ศุลกากร จ่อคุมเข้ม นำเข้าสินค้าออนไลน์ ลดเลี่ยงภาษี

ศุลกากร จ่อคุมเข้ม นำเข้าสินค้าออนไลน์ ลดเลี่ยงภาษี


กรมศุลกากร มั่นใจจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายในปี 62 หลังยอดรายได้ 7 เดือนแรกสูงกว่าเป้าหมาย องค์การศุลกากรโลก เตรียมปรับเกณฑ์ร่วมกันคุมเข้มนำเข้า-ส่งออกสินค้าออนไลน์ ไทยพร้อมศึกษาจัดเก็บภาษีต้นทาง สอดคล้องกับต่างประเทศ ลดการหลีกเลี่ยงภาษี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 62 (1 ตุลาคม 2561 – 21 พฤษภาคม 2562) ยอดรวม 385,070 ล้านบาท ในช่วง 7 เดือนแรก แบ่งเป็นรายได้จัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น จำนวน 315,394 ล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 82 ของรายได้ที่จัดเก็บรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17,772 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.0 ในส่วนของรายได้ศุลกากรจัดเก็บเอง 69,676 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,355 ล้านบาท (ประมาณการ 63,321 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 10.0 สูงกว่าคาดการณ์ 1,536 ล้านบาท (คาดการณ์ 68,140 ล้านบาท) เนื่องจากอากรจากสินค้าประเภทยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามยุทธศาสตร์ขององค์การศุลกากรโลก ยังคงมุ่งเน้น อำนวยความสะดวกทางการค้า การป้องปราม ปกป้องสังคม เพื่อนความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO TFA) มาใช้ปฏิบัติ ขณะนี้องค์การศุลกากรโลกกำลังแก้ไขปรับปรุงอนุสัญญาว่าด้วยการทำพิธีการศุลกากรให้เป็นรูปแบบเดียวกัน สอดคล้องกับธุรกรรมการค้าออนไลน์ที่เติบมากทุกประเทศทั่วโลก ภายใน 1 ปี ข้างหน้าจะออกข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ เพราะให้ความสำคัญกับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ทั้งการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายในรูปแบบใหม่ การปราบปรามยาเสพติด การนำเข้าของเสีย สารพิษที่เป็นอันตราย สัตว์ป่า พืชที่หายาก รวมถึงการนำเข้าสินค้า e-commerce เพราะขณะนี้ไทยมีการเติบโตสินค้าออนไลน์จาก 5-6 ล้านชิ้น เพิ่มเติม 10 ล้านชิ้นต่อเดือน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กรมศุลกากรของไทย จึงต้องเน้นดูแลสินค้าผ่านเข้าออก ตามการเติบโตของนำเข้าสินค้า e-commerce เพราะมีทั้งการหิ้วทางผ่านสนามบิน โดยสินค้าไม่เกิน 1,500 บาทต่อรายการ จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมูลค่า 1,500-40,000 บาท ต้องสำแดงสินค้าเสียภาษี และหากราคาเกิน 40,000 บาทต้องจัดทำใบขนเพื่อเสียภาษี โดยส่งข้อมูลสินค้ามาให้ศุลกากรได้ทำการตรวจสอบล่วงหน้าก่อนสินค้าเดินทางมาถึงด่านศุลกากร เพื่อชำระภาษีผ่าน E-Payment เพียงนำเอกสารอนุญาตินำเข้าสินค้าชำระภาษีได้หลายช่องทางโดยไม่ต้องเจอกับเจ้าหน้าที่ ทั้งชำระผ่าน ATM แอ็พมือถือ

นอกจากนี้ยังต้องศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีต้นทาง หรือตัวกลางจากผู้ให้บริการนำเข้าสินค้า เช่น เฟสบุ๊ค อาลีบาบา อเมซอน หรือแพลทฟอร์มโซเชียลผู้ให้บริการสินค้า แต่ขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัตริของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน แม้หลายประเทศจัดเก็บภาษีต้นทางไปแล้ว จากปัจจุบันไทยจัดเก็บภาษีปลายทางกับผู้สั่งเข้าสินค้า ณ ไปรษณีย์หลักสี่ ในส่วนเจ้าหน้าที่กรมศุล จึงต้องปรับรูปแบบการทำงาน เพื่อตรวจสอบการนำเข้าสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ไม่ให้กระทบต่อการอำนวยความสะดวกกับผู้โดยสาร แม้จะเดินลากกระเป๋าอยู่ในสนามบิน ยังสามารถขอตรวจค้นสินค้าได้

-สำนักข่าวไทย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.สถาบันครอบครัว ระบุเหตุความรุนแรงยอมความไม่ได้!