กฎหมายไทยยังช้า ส่อทำขยะอิเล็กทรอนิกส์หมดยากจากแผ่นดิน

กฎหมายไทยยังช้า ส่อทำขยะอิเล็กทรอนิกส์หมดยากจากแผ่นดิน


ส่องสถานการณ์ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เมืองไทย หมดยากจริง หรือเพราะผลประโยชน์อันใด

“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” รวมไปถึง “ขยะเศษพลาสติก” ที่กำลังเป็นเรื่องถกกันนานขึ้นและนานมากขึ้นเรื่อยๆ จากระยะหลังที่โลกมันรุดล้ำและก้าวสู่การพัฒนาอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่กำลังเร่งพัฒนาในทุกๆ ด้าน ซึ่งการพัฒนาที่ว่ามันก็มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้น และเมื่ออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ หมดอายุการใช้งาน หรือไม่ใช้งานแล้ว สิ่งเหล่านี้เองที่มันแปรเปลี่ยนมาเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการที่ไม่มีมาตรฐาน จนทำให้เกิดสารพิษตกค้าง ยังไม่นับรวมชาติมหาอำนาจหลายประเทศที่ขาย “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน เพื่อนัยยะคือให้ไป “รีไซเคิล” แต่อีกมุมมองก็สะท้อนภาพได้ว่า พวกเขาจ่ายเงินเพื่อใช้พื้นที่ของบางประเทศเป็นแหล่งทิ้งขยะ

หลายประเทศเห็นปัญหานี้เช่นกัน จึงออกมาตรการสั่งห้ามนำเข้ามาเด็ดขาดเพราะมันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความวุ่นวายในการจัดการเพื่อกำจัดทิ้งอีกด้วย อย่างเช่น จีนที่สั่งห้ามไป และไทยก็กำลังเดินรอยตามเช่นกัน

เพราะล่าสุดกับมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ที่เห็นชอบให้มีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วเข้ามาในประเทศ โดยได้อนุมัติร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะทำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. …. เพื่อกำหนดนิยามและข้อห้ามไม่ให้โรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของโรงงาน พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการออกประกาศห้ามนำเข้าซึ่งสินค้าอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วที่จะนำมาถอดแยก เพื่อนำโลหะกลับมาใช้

และจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเรามันก็เพิ่งมาลดลงในปี 2560- 2562 นี้เอง เพราะตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์แลายแสนตันลดลงเหลือเพียง 7 หมื่นตันเท่านั้น และก่อนหน้านั้นย้อนหลังกลับไปราว 4 ปีเศษเมื่อปี 2559 ก็มีการนำเข้ามาอย่างเต็มที่เลยทีเดียว

หากจำแนกตัวเลขให้ชัดเจนจากกรมศุลกากร จับกุมคดีลักลอบและหลีกเลี่ยงนำเข้าเศษพลาสติก หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ในช่วงปี 2561-2562 ก็รวบมาได้ทั้งสิ้น 103 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 17.5 ล้านบาท น้ำหนักรวม 4,043 ตัน โดยในปีงบประมาณ 2561 จับกุมได้ถึง 86 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 14.5 ล้านบาท น้ำหนักรวม 3,664 ตัน และในปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – พฤษภาคม 2562) สามารถจับกุมได้แล้วถึง 17 คดี คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3 ล้านบาท น้ำหนักรวม 379 ตัน

แม้จะดูลดน้อยลงแต่มันไม่ได้หมายความว่าขยะเหล่านี้จะ “หมดไป” เพราะตราบใดที่ยังมีการใช้ประโยชน์ และยิ่งรัฐบาลออกกฎระเบียบล่าช้า ประเทศไทยก็ยังเป็น”เป้าหมาย” ขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก