก เพราะสายสัมพันธ์ระหว่าง 2.ป. ทั้ง “ประยุทธ์” และ “ประวิตร” ก็ยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิม เห็นได้จากการยังเห็นความสำคัญด้วยการจัดสรรเก้าอี้รองนายกฯ ให้บิ๊กป้อมได้ทำงานต่อไป แม้จะเข้าสู่วัยชราไปแล้วก็ตาม และแน่นอนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงเห็นประโยชน์ที่จะได้จาก พล.อ.ประวิตรอยู่บ้างในการบริหารประเทศต่อไปภายใต้รัฐบาลชุดใหม่

อีกทั้ง การที่ บิ๊กตู่ดึงเอากระทรวงกลาโหมมาควบคุมเอง ก็ยังจะทำให้ภาพของการ “ทรงพลัง” มีมากขึ้นด้วย เพราะเป็นถึงนายกฯ และยังมีกองทัพเป็นแบ็คอัพคอยหนุนหลัง มันจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับตัวเองในการเผชิญกับสมรภูมิการเมืองข้างหน้า เพราะต้องไม่ลืมว่าจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ เหมือนดั่งเช่นที่เคยมีในยุคคสช.แล้ว การกำราบเสียงความเห็นต่างในระบอบรัฐสภา ด้วยภาพของกลาโหม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเสริมพลังให้พล.อ.ประยุทธ์ ดูแข็งแกร่งขึ้น แต่กระนั้นก็ต้องแลกกับการลดทอนความแข็งแกร่งของพี่ใหญ่อย่างพล.อ.ประวิตรไปด้วย

แต่นัยนี้ก็สะท้อนได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็น “ของจริง” อยู่เหมือนกันในการเคลียร์ทุกคนให้ “ลงตัว” มากที่สุดสำหรับเก้าอี้ในกระทรวงแห่งหนต่างๆ ทั้งของพรรคพลังประชารัฐ ที่ภายในเองก็มีกลุ่มก้อน มีก๊กมีก๊วนที่แย่งเก้าอี้กันสนั่นก่อนจะส่งรายชื่อครม.ชุดใหม่ครั้งสุดท้าย หรือเหล่าบรรดาพรรคร่วมต่างๆ ที่เสนอเสียงส.ส.ของตัวเองเพื่อร่วมส่งให้พลังประชารัฐ ได้เป็นรัฐบาล และแน่นอนว่าพวกเขาก็ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน

อย่างเช่นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่าง 4 บิ๊กของพรรคที่ร่วมก่อตั้งกันมา กับผู้มากประสบการณ์ทางการเมืองที่เข้ามาร่วมก๊วนได้อย่าง “กลุ่มสามมิตร” จนถึงจะแตกหักกันด้วยการยื่นเรื่องถอดถอนสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคฯ เพราะสร้างความขุ่นเคืองในตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับกลุ่มสามมิตร

โดยเฉพาะกับ กระทรวงพลังงาน ที่ถือเป็นของเกรดเอที่ “สามมิตร” เองก็ต้องการจะเข้าไปทำงาน แต่สนธิรัตน์เองก็หมายปองเช่นกัน

แต่ท้ายสุดก็ดั่งที่ปรากฏรายชื่อว่า สนธิรัตน์ คือคนที่ผงาดขึ้นมาได้เก้าอี้้กระทรวงพลังงานไปครอง และเท่ากับว่าเป็นการสยบทุกอย่างของความขัดแย้งจากฝีมือในการบริหารทีมภายในของพล.อ.ประยุทธ์ และการทำให้กลุ่มสามมิตรยอมสยบในครั้งนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า “บิ๊กตู่” ยังคงเต็มไปด้วยความมากบารมีในอำนาจ เพราะเขาเป็นเพียงคนเดียวที่จะจัดสรรให้ใครก็ตามลงไปทำงานในกระทรวงต่างๆ ด้วยอำนาจเต็ม

จะมีก็เพียง “ทีมเศรษฐกิจ” ในครม.ชุดใหม่ที่ดูน่าจะลงตัวและก็ไม่ได้เสียหายอะไรจากบุคคลที่เข้ามาทำงาน ทั้งชื่อของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ยังคงเป็นรองนายกฯ และคุมงานเศรษฐกิจเหมือนเดิม ขณะเดียวกันก็ยังได้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่มาเป็นรองนายกฯ และคุม “พาณิชย์” ซึ่งก็เป็นคนที่เก่งและมากประสบการณ์เช่นกัน รวมถึงแกนหลักของพลังประชารัฐอย่าง “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ที่คุมกระทรวงใหม่ถอดด้าม แต่ก็เชี่ยวชาญอยู่แล้วอย่าง “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” เพราะก็คือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดิมที่ตัวเองเคยคุมอยู่ และดันจนสามารถนำ “อุดมศึกษา” มาควบรวมได้ ก็น่าจะเห็นทิศทางการวิจัยจากกระทรวงป้ายแดงแห่งนี้ในการพัฒนาประเทศ

แต่ก็จะมีของหนักอย่าง “กระทรวงการคลัง” ที่ไปอยู่ในมือของ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพลังประชารัฐ ที่เคยเป็นแม่ทัพในกระทรวงอุตสาหกรรมมาก่อน กับการกระโดดมาคุมกระทรวงที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ก็ต้องวัดฝีมือกันว่าจะผลักดันให้เป็นประโยชน์กันได้มากแค่ไหน กระนั้นก็ตามสำหรับอุตตม ก็ไม่น่าห่วง เพราะมีพี่เลี้ยงชั้นยอดอย่าง “สมคิด” คอยให้คำปรึกษาอยู่

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ด่วน! โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา